รอ ‘รัฐบาลใหม่’ รับมือความท้าทายประเทศ

รอ ‘รัฐบาลใหม่’ รับมือความท้าทายประเทศ

ในอนาคตอาจมีความท้าทายอื่นเข้ามาอีกมาก และมาในแบบที่คาดไม่ถึง “รัฐบาลใหม่” ที่เข้ามาต้องรีบรับมือความท้าทายเหล่านี้

ท่ามกลางปัจจัยลบรอบด้านของประเทศไทย โดยเฉพาะปัจจัยภายในประเทศ การตั้งรัฐบาลที่ล่าช้า ยิ่งลดทอนความเชื่อมั่นนักลงทุนไปเรื่อยๆ

ประเทศไทยกำลังขาดเสน่ห์ ไม่เซ็กซี่ในสายตานักลงทุนเพราะไม่มีมาตรการใหม่ชักจูงนักลงทุนให้หอบเม็ดเงินมหาศาลเข้ามาในประเทศ ขณะที่ คาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจในประเทศก็ไม่ดึงดูดมากพอ

เราเจอภาวะเงินเฟ้อ การติดลบภาคส่งออก ทำให้การส่งออกปีนี้อาจขยายตัวอยู่ที่ 1% ชะลอตัวจากปี 2565 จากปัจจัยเสี่ยง ทั้งอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และการชะลอตัวเศรษฐกิจโลก

มูลค่าส่งออกไทยครึ่งปีแรกอยู่ที่ 147,477 ล้านดอลลาร์ลดลง 5.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

แม้ว่าถ้าเทียบการส่งออกกับหลายประเทศ ถือว่าไทยยังดีอยู่ก็ตาม เช่น ญี่ปุ่น ลดลง 6% มาเลเซียลดลง 8.4% อินเดีย ลดลง 8.7% และเวียดนามลดลง 12% ทำให้ประเมินว่า การส่งออกของไทยครึ่งปีหลังมีแนวโน้มฟื้นตัว แต่ก็จะค่อยเป็นค่อยไป เพราะเศรษฐกิจยังต้องเผชิญกับความท้าทายความขัดแย้งรัสเซียและยูเครน รวมถึงปัญหาภัยแล้ง จากปรากฏการณ์เอลนีโญ

ข้อแนะนำของ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ที่มาปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ Thailand Trade Pulse 2023: New Thinking to Cope With Multiple Headwinds บนเวทีสัมมนา “Thailand Economic: Resilience and Opportunities” จัดโดย “เดอะ เนชั่น” นับเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจยิ่ง

สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ผันผวน ทำให้ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องทำงานอย่างใกล้ชิด ปรับตัวรับกับความท้าทายที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะประเด็นสำคัญเช่น ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และกระทบในเชิงกว้าง

การขยายตัวของมาตรการการค้ารูปแบบใหม่ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงกับการพัฒนาที่ยั่งยืน จะเห็นว่า หลายประเทศเริ่มออกนโยบายด้านแรงงาน สิ่งแวดล้อม และสังคม ที่เชื่อมโยงกับการค้ามากขึ้น รวมไปถึงความเสี่ยงปัจจัยการผลิตวัตถุดิบอาหารและพลังงาน

ด้วยความขัดแย้งของรัสเซีย ยูเครน ส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานด้านอาหาร และพลังงานโลก การแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ปรากฏการณ์เอลนีโญ กระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร ไทยในฐานะผู้ผลิตอาหารอาจใช้โอกาสความมั่นคงทางอาหารขับเคลื่อนสินค้าการเกษตร และอาหารไปยังประเทศที่ไม่สามารถผลิตอาหารเอง

ประเด็นเหล่านี้ นับเป็นความท้าทายของประเทศ ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เราต้องเตรียมพร้อมยุทธศาสตร์รับมือ และแสวงหาความร่วมมือกับประเทศต่างๆ เพื่อรักษาโอกาส และช่วงชิงศักยภาพในการแข่งขัน 

ในอนาคตอาจมีความท้าทายอื่นเข้ามาอีกมาก และมาในแบบที่คาดไม่ถึง “รัฐบาลใหม่” ที่เข้ามาต้องรีบรับมือความท้าทายเหล่านี้ ความผันผวน การเปลี่ยนแปลงของโลกที่ไม่เหมือนเดิม ด้วยทิศทางบริหารที่ชัดเจนพร้อมลุกขึ้นเสาะหาโอกาสใหม่ เพื่อให้ประเทศไทยไม่ถูกลืมจากเวทีโลก