กางไทม์ไลน์ ภารกิจด่วน “เพื่อไทย” ลุ้น“รธน.ฉบับ 21” ต้นปี 2569

กางไทม์ไลน์ ภารกิจด่วน “เพื่อไทย” ลุ้น“รธน.ฉบับ 21” ต้นปี 2569

"พรรคเพื่อไทย" ประกาศหลัง จัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ จะดัน แก้รัฐธรรมนูญ โดย "ส.ส.ร." เป็นวาระแห่งชาติ และเมื่อทำเสร็จจะยุบสภา เลือกตั้งใหม่ ทว่าดูไทม์ไลน์แล้ว เป็นเกมที่วางหมากไว้เพื่อ "อยู่ยาว"

พรรคเพื่อไทยประกาศสลายขั้ว 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล เปิดทางจับขั้วพรรคการเมืองใหม่  ฉีกบันทึกข้อตกลง หรือ เอ็มโอยู ที่เคยแถลงร่วมกับพรรคก้าวไกลรวม 312 เสียงทิ้ง แบบไม่เหลือเยื่อใย

 

พร้อมเปิดภารกิจสำคัญร่วมกับ “รัฐบาลขั้วใหม่” คือเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เร็วที่สุด เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ “เพื่อไทย” ให้สัญญาประชาคมว่า จะ “ยุบสภา” เพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ทันที

 

กางไทม์ไลน์ ภารกิจด่วน “เพื่อไทย” ลุ้น“รธน.ฉบับ 21” ต้นปี 2569

“กรุงเทพธุรกิจ” เปิดขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยยึดตามที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ประกาศไว้ ดังนี้ 

1.ใช้มติการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรก เพื่อให้ทำประชามติว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) หรือไม่

2.จัดตั้ง “ส.ส.ร.” เพื่อให้เกิดกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

3.เมื่อดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่แล้วเสร็จ รัฐบาลจะคืนอำนาจให้ประชาชน เลือกตั้งใหม่ ภายใต้กรอบและกติกาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

 

ตามแนวทางนี้ พอจะประเมินไทม์ไลน์เบื้องต้นของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับ ส.ส.ร. ของพรรคเพื่อไทย เมื่อเทียบกับสถานการณ์ในช่วงเวลาของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อปี 2562 ที่ใช้เวลา 56 วัน นับแต่ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี จนถึง "ครม.ประยุทธ์" ประชุมครั้งแรก 

 

วันที่ 4 สิงหาคม รัฐสภาสามารถเห็นชอบ แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย ได้ “ว่าที่ นายกฯ” คนที่ 30 หลังจากนั้น 6 วัน หรือ 10 สิงหาคม โปรดเกล้าฯ นายกฯ คนที่ 30 ใช้เวลาตั้ง ครม. "เพื่อไทย 1” ประมาณ 30 วันและคาดว่า ประมาณ 10 กันยายน โปรดเกล้าฯ ครม. ชุดใหม่

จากนั้น 6 วัน ประมาณ 16 กันยายน “ครม.ชุดใหม่” เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณตนต่อพระมหากษัตริย์ก่อนเข้ารับหน้าที่ และไม่เกิน 30 กันยายน ครม.ชุดใหม่ประชุมกันครั้งแรก ซึ่งเริ่มต้นด้วยการขอมติ ครม.ให้จัดการออกเสียงประชามติ ถามประชาชนว่า

 

"เห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)"

 

ซึ่งก่อนหน้านั้น พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลในฐานะพรรคฝ่ายค้านของสภาฯ ชุดที่ 25 ร่วมกันเสนอต่อสภา และวุฒิสภามาแล้ว แต่ถูกตีตกในชั้นวุฒิสภา

กางไทม์ไลน์ ภารกิจด่วน “เพื่อไทย” ลุ้น“รธน.ฉบับ 21” ต้นปี 2569

สำหรับการริเริ่ม เป็นภารกิจสำคัญของ พรรคเพื่อไทย ครั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องผ่านสภาฯ เหมือนครั้งก่อน เพราะตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 กำหนดให้ “ครม.” มีอำนาจพิจารณาได้เมื่อมีเหตุอันสมควร

จากนั้น ครม.ต้องหารือร่วมกับ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เพื่อออกพระราชกฤษฎีกากำหนดวันออกเสียงประชามติ ที่มีกำหนดไม่เร็วกว่า 90 วันและไม่ช้ากว่า 120 วันนับตั้งแต่ที่ ครม.มีมติ ซึ่งระยะเวลาคาดการณ์ อาจจะอยู่ในช่วงเดือนธันวาคม 2566 แต่ไม่เกินเดือนมกราคม 2567

กางไทม์ไลน์ ภารกิจด่วน “เพื่อไทย” ลุ้น“รธน.ฉบับ 21” ต้นปี 2569  

เหตุผลที่ต้องทอดเวลา กว่าจะได้ออกเสียงประชามติ 3-4 เดือนนั้น เป็นเพราะกฎหมายกำหนดให้ต้องสร้างการรับรู้ในประเด็นที่จะทำประชามติให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป รวมถึงการทำเอกสารเผยแพร่ที่บังคับให้ต้องส่งข้อมูลไปยังเจ้าบ้านทราบไม่น้อยกว่า 30 วันก่อนวันออกเสียง และเผยแพร่ทางวิทยุ โทรทัศน์ของรัฐ รวมถึงวิธีการออกเสียงประชามติที่ถูกต้อง โดยไม่ชี้นำ

เมื่อผลประชามติออกมา แล้วพบว่า “ประชาชนข้างมากสนับสนุน” กระบวนการต่อไปคือ การดำเนินการในรัฐสภา คือ การเสนอ "ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่" เข้ามา หรือจะปัดฝุ่นนำ "ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ที่พรรคเพื่อไทยเคยเสนอต่อรัฐสภาเมื่อปี 2563 ว่าด้วยการตั้ง ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน" แต่ถูกยื่นตีความไปยังศาลรัฐธรรมนูญ และศาลสั่งให้ทำประชามติเสียก่อน ก็ได้

 

อย่างไรก็ดี เมื่อดูระยะเวลา และเกมการเมืองแล้ว ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยจัดตั้ง ส.ส.ร.นั้น อาจยังไม่เกิด และเสนอให้รัฐสภา พิจารณารับหลักการวาระแรกทันที หลังรู้ผลประชามติ เพราะยังมีขวากหนามสำคัญ คือ “สว.” 250 คนที่มาจาก “คสช.” 

ความเป็นไปได้ อาจจะรอให้ สว.ชุดนี้ หมดวาระในเดือนพฤษภาคม 2567 ก่อน และระหว่างที่รอ 4 เดือนนั้น สภาฯ อาจตั้งกรรมาธิการ(กมธ.)ศึกษา ถึงแนวทางการได้มาซึ่ง ส.ส.ร.ที่ทันกับสถานการณ์ และยุคสมัยทางการเมือง 

กางไทม์ไลน์ ภารกิจด่วน “เพื่อไทย” ลุ้น“รธน.ฉบับ 21” ต้นปี 2569

เมื่อได้ สว.ชุดใหม่ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2567 กระบวนการของรัฐสภา ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะถือฤกษ์เริ่มขึ้น และหาก สว. ที่มาจากการเลือกกันเอง 200 คนเป็นผู้มีอุดมการณ์เดียวกันกับ “ฝ่ายการเมือง” การใช้เสียงสนับสนุน 2 ใน 3 หรือ ประมาณ 134 คนให้ผ่านวาระแรก จึงไม่ใช่งานยาก 

 

เมื่อ “รัฐสภา” เห็นพ้องกับการยกร่างรัฐธรรมนูญของประชาชน แถมมีฝ่ายค้านที่มีจุดยืนหนุนแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยประชาชนด้วยแล้ว การลงมติโหวตวาระสาม ที่ต้องใช้เสียง สส.ฝ่ายค้าน 20% ก็ไม่ใช่ของยากเช่นกัน และการแก้ไขรอบนี้ อาจจะใช้เวลาสั้นที่สุด ไม่เกิน 30 - 45 วัน จากนั้นต้องนำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ไปออกเสียงประชามติอีกครั้ง ในช่วงเดือนไม่เกินเดือนกันยายน-ตุลาคม 2567

 

หากประชามติอีกครั้ง ได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชน จะเข้าสู่กระบวนการ “จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่” โดยต้องเข้าสู่กระบวนการได้มาซึ่ง ส.ส.ร.

กางไทม์ไลน์ ภารกิจด่วน “เพื่อไทย” ลุ้น“รธน.ฉบับ 21” ต้นปี 2569

หากเทียบกับตอนยกร่างรัฐธรรมนูญ 2540 การได้มาซึ่ง ส.ส.ร.นั้น ให้ดำเนินการให้เสร็จภายใน 90 วัน จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งขึ้นอยู่ในการตกลงที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่าจะมีระยะเวลาให้ ส.ส.ร.ทำงานเท่าไร อย่าง การยกร่างรัฐธรรมนูญ 2540 นั้น ได้กำหนดทำให้เสร็จภายใน 240 วัน

 

เมื่อพิจารณาตามไทม์ไลน์เบื้องต้นแล้ว อาจจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในช่วงเดือนกันยายน 2568 และหากต้องส่งไปทำประชามติ อย่างน้อยต้องยึดกรอบ เวลาไม่น้อยกว่า 90 วัน แต่ไม่เกิน 120 วัน 

ดังนั้นเมื่อกางไทม์ไลน์รัฐธรรมนูญที่พรรคเพื่อไทยประกาศในวันที่ 2 สิงหาคม นับปฏิทินแล้วประเทศไทยคงจะได้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 21 ช่วงต้นปี 2569 หรือเกือบ 3 ปี นับจากนี้.

+++++

* หมายเหตุ : ไทม์ไลน์สมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พบว่าหลังรัฐสภาลงมติเห็นชอบ 5 มิถุนายน 2562 ให้เป็นนายกรัฐมนตรี จากนั้นอีก 6 วันต่อมา ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายกฯ วันที่ 11 มิถุนายน 2562 และใช้เวลา 1 เดือนตั้งคณะรัฐมนตรี ต่อมา 10 กรกฎาคม 2562 โปรดเกล้าฯ ครม.ใหม่ จากนั้น 16 กรกฎาคม ครม.เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนปฏิบัติหน้าที่ และประชุม ครม.ครั้งแรก 30 กรกฎาคม 2562