สุญญากาศ 100 วัน ประเทศตั้งนายกฯไม่ได้

สุญญากาศ 100 วัน ประเทศตั้งนายกฯไม่ได้

นักการเมืองที่กำลังเจรจาจัดตั้งรัฐบาลในขณะนี้คงมองไม่เห็นความสำคัญของผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินดังกล่าว รวมถึงผลกระทบต่อภาคธุรกิจ และคงสนใจเฉพาะผลประโยชน์ส่วนตนจึงน่าสงสารประเทศไทยที่ตกอยู่ในภาวะเช่นนี้

การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 14 พ.ค.2566 สร้างความตื่นตัวของผู้ที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงภายหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รับหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศต่อเนื่องเกือบ 9 ปี นับตั้งแต่เดือน ส.ค.2557 และทันทีที่ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการออกมาสร้างความแปลกใจเมื่อพรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้งได้จำนวน สส.มาเป็นอันดับ 1 ที่จำนวน 151 คน และเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคการเมือง 8 พรรค ซึ่งรวมถึงพรรคเพื่อไทยที่ได้อันดับ 2

ในขณะที่การลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีของรัฐสภาไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะระหว่างทางมีปัญหาอุปสรรคมากมาย เริ่มตั้งแต่รัฐสภาไม่เห็นชอบให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี และเมื่อรัฐสภาเข้าสู่การลงคะแนนรอบที่ 2 ยังมีมติไม่ให้มีการเสนอชื่อพิธา เป็นอีกครั้ง ซึ่งนำมาสู่การร้องศาลรัฐธรรมนูญ และนำมาสู่การเลื่อนโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 3 ออกไป จนทำให้หลายฝ่ายเริ่มมีความกังวลกับความล่าช้าในการเลือกนายกรัฐมนตรี

ปฏิเสธไม่ได้ว่าถึงแม้จะผ่านการเลือกตั้งมากว่า 3 เดือน แล้ว แต่ในช่วง 100 วันที่ผ่านมา เป็นช่วงสูญเปล่าที่มีต้นเหตุจากเกมการเมือง ทั้งจาก สว.ที่มีสิทธิลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรี แต่ใช้สิทธิงดออกเสียง รวมถึงความอ่อนพรรษาของพรรคก้าวไกลในการเจรจาจัดตั้งรัฐบาล และความเขี้ยวลากดินของนักการเมืองที่ต้องการเข้ามามีส่วนรวมในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งส่งผลให้เจรจาเพื่อแบ่งปันผลประโยชน์มีความยืดเยื้อและซับซ้อน จนถึงเวลานี้ไม่มีใครกล้ายืนยัน 100% ว่านายกรัฐมนตรีคนที่ 30 จะเป็นใคร

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกระทบอย่างหนักต่อการบริหารราชการแผ่นดิน โดยเฉพาะการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 การแต่งตั้งข้าราชการระดับปลัดกระทรวงหรืออธิบดี การแต่งตั้งผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ การโรดโชว์ด้านการลงทุน การค้าและการท่องเที่ยว รวมถึงการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ กลายมาเป็นดุลพินิจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งทำหน้าที่นี้มาเกือบ 5 เดือน นับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 23 มี.ค.2566

ไม่แปลกใจที่ภาคเอกชนออกมากระทุ้งให้นักการเมืองยอมถอยคนละก้าวเพื่อจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ และขณะนี้นักธุรกิจต่างประเทศรายใหม่ที่เคยมีแผนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยต่างชะลอการตัดสินใจการลงทุน ซึ่งนักการเมืองที่กำลังเจรจาจัดตั้งรัฐบาลในขณะนี้คงมองไม่เห็นความสำคัญของผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินดังกล่าว รวมถึงผลกระทบต่อภาคธุรกิจ และคงสนใจเฉพาะผลประโยชน์ส่วนตนจึงน่าสงสารประเทศไทยที่ตกอยู่ในภาวะเช่นนี้