ยิ่งตั้งรัฐบาลช้า ไทยยิ่งเสียโอกาส

ยิ่งตั้งรัฐบาลช้า ไทยยิ่งเสียโอกาส

ความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลและความขัดแย้งทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง เป็นประเด็นสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังปี 2566 และส่งผลกระทบทำให้ภาคเอกชนชะลอการลงทุน กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ

เหมือนจะชัดแต่ไม่ชัด เหมือนจะจบแต่ไม่จบ กับการจัดตั้งรัฐบาลของไทย คนที่ดีลก็ดีลไป คนไม่พอใจก็นัดกันแต่งดำไปชุมนุมกันที่แยกราชประสงค์ วานนี้ (27 ก.ค.) เพราะการเลือกตั้งผ่านไปแล้วเกือบ 3 เดือน แต่ประเทศไทยยังคงไร้นายกรัฐมนตรีมาทำหน้าที่บริหารประเทศ เรื่องนี้ต้องตระหนัก หน่วยงานภาครัฐเอกชนออกมาเสนอความเห็นถึงผลเสียของการตั้งรัฐบาลช้า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดว่า การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าจะส่งผลให้การบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณปี 2567 ล่าช้าอย่างมากที่สุด 6 เดือน ซึ่งกรณีนี้จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจปี 2567 ที่ 0.05% หากตั้งรัฐบาลล่าช้าเกินไปกว่า 9 เดือน จะกระทบจีดีพี 0.07%

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 31 ในเดือน ก.ค.2566 ผู้บริหาร ส.อ.ท.ส่วนใหญ่มองว่า ความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลและความขัดแย้งทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง เป็นประเด็นสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังปี 2566 และส่งผลกระทบทำให้ภาคเอกชนชะลอการลงทุน กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ

ยังไม่หมดแค่นี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ห่วงว่าความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ ทำให้นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติต้องชะลอการลงทุน เพื่อรอความชัดเจนของนโยบาย และขณะที่มีรัฐบาลรักษาการต้องใช้โครงสร้างงบประมาณปี 2566 ไปพลางก่อน ทำให้งบลงทุนไม่สามารถนำมากระตุ้นเศรษฐกิจได้ ประเมินแล้วหากจัดตั้งรัฐบาลได้ภายในเดือน ส.ค.-ก.ย. จีดีพีปีนี้จะโตได้ในกรอบ 3-3.5% ส่วนปีหน้ามีโอกาสโตได้ 3.5-4%

เรียกได้ว่าหลายฝ่ายประสานเสียงกัน หันไปดูเพื่อนบ้านอินโดนีเซียเวิร์กสุดๆ เรื่องดึงการลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้า เริ่มตั้งแต่เดือน พ.ค. ปีก่อน ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ไปประชุมผู้นำสหรัฐ-อาเซียน เลยถือโอกาสแวะไปคุยกับอีลอน มัสก์ อาศัยจุดแข็งที่อินโดนีเซียมีแหล่งนิกเกิลสำรองมหาศาล สำคัญสำหรับทำแบตเตอรี่อีวี ต้นปีนี้สำทับว่า อินโดนีเซียยินดียกสัมปทานเหมืองนิกเกิลให้เลยถ้ามาลงทุน 

ไม่กี่วันก่อนรัฐบาลอินโดนีเซียเผยว่ากำลังหาข้อสรุปออกมาตรการจูงใจบริษัทผลิตรถอีวี แข่งกับข้อเสนอจากคู่แข่งในภูมิภาคอย่างไทยและเวียดนาม วานนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกิจการทางทะเลและทรัพยากรธรรมชาติ บินไปพบกับผู้บริหารบีวายดีที่นครเฉิงตู และวันที่ 3 ส.ค.จะไปพบอีลอน มัสก์ ซีอีโอเทสลาที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐ เรียกว่าประธานาธิบดีเจอแล้วก็ส่งรัฐมนตรีไปเจอด้วย หวังจีบเจ้าพ่อเทสลามาให้ได้ ความแข็งขันของอินโดนีเซียน่าจะช่วยให้เพื่อนบ้านอาเซียนอย่างไทยได้ฉุกคิดว่า ยิ่งทอดเวลาเนิ่นนานยิ่งเสียโอกาส ขณะเราอยู่กับที่แต่คนอื่นไปถึงไหนๆ กันแล้ว!