เศรษฐา ‘เลี่ยงภาษี’ หรือ ‘วางแผนภาษี’ | บรรยง วิทยวีรศักดิ์

เศรษฐา ‘เลี่ยงภาษี’ หรือ ‘วางแผนภาษี’ | บรรยง วิทยวีรศักดิ์

ผมไม่ได้มาตัดสินว่าคุณเศรษฐา มีส่วนร่วมในการเลี่ยงภาษีจริงหรือไม่ หรือเป็นการวางแผนภาษีที่แยบยล แต่ผมจะพูดในมุมมองของที่ปรึกษาการเงินว่า กรณีใดถือเป็นการวางแผนภาษี และกรณีใดถือเป็นการหนีภาษี

จากกรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตผู้บริหารของ บมจ.แสนสิริ ถูกนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ออกมาแฉว่าทำธุรกรรมเลี่ยงภาษี จึงไม่สมควรขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยนั้น 

วันนี้ ผมไม่ได้มาตัดสินว่าคุณเศรษฐา มีส่วนร่วมในการเลี่ยงภาษีจริงหรือไม่ หรือเป็นการวางแผนภาษีที่แยบยล แต่ผมจะพูดในมุมมองของที่ปรึกษาการเงินว่า กรณีใดถือเป็นการวางแผนภาษี และกรณีใดถือเป็นการหนีภาษี

การวางแผนภาษี  (Tax planning) คือ  การกำหนดแนวทางปฎิบัติในการเสียภาษี  เพื่อให้เสียภาษีได้อย่างถูกต้อง  และสามารถประหยัดภาษีได้สูงสุด  หรือพูดง่ายๆก็คือ การเสียภาษีให้น้อยที่สุดแบบถูกต้องตามกฎหมายนั่นเอง

การหนีภาษี (Tax evasion) คือ ผลการวางแผนเพื่อให้เสียภาษีน้อยที่สุด ทั้งๆที่วิธีนั้นผิดกฎหมาย แต่หวังว่าจะหลุดรอดสายตาของเจ้าหน้าที่รัฐได้

ดังนั้น ถ้าว่ากันตามทฤษฎี ก็ขึ้นกับว่าธุรกรรมที่คุณเศรษฐาเข้าไปเกี่ยวข้องนั้นกฎหมายเปิดช่องให้ทำหรือเปล่า ถ้าเปิดช่องก็ถือเป็นการวางแผนภาษี แต่ถ้าไม่เปิดช่อง ถึงแม้คุณเศรษฐาเป็นผู้ซื้อและเสียภาษีของผู้ซื้อถูกต้อง มันก็ไม่สง่างาม เพราะไปเกี่ยวพันกับการหนีภาษี หรือพูดชัดๆก็คือ รู้เห็นการโกงภาษีนั่นเอง

ส่วนเรื่องที่ว่ากฎหมายเปิดช่องให้ทำได้หรือเปล่านั้น เชื่อว่ามีนักวางแผนภาษีและผู้เกี่ยวข้องในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มาแถลงไขเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปแล้ว คำถามคือ ถ้ากฎหมายเปิดช่องให้ทำได้ แล้วเราไปตีความว่าเป็นการผิดจริยธรรม คิดแบบได้หรือไม่ 

ต้องเข้าใจว่า เป้าหมายหลักของบริษัททุกแห่ง คือการแสวงหาผลกำไร ตราบใดที่กฎหมายเปิดช่อง และไม่ถือว่าเป็นการทำผิดกฏหมาย บริษัทก็จะเลือกแนวทางที่ตัวเองเสียภาษีน้อยที่สุด ประหยัดต้นทุนได้มากที่สุด อันนี้ ผมว่าเราโทษเขาไม่ได้

คนที่จะต้องรีบล้อมคอก ปรับปรุงแก้ไขโดยด่วนที่สุด คือกรมที่ดิน หรือกรมสรรพากร ถ้ารู้ว่ากฎหมายมีช่องโหว่ ต้องรีบแก้ไข 

ผมขอยกตัวอย่างสองกรณีให้เห็นชัดเจน คือ
1. กองทุนหุ้นระยะยาว 
ในอดีต มีการออกกฏหมายให้คนที่ลงทุนในกองทุนหุ้นระยะยาวหรือ Long Term Fund /LTF สามารถลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 500,000 บาท และต้องถือหุ้นนั้นไม่ต่ำกว่า 7 ปี สิ่งที่เกิดขึ้นคือ พอผู้มีเงินได้ลงทุนได้ครบ 7 ปี ก็ถอนเงินทั้งหมดออกมา แล้วนำเงินก้อนเดิมมาลงทุนในกองทุนหุ้นนี้อีกหนึ่งรอบ

กลายเป็นว่า เงินก้อนเดียว ขอภาษีคืนได้หลายรอบ ต่อมา เมื่อกรมสรรพากรเจอปัญหานี้ ก็อุดช่องโหว่ด้วยการไม่ลดหย่อนภาษีให้กองทุนหุ้นระยะยาว แล้ววางกฎเกณฑ์ใหม่ว่า ต้องลงทุนในกองทุนที่เรียกว่ากองทุน SSF (Super Saving Funds)

ซึ่งเป็นกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาวเหมือนกัน แต่ต้องลงทุนไม่น้อยกว่า 10 ปี และต้องลงทุนในระหว่างปี 2563-2567 เท่านั้น จึงจะลดหย่อนภาษีได้ ถือเป็นการแก้ปัญหานี้ไปเปลาะหนึ่ง

2.ภาษีที่ดินว่างเปล่า
เมื่อเราเริ่มบังคับใช้ภาษีที่ดิน มีการกำหนดว่าผู้ใดมีที่ดินแล้ว ไม่นำมาพัฒนา ปล่อยให้เป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า จะถูกองค์กรปกครองท้องถิ่นเก็บภาษีที่ดินในอัตราที่เพิ่มขึ้นทุกปี จนสูงถึง 3% แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นพื้นที่ทำการเกษตร จะได้อัตราภาษีในอัตราที่ต่ำสุดคือ 0.15%

จึงมีเจ้าของที่ดินจำนวนมาก แปลงที่ดินเปล่าให้เป็นพื้นที่ปลูกกล้วยบ้างหรือปลูกพืชล้มลุกบ้าง เพื่อง่ายต่อการกลบไถเพื่อขายต่อในอนาคต

ทุกคนทราบกันดีว่า นี่คือการใช้ช่องโหว่ของกฎหมายมาวางแผนภาษี เพื่อที่จะได้เสียภาษีให้น้อยที่สุด เจ้าของไม่ได้มีเจตนาที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิตอย่างแท้จริง เพราะผลผลิตที่ได้ คงไม่คุ้มกับมูลค่าของที่ดิน โดยเฉพาะที่ดินในตัวเมืองใหญ่

สิ่งที่รัฐในฐานะผู้กำกับกฎหมายจะทำได้ดีที่สุด คือการแก้ไขกฎหมายเพื่อปิดช่องโหว่ ซึ่งต้องระมัดระวังในการบัญญัติกฎหมาย เพราะอาจจะไปกระทบกระเทือนเกษตรกรตัวจริง หรือกฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง เพราะยากต่อการพิสูจน์ หรือวัดมูลค่าที่แท้จริงได้

หน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่ในการเก็บภาษี ไม่ว่ากรมที่ดิน กรมสรรพากร กรมสรรพสามิตหรือกรมศุลกากร จึงต้องอัพเดทกฎหมายอยู่ตลอดเวลา ว่ามีช่องโหว่หรือไม่ และจะปิดช่องโหว่เหล่านี้ได้อย่างไร

จึงไม่แปลกใจ ที่ในสหรัฐอเมริกาจะมีคนร้องเรียนว่านายอีลอน มัสก์ ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในคนที่ร่ำรวยที่สุดในโลก กลับเสียภาษีน้อยเทียบเท่าคนกินเงินเดือนธรรมดา ซึ่งเขามองว่านั่นคือจุดบกพร่องของระบบทุนนิยม ที่คนเขียนกฎหมายสมรู้กับนายทุน ออกกฏหมายที่มีช่องโหว่ให้นายทุนเสียภาษีน้อยที่สุด

ผมเองก็เคยเขียนบทความให้ยกเลิก Final Tax ที่กฎหมายกำหนดว่า คนที่ได้รับเงินปันผลหรือดอกเบี้ย ไม่ว่ากี่พันล้านบาท หากคนเหล่านี้เสียภาษีเพิ่มอีก 10% หรือ15% ก็ไม่จำเป็นต้องเสียภาษีบุคคลธรรมดาหรือภาษีใดๆ เพิ่มเติม

ในขณะที่คนกินเงินเดือน หรือคนค้าขายที่มีรายได้สุทธิเพียง 4-5 ล้านบาท ต้องเสียภาษีถึง 35% บางคนต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7% โดยที่เรียกคืนภาษีซื้อได้น้อยมากนี่จึงเป็นที่มาของสำนวนที่ว่า “รวยกระจุก จนกระจาย” ถือเป็นการเพิ่มช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนอย่างแท้จริง เพราะไม่ได้สนับสนุนให้ชนชั้นกลางได้ลืมตาอ้าปากเลย

ความเหลื่อมล้ำในสังคม ต้องแก้ด้วยการร่างกฎหมายให้คนรวยเสียภาษีมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่มีรายได้ปีละ 100 ล้านบาทขึ้นไป ไม่ใช่นำทรัพยากรของคนส่วนใหญ่ไปอุดหนุนคนรวยส่วนน้อย 

ประเทศไทยไม่ได้ขาดคนมีฝีมือในการร่างกฎหมาย แต่เป็นเพราะผู้กุมอำนาจในการตัดสินใจ ยังไม่กล้าลงมือกับคนรวยเท่านั้นเอง.