“ทักษิณ”กลับบ้าน โจทย์ใหญ่  “2 กระทรวง-ตร.”ต้องเบ็ดเสร็จ

“ทักษิณ”กลับบ้าน โจทย์ใหญ่  “2 กระทรวง-ตร.”ต้องเบ็ดเสร็จ

“ทักษิณ” ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยมาอันดับหนึ่ง หลังชีวิตผ่านการถูกปองร้าย 4 ครั้ง อย่างน้อยต้องมั่นใจว่า คนที่มา กำกับดูแล กระทรวง-หน่วยงานสำคัญ ต้องไว้ใจได้ เพราะ ด้านนอก-ในคุก มีศัตรูที่มองไม่เห็น

แม้ปัจจุบันกระแสต่อต้าน “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ จะเบาบางลงไปมาก หากเทียบกับอดีต แต่ต้องยอมรับว่า ในช่วงที่อำนาจเฟื่องฟู ระหว่างปี 2544-2549 ได้สร้างศัตรูไว้ไม่น้อย ทั้งนักธุรกิจ กลุ่มทุน นักการเมือง ข้าราชการ ที่ได้รับผลกระทบ เสียประโยชน์จากการปรับย้ายข้าราชการ นโยบายประชานิยม โครงการต่างๆ ของพรรคไทยรักไทย

ทั้งการตัดตอนยาเสพติด การปราบปรามผู้มีอิทธิพล โครงการจำหน่ายสลากเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว (หวยบนดิน) โครงการแท็กซี่เอื้ออาทร บ้านเอื้ออาทร โดยเฉพาะนโยบายแก้ไฟใต้ ที่นำไปสู่การบาดเจ็บสูญเสียเป็นจำนวนมาก

รวมถึงแกนนำกลุ่มมวลชน ในนามแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) หรือ คนเสื้อแดง ที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อ “ทักษิณ” หลังถูกรัฐประหาร แตกกระซ่านกระเซ็น บางกลุ่มลี้ภัย บางส่วนเสียชีวิต บางส่วนสูญหาย ระหว่างหลบหนีออกนอกประเทศ ที่ยังอยู่ก็เดินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ถูกพิพากษาจำคุกกันถ้วนหน้า

ต่อเนื่องมาถึงยุครัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ภายใต้รัฐบาลเพื่อไทย เดินตามรอยรัฐบาลทักษิณมาติดๆ ด้วยการเข็นนโยบายประชานิยม รถยนต์คันแรก ค่าแรงขั้นต่ำ 350 ปริญญาตรี 15,000 โครงการรับจำนำข้าว นำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชั่นก่อเกิดวิกฤติการเมือง

และความหวังเพียงหนึ่งเดียวของคนเสื้อแดงได้ออกจากคุก-กลับประเทศ คือ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่ต้องมาติดแหง็กกับ “ทักษิณ” นอกจากจะพังไม่เป็นท่าแล้ว ยังกลายเป็นจุดล่มสลายของรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” ที่สร้างความเจ็บปวดให้มวลชนไม่น้อย

ที่จำได้ติดตาภาพคนใกล้ชิดตระกูลชินวัตร “บุญทรง เตริยาภิรมย์” อดีต รมว.พาณิชย์ และ “ภูมิ สาระผล” อดีตรมช.พาณิชย์ เดินเข้าสู่เส้นทางวันพิพากษาคดีทุจริตจำนำข้าว ด้วยความเชื่อที่ว่า “นายกฯยิ่งลักษณ์” จะตามมาสมทบ กว่าจะรู้ว่าโดนหลอก เพราะยิ่งลักษณ์หลบหนีออกนอกประเทศก็สายเสียแล้ว

 “กรณีคดีจำนำข้าวนั้น ความอำมหิตของฝ่ายเดียวกัน โดยสั่งให้ นายบุญทรง นายภูมิ ไปฟังคำตัดสินของศาล ทั้งที่สองคนนี้เตรียมหลบภัยไปอยู่เขมร และบางคนซื้อบ้านที่อังกฤษไว้แล้ว ซึ่งพฤติกรรมอำมหิตจากฝ่ายเดียวกัน ได้หลอกให้ไปถูกจับขังคุก” จตุพร พรหมพันธุ์ อดีตแกนนำคนเสื้อแดง กล่าวในเฟซบุ๊กไลฟ์ เมื่อต้นปี 2566

เรื่องความปลอดภัยคือประเด็นใหญ่ที่ “ทักษิณ” ให้ความสำคัญอันดับหนึ่ง หลังชีวิตผ่านการถูกปองร้ายมาหลายครั้ง เมื่อ 2544 การวางระเบิดเครื่องบินโบอิง เพียง 1 เดือนหลังเป็นนายกฯ กำลังจะเดินทางไปเชียงใหม่ ก่อนเวลาออกเดินทางเพียงเล็กน้อย ทำให้เครื่องบินถูกไฟไหม้เสียหายทั้งลำ มีผู้เสียชีวิต 1 ราย

ครั้งที่ 2 มีการปล่อยข่าวกลุ่มหว้าแดงตั้งค่าหัว ทักษิณ 80 ล้านบาท ปี 2546 เพราะไม่พอใจนโยบายปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาลไทยรักไทย จนต้องปรับทีมชุดรักษาความปลอดภัยและเปลี่ยนรถประจำตำแหน่งใหม่ทั้งหมด

ครั้งที่3 ปี 2549 ลอบสังหารด้วยคาร์บอม ต่อมากลายเป็นเรื่องวิวาทะคาร์บ๊อง โดยฝ่ายรัฐบาลทักษิณ เชื่อว่า เป็นการมุ่งลอบสังหาร โดยคนร้ายถูกดำเนินคดีในความผิดร่วมกันเคลื่อนย้ายและมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนข้อหาพยายามฆ่าได้ยกฟ้อง

ครั้งที่ 4 ในยุครัฐบาลสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกฯ และเป็นการกลับประเทศไทยครั้งแรกของ “ทักษิณ” หลังถูกรัฐประหาร จากนั้นได้ขออนุญาตศาลเดินทางไปต่างประเทศอีกครั้ง และไม่ได้กลับมา เนื่องจากมีข้อมูลการข่าวว่า มีคนบางกลุ่มเตรียมแผนลอบสังหารโดยใช้สไนเปอร์ หรือ พลแม่นปืน

ดังนั้นการประกาศเลื่อนกลับบ้านของ “ทักษิณ” จากวันที่ 10 ส.ค. ออกไป ไม่เพียงแต่รอให้พรรคเพื่อไทย จัดตั้งรัฐบาล โหวตชื่อนายกฯ ฝ่าด่าน สส.-สว.ได้แล้ว ยังต้องรอให้มีการโปรดเกล้าฯ นายกฯ และ ครม.ชุดใหม่เสียก่อน

อย่างน้อยก็ต้องรู้ว่า ใครจะมาคุม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หน่วยงานเกี่ยวข้องกับการเดินทางกลับประเทศ ตั้งแต่ประตูด่านแรกสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง(ตม.)การวางแผน กำหนดเส้นทางไปยังสถานที่ต่างๆเพื่อไปดำเนินการขั้นตอนตามกระบวนการ

ต่อเนื่องไปถึง เก้าอี้ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย ซึ่งจะเป็นขั้นตอนนำตัว “ทักษิณ”ไปคุมขังตามคำพิพากษาของศาลในคดีถึงที่สุดแล้ว ที่ต้องไปอยู่ในความดูแลกรมราชทัณฑ์ การจัดชั้นนักโทษ เกณฑ์ลดโทษ หรือแม้แต่การถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ “ทักษิณ” ต้องประเมินให้รอบด้าน ว่าบุคคลนั่งกำกับดูแล กระทรวง หน่วยงานสำคัญเหล่านี้ ต้องเป็นคนที่ไว้ใจได้ เพราะเป็นหลักประกันเรื่องความปลอดภัย เนื่องจากทั้งด้านนอกและภายในคุก มีศัตรูที่มองไม่เห็น