'ทักษิณกลับไทย' มีโทษจำคุกกี่ปี คดีอะไรบ้าง? 'ราชทัณฑ์' เผยไม่มีระบบวีไอพี

'ทักษิณกลับไทย' มีโทษจำคุกกี่ปี คดีอะไรบ้าง? 'ราชทัณฑ์' เผยไม่มีระบบวีไอพี

"ทักษิณ ชินวัตร" จะกลับไทย 10 ส.ค.66 โดยมีคดีความที่ศาลพิพากษาถึงที่สุดแล้ว 3 คดี โทษจำคุกรวม 10 ปี ด้าน "กรมราชทัณฑ์" เผยการควบคุมตัวทำตามขั้นตอนปกติเหมือนนักโทษทั่วไป ไม่มี "วีไอพี" มีเพียงการจำแนกผู้ต้องหาสูงอายุ

เรียกเสียงฮือฮาจากคนไทยทั้งประเทศ เมื่อ "ทักษิณ ชินวัตร" จะเดินทางกลับมาประเทศไทยในวันที่ 10 สิงหาคม 2566 นี้ โดยก่อนหน้านี้ "กรมราชทัณฑ์" มีการเปิดเผยถึงขั้นตอนรับตัว "ทักษิณกลับไทย" เข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งเข้าเกณฑ์ "ผู้ต้องขังสูงอายุ" โดยจะต้องเข้ารับการตรวจสุขภาพก่อน หากมีโรคประจำตัว จะต้องส่งเข้าหอผู้ป่วยเพื่อเข้ารับรักษากับแพทย์เรือนจำฯ 

เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆ นานาในหลายประเด็น ทั้งมีการตั้งคำถามว่า ทักษิณ ชินวัตร กลับมาคราวนี้จะต้องจำคุกเลยทันทีหรือไม่ ต้องโทษจำคุกกี่ปี จะมีการดำเนินการแบบพิเศษหรือ "วีไอพี" ไหม รวมถึงจะสามารถขอพระราชทานอภัยโทษจนรอดคุกหรือไม่? กรุงเทพธุรกิจ สรุปเรื่องราวทั้งหมดให้รู้ครบ จบที่นี่ที่เดียว!

 

  • หากทักษิณถึงไทยแล้ว เข้าคุกทันทีหรือไม่? มีความผิดกี่คดี มีโทษจำคุกกี่ปี?

ข้อมูลล่าสุด (27 ก.ค.66) ระบุว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาการรมว.ยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี "ทักษิณกลับไทย" ว่า หากทักษิณเดินทางมาถึงประเทศไทยแล้ว ก็ต้องไปรับหมายขังที่ศาลฎีกา แต่ไม่ใช่เป็นการไปฟังคำพิพากษา เพราะคดีจบไปแล้ว ทั้งนี้คดีความที่ต้องคำพิพากษาไปแล้วนั้น มีด้วยกัน 3 คดีที่ถึงที่สุด โดยคดี 1 จำคุก 2 ปี, คดีที่ 2 จำคุก 3 ปี, คดีที่ 3 จำคุก 5 ปี รวมทั้งหมดจำคุก 10 ปี 

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวพบว่ามีรายละเอียดเกี่ยวกับคดีความของทักษิณทั้ง 3 คดีดังนี้

1. คดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า คดีหวยบนดิน โดยศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุกทักษิณ 2 ปี ไม่รอลงอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 

2. คดีสั่งการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank) อนุมัติเงินกู้สินเชื่อ 4,000 ล้านบาท แก่รัฐบาลสหภาพพม่า ศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 (เดิม)

3. คดีให้บุคคลอื่น (นอมินี) ถือหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แทน โดยบริษัท ชินคอร์ปฯ เป็นคู่สัญญาต่อหน่วยงานของรัฐ และเข้าไปมีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นในกิจการโทรคมนาคม โดยศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา 

ส่วนคดีอื่นๆ ที่เหลือ พบว่าเป็นคดีที่หมดอายุความไปแล้ว และมีบางคดีที่ยังไม่ฟ้อง แต่เป็นเรื่องเล็กน้อย เช่น หลบหนีออกนอกประเทศ เป็นต้น ซึ่งจะฟ้องหรือไม่ฟ้องก็ได้ แต่ถ้าจะฟ้องต้องฟ้องตอนที่ได้ตัวมา

อ่านเพิ่ม : ยึดประโยชน์ประชาชนสิ่งที่ต้องมีในตัวผู้นำ ส่องคดีความทักษิณในอดีต

 

  • กระแสข่าวลือ "ทักษิณ" จะถูกปฏิบัติเป็นพิเศษกว่านักโทษคนอื่นจริงไหม?

ประเด็นนี้ นายวิษณุ เครืองาม ระบุว่า เนื่องจากนายทักษิณอายุ 74 ปี และเป็นกรณีที่มีความเสี่ยง จึงอาจจะได้รับการปฏิบัติแตกต่างจากนักโทษวัยกลางคนทั่วไป ซึ่งตนได้กำชับกรมราชทัณฑ์ให้ดูแลใน 3 เรื่องเป็นพิเศษ คือ

1. ความปลอดภัย นายทักษิณได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างจากคนอื่น เพราะเหตุมีปัจจัยเสี่ยงไม่เหมือนนักโทษอื่น

2. ให้มีความสะดวกตามสมควร แต่ไม่สะดวกมากจนเป็นอภิสิทธิ์ เนื่องจากคาดว่าจะมีคนเข้าเยี่ยมจำนวนมาก

3. ให้มีความสบายตามสมควร เพราะอายุเกิน 70 ปี และมีอาการป่วย คงไม่เหมือนกับคนที่อายุ 25-30 ปี

ส่วนกระแสที่ว่า นักโทษที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไปแล้ว จะให้ไปทำงานที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์แทนนั้น เรื่องนี้แล้วแต่กรมราชทัณฑ์จะเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสม เมื่อผู้สื่อข่าวถามต่ออีกว่า คนที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไปจะมีอะไรพิเศษกว่าจากนักโทษทั่วไป เช่น การอยู่ห้องพิเศษ หรือไม่? นายวิษณุ กล่าวว่า มีโอกาสได้ทั้งนั้น แต่ขอให้ฝ่ายราชทัณฑ์ได้เตรียมการและรายงานมาอีกครั้ง แต่อย่างไรก็ตาม นายทักษิณจะไปกักตัวอยู่บ้านไม่ได้ ถึงอย่างไรก็ต้องเข้าเรือนจำ

ขณะที่ก่อนหน้านี้ "กรมราชทัณฑ์" เปิดเผยถึงกระบวนการจำแนกคัดกรองผู้ต้องขังไว้ว่า แม้จะเป็นกรณีอดีตนายกฯ ราชทัณฑ์ ก็ดำเนินการตามขั้นตอนทั่วไปเหมือนผู้ต้องขังอื่นๆ (ไม่มีขั้นตอนวีไอพี) ทุกอย่างเป็นไปตามระเบียบการจำแนกลักษณะผู้ต้องขัง โดยจะมีการตรวจสอบประวัติ ทำทะเบียนประวัติ และขั้นตอนอื่นๆ ตามกระบวนการปกติ ส่วนเรื่องมาตรการการรักษาความปลอดภัยภายในเรือนจำนั้น อาจติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่มเติม ตรวจสอบอาหาร และควบคุมทุกอย่างให้เข้มงวด

 

  • "ทักษิณ" สามารถเขียนฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษได้ทันทีหรือไม่?

นายวิษณุอธิบายเรื่องนี้ว่า กรณีการ "ขอพระราชทานอภัยโทษ" นั้น ผู้ต้องขังต้องถูกคุมขังในเรือนจำก่อน จากนั้นภายใน 24 ชั่วโมงก็สามารถเขียนฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษได้ โดยขั้นตอนการขอพระราชทานอภัยโทษ คือ เมื่อเดินทางกลับมาถึงไทยเรียบร้อยแล้ว จะถูกนำตัวเข้าสู่ระบบผู้ต้องขังในเรือนจำ เมื่อกระบวนการทุกอย่างเสร็จแล้ว ผู้ต้องขังก็ต้องเขียนฎีกาอธิบายค่อนข้างยืดยาว เพราะเมื่อยื่นไปแล้ว แต่ถ้าไม่มีโปรดเกล้าฯ ลงมา ก็จะยื่นซ้ำอีกไม่ได้ภายในเวลา 2 ปี

ส่วนกรณีประชาชนทั่วไปที่จะเข้าไปเยี่ยมนายทักษิณในเรือนจำนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ปกติสามารถเข้าเยี่ยมได้อยู่แล้ว โดยคนในครอบครัวสามารถเยี่ยมได้ตั้งแต่วันแรก

 

  • เจ้าท่าอากาศยาน-อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เผยขั้นตอนคุมตัวทักษิณเข้าเรือนจำ

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ได้เปิดเผยถึงขั้นตอนการรับตัวนายทักษิณที่ท่าอากาศยานดอนเมือง ว่า เนื่องจากนายทักษิณเป็นบุคคลมีชื่อเสียง ในวันดังกล่าวอาจจะมีประชาชนอยากเข้ามาติดตามสถานการณ์ในพื้นที่จำนวนมาก จึงต้องมีการวางแผนเตรียมการรองรับ ประเมินเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) จะเข้าไปรับตัว และทำบันทึกการจับกุมต่างๆ ตามขั้นตอน โดยคาดว่านายทักษิณจะเดินทางลงที่ท่าอากาศยานดอนเมืองโดยเครื่องบินส่วนตัว

ขณะที่ นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยถึงแนวทางการเตรียมความพร้อมของกรมราชทัณฑ์ในกรณีรับตัวนายทักษิณ ว่า เมื่อทักษิณเดินทางกลับเข้าประเทศไทย "กรมราชทัณฑ์" จะรอดูว่าจะมีคำสั่งหรือหมายศาลคดีใดแจ้งมายังกรมราชทัณฑ์ เพื่อเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะได้เดินทางไปยังเขตพื้นที่ของศาลนั้นๆ หากเป็นคดีที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะควบคุมตัวนายทักษิณมายังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จากนั้นจะควบคุมตัวนายทักษิณเข้าสู่กระบวนการจำแนกคัดกรองผู้ต้องขัง และเนื่องจากนายทักษิณถือเป็น "ผู้ต้องขังสูงอายุ" ก็จะต้องมีการตรวจโรคประจำตัวด้วย โดยสรุปมีดังนี้

  • ตรวจสอบประวัติ ทำทะเบียนประวัติ
  • ตรวจสุขภาพและตรวจโรคประจำตัว หากจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาโรคประจำตัวอย่างต่อเนื่อง จะถูกส่งตัวไปยังหน่วยแพทย์ประจำเรือนจำฯ ที่จะเป็นผู้ใช้ดุลพินิจในการจำแนกผู้ต้องขัง
  • นำตัวไปยังห้องกักโรคเพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ประมาณ 10 วัน
  • จากนั้นเข้าสู่กระบวนการรักษาโรค ย้ายไปยังหอผู้ป่วย (กรอบระยะเวลาของการรักษาโรคไม่ได้มีกำหนดไว้ เป็นหน้าที่ของแพทย์ประจำเรือนจำที่จะประเมินอาการ)