สงสารประเทศไทย การเมืองยึดผลประโยชน์ตัวเอง

สงสารประเทศไทย การเมืองยึดผลประโยชน์ตัวเอง

ผ่านการเลือกตั้งมาแล้วเกือบ 3 เดือน แต่ก็ยังไม่ได้นายกรัฐมนตรี ประเทศไทยยังคงอยู่ในภาวะสุญญากาศต่อไป ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อประเทศ

หากนับตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค.2566 เป็นเวลาเกือบ 3 เดือน ที่ยังไม่สามารถแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ได้ รวมทั้งถ้านับตั้งแต่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 20 มี.ค.2566 รวมเวลาถึงปัจจุบันเกือบ 5 เดือน ที่ประเทศไทยอยู่ในสถานะรัฐบาลรักษาการที่มีข้อจำกัดในการพิจารณาอนุมัติโครงการและงบประมาณใหม่ รวมถึงการแต่งตั้งข้าราชการและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ ซึ่งต้องขอความเห็นชอบต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

สถานการณ์ปัจจุบันจึงถือว่าอยู่บนภาวะสุญญากาศที่ประเทศไทยไม่สามารถขับเคลื่อนได้เต็มที่ ซึ่งทำให้หลายคนต่างคาดหวังให้มีการจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็วในทันทีที่รับทราบผลการเลือกตั้ง โดยพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยที่ได้จำนวน สส.เป็นลำดับที่ 1-2 ต่างร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล และได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) เพื่อให้พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรค บรรลุเป้าหมายในการขับเคลื่อนนโยบายที่แต่ละพรรคใช้ในการหาเสียงไว้

การเลือกนายกรัฐมนตรีมีเหตุต้องสะดุดด้วยหลายปัจจัยทั้งการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยคุณสมบัตินายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ซึ่งนำมาสู่คำสั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่ สส.ของนายพิธา รวมถึงการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย กรณีรัฐสภามีมติไม่เห็นชอบกับการเสนอชื่อนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรีในรอบที่ 2 โดยนำมาสู่คำสั่งประธานรัฐสภาเลื่อนการประชุมเพื่อลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีรอบที่ 3 ออกไป และปัจจุบันยังไม่กำหนดนัดประชุม

สถานะการจัดตั้งรัฐบาลถูกสังคมจับตามากขึ้นเมื่อพรรคก้าวไกลถอนตัวออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล หลังจากที่พรรคเพื่อไทยได้เจรจาต่อรองกับหลายพรรคการเมือง โดยพรรคเพื่อไทยให้เหตุผลถึงกรณีที่พรรคก้าวไกลไม่ปรับนโยบายที่เกี่ยวกับการแก้ไขมาตรา 112 ในขณะที่การเจรจาต่อรองจัดตั้งรัฐบาลมีความซับซ้อนขึ้นไปเมื่ออาจต้องดึง “2 ลุง” หรือพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติเข้าร่วมรัฐบาล การเจรจาต่อรองผลประโยชน์จากการจัดตั้งรัฐบาลจึงอยู่ในภาวะชิงไหวชิงพริบเต็มที่

ประเทศไทยอยู่ในภาวะสุญญากาศมาเกือบ 5 เดือน นับเป็นเวลาไม่น้อยแล้ว และกว่าจะเลือกนายกรัฐมนตรี รวมถึงจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) และแถลงนโยบายต่อรัฐสภาจะใช้เวลานับจากนี้อีกนับเดือนกว่าที่รัฐบาลใหม่จะปฏิบัติหน้าที่ได้ ดังนั้นการที่นักการเมืองต่างต่อรองผลประโยชน์จากการจัดตั้งรัฐบาลอย่างเข้มข้นจึงไม่เป็นผลดีต่อประเทศ และจำเป็นที่นักการเมืองต้องถอยผลประโยชน์คนละก้าว เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ไม่อย่างนั้นประเทศคงอยู่ในภาวะสุญญากาศต่อไป