"ส.ว." ตีกรอบเลือกนายกฯ มาตรฐานเดียวเลือก องค์กรอิสระ

"ส.ว." ตีกรอบเลือกนายกฯ มาตรฐานเดียวเลือก องค์กรอิสระ

"สมชาย" เชื่อ ส.ว. ใช้เกณฑ์เลือกนายกฯ แบบเดียวองค์กรอิสระ -ตรวจสอบจริยธรรม เชิงลึก พร้อมหนุนตัดสิทธิ "แคนดิเดตนายกฯ" ถูกตีตกรอบแรก โหวตรอบสอง หวั่นมีปัญหาขัดรธน.

นายสมชาย แสวงการ ส.ว. ฐานะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) เปิดเผยว่า ตนได้รับแจ้งว่าในวันที่ 13 กรกฏาคม ที่จะมีการประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตนายกฯ นั้น ในวงประชุม 3 ฝ่าย จะเปิดให้มีการอภิปรายในรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง จนถึงเวลา 17.00 น. ก่อนจะลงมติ อย่างไรก็ดีในกรณีของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล ฐานะแคนดิเดตนายกฯ ที่มติ 8 พรรคร่วมรัฐบาลเตรียมเสนอชื่อต่อที่ประชุมรัฐสภา โดยขณะนี้มีประเด็นเรื่องถูกตรวจสอบคุณสมบัติกรณีถือหุ้นไอทีวีนั้น ตนมองว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องส่งศาลรัฐธรมนูญเพื่อชี้ขาด เนื่องจาก กกต. ไม่มีอำนาจตัดสินด้วยตนเองและประเด็นดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อการตัดสินใจของส.ว.ที่จะโหวตเห็นชอบหรือไม่นั้น ส่วนตัวเชื่อว่า ส.ว. จะพิจารณาบนหลักการของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560  มาตรา 272 ซึ่งผ่านการทำประชามติ 15.2 ล้านเสียง รวมถึงใช้หลักการที่เทียบเคียงกับการสรรหากรรมการองค์กรอิสระ ต้องฟังข้อมูลและฟังการแสดงวิสัยทัศน์ รวมถึงประเด็นของ กกต. ที่จะส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ

 

“ที่มีข่าวว่า ส.ว. 90% จะงดออกเสียงโหวตนายพิธาเป็นนายกฯ นั้น ผมไม่ทราบ  ผมยังเชื่อว่า ส.ว.จะใช้ดุลยพินิจต่อบ้านเมืองและประเทศชาติ รวมถึงชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน เพราะกรณีเลือกนายกฯไม่ได้เลือกในระบอบประธานาธิบดี แต่เราเลือกที่รัฐสภาเป็นผู้เลือก ดังนั้นต้องคำนึงถึงการทำหน้าที่หลังจากได้รับเลือกด้วย หากทำงานไม่มีปัญหาก็เลือก แต่หากมีปัญหา พาประเทศไปสู่วิกฤต พาไปสู่การเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน ส.ว. 250 คนต้องร่วมรับผิดชอบ”นายสมชาย กล่าว

นายสมชาย กล่าวด้วยว่า สำหรับดุลยพินิจของส.ว. ตนมองว่าจะใช้หลักเกณฑ์เหมือนกับการเลือกกรรมการองค์กรอิสระ ที่ต้องตรวจสอบถึงพฤติกรรมและจริยธรรม ซึ่งเป็นการตรวจสอบเชิงลึก ที่จะทำให้เห็นว่าการเข้าไปทำหน้าที่ไม่น่าไว้วางใจหรือไม่ หากไม่น่าไว้วางใจจะไม่ให้ความเห็นชอบ ซึ่งส.ว.จะใช้มาตรฐานนี้ในการเลือกนายกฯเช่นกัน โดยส.ว.แต่ละคนได้เก็บข้อมูลและจะประกาศการตัดสินใจวันที่ 13 กรกฏาคม

 

เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ต่อการเลื่อนการโหวตนายกฯ เพื่อรอฟังคำชี้ขาดจากองค์กรที่เกี่ยวข้อง นายสมชาย กล่าวว่า ยังไม่มีข้อสรุปในเรื่องดังกล่าว เพราะเป็นความเป็นของ ส.ว.คนเดียวเท่านั้น แต่หากส.ว.หารือในที่ประชุมจะรับฟังเหตุและผลที่จะเลื่อนหรือไม่ และต้องใช้มติของที่ประชุมรัฐสภา

 

 

เมื่อถามถึงข้อเสนอของส.ว.ต่อกรณีที่ไม่สามารถส่งชื่อนายพิธาเพื่อโหวตซ้ำในรอบสอง หากรอบแรกไม่ได้รับความเห็นชอบ นายสมชาย กล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ ทั้งนี้ในกรณีดังกล่าวเป็นการหารือลับในวงเล็ก ว่า แม้ไม่ได้เขียนไว้ จะใช้ประเพณีปกครองแบบใด เพราะส.ว.กังวลว่าจะโหวตไปเรื่อยๆ  และเป็นประเด็น เช่น รอบแรก ไม่ได้ แต่โหวตครั้งที่ 2 กลับได้ จากนั้นมีผู้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญว่าขัดรัฐธรรมนุญหรือผิดจะเป็นปัญหาตามมา เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น คือ ทั้งการนำรายชื่อคณะรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ ทำงานไป3 เดือน  แต่ประเด็นที่ส่งศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดอาจทำให้การทำงานที่เกิดขึ้นนั้นเป็นโมฆะได้

เมื่อถามว่ามองว่าคะแนนโหวตของส.ว.จะเป็นชนวนพลิกขั้วรัฐบาลหรือไม่ นายสมชาย กล่าวว่า  ส.ว.ไม่ยุ่ง เพราะเป็นเรื่องที่นักการเมืองต้องไปตกลงกัน ว่าจะเสนอชื่อใครเป็นนายกฯ ไม่ว่าจะเป็นนายเศรษฐา ทวีสิน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ส.ว.ไม่ยุ่งเกี่ยวด้วย.