14 กลุ่ม "ด้อมส้ม" รวมตัวหน้าสภา 13 ก.ค. หนุน "พิธา" นายกฯ

14 กลุ่ม "ด้อมส้ม" รวมตัวหน้าสภา 13 ก.ค. หนุน "พิธา" นายกฯ

14 กลุ่ม "ด้อมส้ม" รวมตัวหน้ารัฐสภา 13 ก.ค. หนุน "พิธา" นายกฯ ตามเจตจำนงค์ ประชาชน ด้าน ตำรวจนครบาล เข้ม จุดเสี่ยง กทม. -ศาลากลาง จัดที่คุมขังชั่วคราว 3 แห่ง ส่วน 3 เหล่าทัพ เตรียมกำลังในที่ตั้ง พร้อมสนับสนุน

แหล่งข่าวความมั่นคง ระบุถึง การเตรียมความพร้อมรับมือโหวตเลือกนายกฯ ที่รัฐสภา วันที่ 13 ก.ค.นี้  ว่า พบความเคลื่อนไหวของกลุ่มมวลชน ที่คาดว่าจะมีการรวมตัวเพื่อมาแสดงเจตจำนงค์บริเวณลานหน้ารัฐสภา เพื่อให้ที่ประชุมรัฐสภา สนับสนุนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์  ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีขึ้นเป็น นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 

 

14 กลุ่ม "ด้อมส้ม" รวมตัวหน้ารัฐสภา 13 ก.ค. สนุน พิธา เป็นนายก 

1 กลุ่มแฟนคลับพรรคก้าวไกล (ด้อมส้ม)  นำโดย นางนภัสสร บุญรีย์

2 กลุ่มทะลุฟ้า  นำโดย นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา

3 กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นำโดย น.ส.กัลยกร สุนทรพฤกษ์

4 กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย  นำโดย นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข

5 กลุ่มเครือข่ายแรงงาน นำโดย น.ส.ธนพร วิจันทร์

6 คณะก้าวหน้า นำโดย น.ส.พรรณิกา วาณิช

7 กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย นำโดย นายกรกช แสงเย็นพันธ์

8 กลุ่ม iLaw  นำโดย นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์

9 กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก  นำโดย น.ส.ชุมาพร แต่งเกลี้ยง

10 กลุ่มทะลุวัง นำโดย น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์

11 กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ นำโดย นายโสภณ สุรฤทธิ์ธำรง

12 กลุ่มการ์ด  We Volunteer นำโดย นายธนากร มูลถวิล

13 กลุ่มเพื่อนกัญปฏิวัติ นำโดย นายจิรภาส กอรัมย์

14 กลุ่มล่องนภา ประมาณ  น.ส. มาริสา เพศยนาวิน

ขณะที่ พล.ต.ต.โชคชัย งามวงศ์ รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล ในฐานะกำกับดูแลงานฝ่ายความมั่นคง ได้สั่งการให้ กองบังคับการตำรวจนครบาล 1-9  (บก.น.1-9 ) กำหนดจุดเสี่ยง พื้นที่เฝ้าระวัง จุดระดมพล  เพื่อเตรียมแผนรองรับ กรณีเกิดความวุ่นวาย ทำลายสถานที่ราชการ สถานที่สำคัญ เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เช่น พ่นสี  ก่อกวน ก่อความวุ่นวาย

บก.น.1  รับผิดชอบ 9 สถานี และ 1 กองกำกับการสืบสวน พื้นที่เฝ้าระวัง เช่น  ทำเนียบรัฐบาล นางเลิ้ง เขตพระราชฐาน วัดพระแก้ว กระทรวงกลาโหม สนามหลวง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ลานคนเมือง อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แยกดินแดน หน้า ร.1 รอ. รัฐสภา แยกเกียกกาย ถนนทหาร 

บก.น.2  มีเขตรับผิดชอบ 11 สถานี และ 1 กองกำกับการสืบสวน พื้นที่เฝ้าระวัง เช่น
สนามบินดอนเมือง หลักสี่ ศูนย์ราชการ กกต. ศาลรัฐธรรมนูญ จตุจักร หมอชิต สถานีกลางบางซื่อ 5 แยกลาดพร้าว รัชโยธิน วงเวียนบางเขน

บก.น.4  รับผิดชอบ 8 สถานี และ 1 กองกำกับการสืบสวน พื้นที่เฝ้าระวัง เช่น หน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง  โชคชัย 4 ลาดพร้าว 

บก.น.5  มีเขตรับผิดชอบ 9 สถานี และ 1 กองกำกับการสืบสวน พื้นที่เฝ้าระวัง เช่น ใต้สถานีบีทีเอสอุดมสุข แยกบางนา สวนลุมพินี 

บก.น.6 รับผิดชอบ 8 สถานี และ 1 กองกำกับการสืบสวน พื้นที่เฝ้าระวัง เช่น หน้าหอศิลป์  sky walk  เซ็นทรัลเวิลด์ แยกศาลาแดง ศาลพระพรหม แยกปทุมวัน 

บก.น.7 มีเขตรับผิดชอบทั้งหมด 11 สถานี และ 1 กองกำกับการสืบสวน พื้นที่เฝ้าระวัง เช่น ศาลาแดง ธรรมศาลา พุทธมณฑลสาย 1-4 วงเวียนใหญ่

บก.น.8 มีเขตรับผิดชอบทั้งหมด 11 สถานี และ 1 กองกำกับการสืบสวน  พื้นที่เฝ้าระวัง เช่น วงเวียนใหญ่ ฝั่ง บุปผาราม

นอกจากนี้ ในส่วนต่างจังหวัด กำหนดเฝ้าระวัง ศาลากลางจังหวัดทั่วประเทศ 

ขณะที่ 3 เหล่าทัพ ได้เตรียมกำลังทหาร ไว้สนับสนุนไว้ในที่ตั้ง โดยเบื้องต้นให้เป็นหน้าที่ของตำรวจ ส่วนการหยิบมาตราการใดๆมาบังคับใช้ ให้คำนึงสถานการณ์หน้างาน และพฤติกรรมของผู้ชุมนุม เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย โดยเฉพาะบริเวณหน้ารัฐสภา อำนวยความสะดวกการโหวตนายกฯลุล่วงไปด้วยดี

ก่อนหน้านี้  พล.ต.ต.สมควร พึ่งทรัพย์ รอง ผบช.น. ได้มีหนังสือคำสั่ง ใช้สถานที่ควบคุมของ สน.ทุ่งสองห้อง, สน.ฉลองกรุง, สน.จรเข้น้อย เป็นสถานที่ควบคุมพิเศษเฉพาะคราว ตั้งแต่วันที่ 1 - 31 ก.ค.66 หรือจนกว่าจะเสร็จสิ้นภารกิจ โดยมอบหมายให้ พ.ต.อ.วิชัย แดงประดับ รอง ผบก.สส.บช.น.  เป็นนายตำรวจผู้ประสานการปฏิบัติ

สืบเนื่องจากสถานการณ์ด้านการข่าวปรากฎข้อมูลอันน่าเชื่อถือว่า ได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมที่มีความเห็นต่างทางการเมืองและกลุ่มแนวร่วมอื่นๆ ได้นัดรวมกลุ่มจัดกิจกรรมชุมนุมภายในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีลักษณะใช้ความรุนแรง และไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร นั้น

และเป็นไปตามมาตรการรักษาความสงบเรียบร้อย กรณีที่มีการจับกุมตัวผู้ต้องหาเป็นจำนวนมากเพื่อให้การดำเนินคดีผู้ต้องหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเกิดความปลอดภัย อาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือเกิดอันตรายประการอื่น