ป.ป.ช.ฟันอดีตนายก อบจ.มหาสารคาม ซื้ออุปกรณ์ช่วงโควิด-19 แพงกว่าปกติ

ป.ป.ช.ฟันอดีตนายก อบจ.มหาสารคาม ซื้ออุปกรณ์ช่วงโควิด-19 แพงกว่าปกติ

ป.ป.ช.ชี้มูล ‘คมคาย อุดรพิมพ์’ เมื่อครั้งนั่งเก้าอี้นายก อบจ.มหาสารคาม ปมจัดซื้ออุปกรณ์ เวชภัณฑ์ที่มิใช่ยา ตามโครงการควบคุมโควิด-19 โดยมิชอบ ซื้อแพงกว่าปกติ

เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2566 นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงข่าวถึงกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดนายกองโท ดร. คมคาย อุดรพิมพ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม พร้อมพวก กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีจัดซื้ออุปกรณ์ ยาและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยา ตามโครงการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (Covid – 19) โดยมิชอบ

นายนิวัติไชย กล่าวว่า สืบเนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติมอบหมายคณะไต่สวนเบื้องต้นเพื่อดำเนินการไต่สวนเบื้องต้น กรณีกล่าวหานายกองโท ดร. คมคาย อุดรพิมพ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม พร้อมพวก ว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีจัดซื้ออุปกรณ์ ยาและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยา ตามโครงการป้องกัน  และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (Covid – 19) โดยมิชอบ 

ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนปรากฏว่า เมื่อเดือนเมษายน 2563 นายกองโท ดร. คมคาย อุดรพิมพ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม ได้ดำเนินการจัดซื้ออุปกรณ์ ยาและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยา ไปก่อน หลังจากนั้นจึงจัดประชุมคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนขององค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบโครงการและงบประมาณ และสั่งการให้นางสาวสุกัญญา ศิริวิชัย เจ้าพนักงานพัสดุชำนาญงาน ปฏิบัติหน้าที่เจ้าหน้าที่พัสดุ จัดทำเอกสารรายงานขอซื้อวัสดุอุปกรณ์ คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการซื้อหรือจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจง และคณะกรรมการ ตรวจรับพัสดุ เสนอผ่านนางเพ็ญศรี แสงดารา รองปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุ และนายแสวง สำราญดี ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม ไปยังนายกองโท ดร. คมคาย อุดรพิมพ์ เพื่อลงนามอนุมัติ โดยให้ยึดถือปริมาณ จำนวน และราคากลาง ตามเอกสารลายมือเขียนของนายกองโท ดร. คมคาย อุดรพิมพ์ 

นายนิวัติไชย กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีนายคุณาวุฒิ ไชยคำภา รองปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม และนายบุญเลิศ สุ่มมาตย์ คนใกล้ชิด คอยติดตามเร่งรัดงานโครงการดังกล่าว อีกทั้งนายบุญเลิศ สุ่มมาตย์ ยังเป็นผู้ติดต่อตกลงราคาไว้กับ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศรีบุรินทร์การเกษตร โดยนายสมศักดิ์ ศรีบุรินทร์ นางสาวศิริภรณ์ ศรีบุรินทร์ นางสาวเสาวลักษณ์ ศรีบุรินทร์ และนางสาวยุภาภรณ์ ทิพเจริญ บริษัท สยามอินเตอร์กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด โดยนางสาวสายฝน ทองแถม และร้านมาร์จิ้น เทรดดิ้ง โดยนางบุญมนี ธนกิจชัยชนะ ซึ่งเป็นผู้ขาย มาตั้งแต่ต้น และยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า นางสาววัชราภรณ์ บุญญะภูมมะ ซึ่งเป็นคนใกล้ชิดนายกองโท ดร. คมคาย อุดรพิมพ์ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสั่งซื้อวัสดุดังกล่าวด้วย 

นอกจากนี้ ยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายกองโท ดร. คมคาย อุดรพิมพ์ ได้ทำสัญญาซื้อขายวัสดุอุปกรณ์ จำนวน 3 ฉบับ วงเงินรวม 7,360,000 บาท โดยสัญญาฉบับที่ 1 จัดซื้อวัสดุ จำนวน 6 รายการ จากห้างหุ้นส่วนจำกัด ศรีบุรินทร์การเกษตร โดยมีอุปกรณ์ 3 รายการที่มีราคาสูงกว่าปกติ ได้แก่ หน้ากากอนามัยชนิดผ้า 2 ชั้น ตามสัญญาจัดซื้อจำนวน 120,000 ชิ้น ๆ ละ 15 บาท ช่วงเกิดเหตุมีราคาโหลละ 49 บาท คิดเป็นชิ้นละ 4.08 บาท ชุดสวมป้องกันฝุ่นและของเหลว ตามสัญญาจัดซื้อ 3,600 ชุด ๆ ละ 310 บาท ช่วงเกิดเหตุมีราคาชุดละ 140 บาท และสเปรย์แอลกอฮอล์ 75% ตามสัญญาจัดซื้อ จำนวน 10,000 ขวด ๆ ละ 120 บาท ช่วงเกิดเหตุมีราคาขวดละ 118 บาท  จึงเป็นการจัดซื้อที่มีราคาแพงกว่าปกติ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,942,400 บาท ฉบับที่ 2 จัดซื้อวัสดุ จำนวน 1 รายการ จากบริษัท สยามอินเตอร์กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด คือ น้ำยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียและไวรัสโควิด - 19 จำนวน 400 แกลลอน ๆ ละ 3,040 บาท ช่วงเกิดเหตุมีราคาแกลลอนละ 2,625 บาท จึงเป็นการจัดซื้อที่มีราคาแพงกว่าปกติ จำนวน 1,050,000 บาท ฉบับที่ 3 จัดซื้อวัสดุ จำนวน 1 รายการ จากร้านมาร์จิ้น เทรดดิ้ง คือ เครื่องวัดอุณหภูมิอินฟราเรด จำนวน 350 เครื่อง ๆ 3,900 บาท ช่วงเกิดเหตุ มีราคาเครื่องละ 1,350 บาท จึงเป็นการจัดซื้อที่มีราคาแพงกว่าปกติ จำนวน 892,500 บาท รวม 3 สัญญา เป็นเงินทั้งสิ้น 3,884,900 บาท 

ในการเบิกจ่ายเงินค่าซื้อวัสดุอุปกรณ์ให้กับผู้ขาย พบว่า นางเบญจมาศ ศิริมูล หัวหน้าฝ่ายการเงิน ซึ่งเป็นผู้จัดทำเช็ค และนางสาวขวัญใจ ปรีพูล นักวิชาการเงินและบัญชีชำนาญการ ซึ่งเป็นผู้จ่ายเช็ค ได้จ่ายเช็ค โดยมิได้ให้ผู้รับเช็คลงลายมือชื่อรับเช็คในรายงานการจัดทำเช็ค และต้นขั้วเช็ค ด้วย

คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว มีมติดังนี้

1. การกระทำของนายกองโท ดร. คมคาย อุดรพิมพ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 91 ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 และมาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และมีมูลความผิดเป็นการจงใจทอดทิ้งหรือละเลยไม่ปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่อันจะเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง หรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ หรือประพฤติตนฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อย ตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 77 วรรคสาม 

2. การกระทำของนายแสวง สำราญดี ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม และนายคุณาวุฒิ ไชยคำภา รองปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง กรณีปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของรัฐบาล อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามประกาศคณะกรรมการข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด มหาสารคาม เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับวินัยและการรักษาวินัย และการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2558 ข้อ 10 วรรคสอง 

3. การกระทำของนางเพ็ญศรี แสงดารา รองปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม นางสาวสุกัญญา  ศิริวิชัย เจ้าพนักงานพัสดุชำนาญงาน นางเบญจมาศ ศิริมูล นักบริหารงานคลัง และนางสาวขวัญใจ ปรีพูล นักวิชาการเงินและบัญชีชำนาญการ มีมูลความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง กรณีไม่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เกิดผลดีหรือความก้าวหน้าแก่ราชการ ไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความอุตสาหะ เอาใจใส่ ระมัดระวังรักษาประโยชน์ของทางราชการ และประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ และไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี และนโยบายของรัฐบาล โดยไม่ให้เสียหายแก่ราชการ ตามประกาศคณะกรรมการข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด จังหวัดมหาสารคาม เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับวินัย และการรักษาวินัย และการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2558 ข้อ 8 ข้อ 9 วรรคหนึ่ง และข้อ 10 วรรคหนึ่ง

4. การกระทำของห้างหุ้นส่วนจำกัด ศรีบุรินทร์การเกษตร นายสมศักดิ์ ศรีบุรินทร์ นางสาวศิริภรณ์ ศรีบุรินทร์ บริษัทสยามอินเตอร์กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด นางสาวสายฝน ทองแถม นางบุญมนี ธนกิจชัยชนะ นางสาวเสาวลักษณ์ ศรีบุรินทร์ นางสาวยุภาภรณ์ ทิพเจริญ นางสาววัชราภรณ์ บุญญะภูมมะ และนายบุญเลิศ สุ่มมาตย์ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 และมาตรา 91 ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 และมาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และมาตรา 91 และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และมาตรา 91

ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลที่มีเขตอำนาจ ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อดำเนินการทางวินัย และส่งสำนวนการไต่สวน และเอกสารหลักฐานพร้อมความเห็นไปยังผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน   และปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (1) (2) และมาตรา 98 แล้วแต่กรณีต่อไป และให้แจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งทราบ ให้แจ้งผู้บังคับบัญชาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหาย ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 และให้แจ้งข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการกระทำของห้างหุ้นส่วนจำกัด ศรีบุรินทร์การเกษตร และบริษัท สยามอินเตอร์กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด ให้กรมบัญชีกลาง เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไปด้วย