งดออกเสียง

ช่วงนี้ เราได้ยินคำว่า “งดออกเสียง” ดังมาจากรัฐสภาบ่อยครั้ง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในวันประชุมเพื่อพิจารณาคัดเลือกผู้ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งการที่สมาชิกรัฐสภา “งดออกเสียง” นั้น ผู้ที่ติดตามข่าวสารการเมือง ย่อมทราบดีว่ามีผลต่อการนับคะแนนเช่นใด

ผมอยู่ภาคเอกชน ไม่ใช่คอการเมือง รวมทั้งไม่ใช่นักกฎหมาย แต่ก็ลองเอาประเด็นการ “งดออกเสียง” มาพิจารณา เพราะว่าบอร์ดของบริษัทต่างๆ ก็มีการออกเสียงลงคะแนน ในวาระสำคัญต่างๆ และมีกรณีงดออกเสียง ด้วยเหมือนกัน

ผมเคยถามความเห็น ของเพื่อนนักกฎหมายคนหนึ่งว่า การที่กรรมการของบริษัทบางคน “งดออกเสียง” นั้น จะมีผลอย่างไรต่อความรับผิดชอบของกรรมการท่านนั้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีที่มติของบอร์ด ไม่ว่าจะเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ ก็ตาม แต่ว่าต่อมาได้นำไปสู่ความเสียหายของบริษัท และบอร์ดถูกผู้ถือหุ้นฟ้องร้อง อย่างนี้ จะถือว่า “กรรมการคนที่งดออกเสียง” นั้น “รอด” ใช่หรือไม่

คำตอบของเพื่อนนักกฎหมายน่ารับฟังนะครับ เขาตีความว่า การที่บอร์ดคนใด “งดออกเสียง” ก็แปลได้ว่า เขาตัดสินใจที่จะ ไม่ใช้สิทธิ ในการออกเสียงว่า “เห็นชอบ” หรือ “ไม่เห็นชอบ” ในเรื่องนั้นๆ และยอมให้กรรมการคนอื่นเป็นผู้ตัดสินใจ

ดังนั้น เมื่อกรรมการท่านอื่นๆได้ลงมติไปแล้ว ไม่ว่ามติที่ออกมา จะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ก็ต้องแปลว่า กรรมการคนที่งดออกเสียง “ยอมรับ” มตินั้นด้วย เพราะว่าการงดออกเสียง โดยนัยก็คือ ปล่อยให้กรรมการคนอื่นที่ออกเสียง เป็นผู้ตัดสินใจ

การตีความแบบนี้ ถ้ามตินั้นก่อให้เกิดความเสียหายในภายหลัง กรรมการคนที่งดออกเสียง ก็ “ไม่รอด” เหมือนกันครับ ส่วนคนที่ “รอด” แน่ๆ ก็คือคนที่ลงคะแนนเสียง “ไม่เห็นชอบ” กับมตินั้น

ตรรกะแบบนี้ ดูมีเหตุผลน่ารับฟังนะครับ และผมก็ลองค้นหาคำพิพากษา ที่จะยืนยันการตีความลักษณะนี้ แต่ยังไม่พบ ถ้าใครมีคำพิพากษาแบบนั้น ช่วยเผยแพร่ด้วยครับ

คนขี้สงสัยอย่างผม ยังมีคำถามอีก สมมติว่าบอร์ดบริษัท ซึ่งโดยทั่วไปก็มีเพียง 8-10 คน เท่านั้น ถ้าหากวาระนั้นๆ กรรมการหลายคน เช่น 4 คน หรือ 5 คน ต่างก็ “งดออกเสียง” ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม แล้วแบบนี้จะเป็นเช่นใด

เพราะกรรมการที่ออกเสียง “เห็นชอบ” หรือ “ไม่เห็นชอบ” จะเหลือเพียงครึ่งเดียว มติจะใช้บังคับได้หรือไม่ หรือถ้าบอร์ดเกินครึ่ง งดออกเสียง แล้วบอร์ดที่เหลือจะประชุมและตัดสินใจวาระนั้นได้อย่างไร ฯลฯ เป็นต้น

ถ้าเป็นแบบนั้น ก็คงต้องไปดูข้อกฎหมาย และข้อบังคับของบริษัท เป็นกรณีๆไปครับ แต่ส่วนตัวผมคิดว่า คนที่ได้รับเลือกให้เป็นกรรมการของบริษัท มีหน้าที่ต้องเข้าประชุม และ ควรจะต้อง “ออกเสียง” ว่า เห็นด้วย หรือ ไม่เห็นด้วย

ไม่งั้นจะเข้าไปเป็นกรรมการทำไม เพราะผู้ถือหุ้นเขาเลือกเราให้ไปเป็นกรรมการ ก็เพื่อให้ตัดสินใจดูแลประโยชน์ของบริษัท แทนผู้ถือหุ้น ถ้าหากไม่เห็นด้วย ก็ออกเสียงไปเลยว่าไม่เห็นด้วย

แต่ก็ไม่ใช่อย่างนั้นเสมอไปนะครับ เพราะบางกรณี ก็ “สมควร” ที่จะต้อง “งดออกเสียง” เหมือนกัน อย่างเช่นเมื่อพิจารณาแล้ว เห็นว่า มีเหตุอันอาจจะทำให้เราไม่สามารถตัดสินใจได้อย่างอิสระและเป็นกลาง แบบนี้ก็ควรงดออกเสียงครับ

บางกรณี ไม่ใช่เพียงแค่ งดออกเสียง เท่านั้น แต่ไม่สมควรที่จะเข้าไปนั่งในที่ประชุมด้วยซ้ำไป เช่นกรณีที่ตนเองมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ เป็นต้น

ตรงนี้ บางทีกรรมการบางคน ก็อาจจะไม่ทราบด้วยความบริสุทธิ์ใจ ว่าตนเองมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ จึงควรเป็นหน้าที่ของประธานฯ หรือ เลขานุการ ที่จะต้องแจ้งให้ทราบ และขอเชิญท่าน ให้ออกจากที่ประชุมในวาระนั้น

ที่โยงใยกันอีกประเด็นหนึ่งก็คือ นอกจากการ “งดออกเสียง” แล้ว ในวันนั้นที่รัฐสภา ก็มีสมาชิกจำนวนหนึ่ง ที่ไม่ได้เข้าประชุม

เลยทำให้มีคำถามว่า ถ้าเป็นกรรมการบริษัท แต่ไม่ได้เข้าประชุมบอร์ดในวันนั้น และ มติของบอร์ด ได้ก่อให้เกิดความเสียหายของบริษัทในเวลาต่อมา และบอร์ดถูกฟ้องร้อง แบบนี้คนที่ไม่ได้เข้าประชุมจะ “รอด” หรือไม่

ตรงนี้ มีคำตอบที่ชัดเจนในทางกฎหมายบริษัทมหาชน คือ “ไม่รอด” เพราะ กรรมการทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน” แต่มีทางรอดก็คือ กรรมการที่ขาดประชุม จะต้องมีหนังสือแจ้งให้ประธานกรรมการทราบ ภายใน 3 วัน หลังจากมีมติการประชุม ว่าตนเอง “ไม่เห็นด้วย” กับมตินั้น

แต่ถ้าพ้น 3 วันไปแล้ว ยังไม่ได้แจ้ง ก็ไม่รอดครับ เพราะกฎหมายบริษัทมหาชนเขียนไว้เช่นนั้น ส่วนจะต้องรับผิดชอบเท่าเทียมกันกับกรรมการอื่นที่เข้าประชุมหรือไม่ น่าจะอยู่ที่ดุลพินิจ ของศาลเป็นกรณีๆไป

ต้องย้ำอีกทีว่าผมไม่ใช่นักกฎหมาย ที่เขียนมาเป็นเพียงเพื่อหยิบยกประเด็นที่น่าสนใจ มาเล่าสู่กันฟังเท่านั้น เพราะหลักทั่วไปเขาว่ากันว่า เราจะต่อสู้โดยอ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้ ดังนั้นเมื่อมีอะไรก็เอามาแชร์ๆ และช่วยกันคิดครับ

การ “งดออกเสียง” ในรัฐสภา ในวันนั้น ไม่น่าจะมีประเด็นอะไรในทางกฎหมาย เพราะเป็นไปตามข้อบังคับของรัฐสภา  และการที่สมาชิกรัฐสภา “ขาดประชุม” ย่อมเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ เช่นอาจจะเจ็บป่วย หรือมีธุระสำคัญมากๆ เป็นต้น

ผมเพียงแต่ได้ยินคำถาม จากคอการเมืองเท่านั้นเองว่า ทำไมสมาชิกจึงขาดประชุม มากกว่า 40 คนพร้อมๆกันในวันนั้น ซึ่งคำถามนี้ ก็ไม่รู้จะให้ใครตอบ

ให้ท่านไปตอบกันเอง ก็แล้วกันครับ