แผน 2  “ส.ว.” เซตเกม “พลิกขั้ว”   อ้างสูตร“รัฐบาลปรองดอง”

แผน 2  “ส.ว.” เซตเกม “พลิกขั้ว”   อ้างสูตร“รัฐบาลปรองดอง”

ฉากทัศน์ที่ “ส.ว.” ฐานะฝั่งขั้วอำนาจเก่า ที่พยายามเป็น “นักอนุรักษนิยม”  คือ เป็นตัวแปรให้เกิดการพลิกขั้วการเมือง สิ่งที่หวังคือ ก่อรูป "รัฐบาลปรองดอง" ที่ไม่มี ก้าวไกล อยู่ในสมการ

ตามวาระของรัฐสภา ที่กำหนดนัด “โหวตนายกรัฐมนตรี” นัดแรก วันที่ 13 กรกฏาคมนี้ ต้องจับตาการออกเสียงของ “ฝั่งขั้วอำนาจเดิม” ว่าจะโหวตเห็นชอบ  “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” แคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นผู้ที่  8 พรรคร่วมรัฐบาล 312 เสียง  สนับสนุนเป็นนายกฯ คนต่อไปหรือไม่


ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 272 กำหนดเงื่อนไขไว้เป็นสำคัญ คือ ต้องได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่ คือ 750 เสียง แบ่งเป็น  ส.ว. 250 เสียง และ ส.ส. 500 เสียง (แม้ขณะนี้จะมีส.ส.ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 497 คน เพราะยังไม่ได้กล่าวปฏิญาณตนต่อที่ประชุมสภาฯ แต่วันที่ 12 กรกฏาคม จะมีการประชุมสภาฯ โดยวาระจะให้ ส.ส. อีก 3 คน คือ สะถิระ เผือกประพันธุ์ ส.ส.ชลบุรี พรรคพลังประชารัฐ และ 2 ส.ส.บัญชีรายชื่อ จาก พรรคก้าวไกล 1 คนและ พรรครวมไทยสร้างชาติ 1 คน กล่าวปฏิญาณตนเพื่อเข้ารับหน้าที่ ก่อนวันโหวตนายกฯ ได้)

อย่างที่ทราบว่า ส.ส. ฝั่ง 8 พรรคร่วมรัฐบาล ขณะนี้ มี 312 คน หัก “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ  เพราะต้องทำหน้าที่เป็นประธานรัฐสภา ซึ่งตามหลักแล้วต้องวางตัวเป็นกลาง จะเหลือ 311 เสียง ดังนั้น หากคาดหวัง ส่ง “พิธา” เป็นนายกฯ​ให้ได้ ตั้งแต่รอบแรก ต้องหาเสียงมาเติม อีก 65 เสียง หรือไม่ต่ำกว่านั้น

แผน 2  “ส.ว.” เซตเกม “พลิกขั้ว”   อ้างสูตร“รัฐบาลปรองดอง”

หากพิจารณาจาก “ส.ส.” ใน 11 พรรคร่วม ที่ถูกวางตัวให้เป็น “ฝ่ายค้าน” ที่มี 188 เสียง อาจมีเพียง 2-3 เสียงที่โหวตให้ “พิธา” ส่วนที่เหลือแล้ว ต่างมีจุดยืนที่ชัดเจนว่า ไม่สนับสนุน “พรรคการเมือง” ที่มีนโยบายแก้มาตรา 112  ดังนั้นจึงยากที่จะคาดหวังได้เสียง “ส.ส.” มาเติม

ดังนั้นต้องจับตาการออกเสียงของ “ตัวแปร” คือ ส.ว. ที่ขณะนี้ ถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ค้านหัวชนฝา “ไม่เอาก้าวไกล”  กับกลุ่มที่ “สนับสนุน-พิธา เป็นนายกฯ” 

ในกลุ่มที่ไม่เอา “พรรคก้าวไกล"​ หมายรวมถึงไม่เอา “พิธา” ด้วยเช่นกัน และมีความพยายามสร้างฉากทางการเมืองใหม่ คือผลักพรรคก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน เหตุผลหลัก คือ นโยบายการแก้ไขมาตรา 112  ปฏิรูปกองทัพ เลิกเกณฑ์ทหาร  ยุบ กอ.รมน. โดยกลุ่มนี้ถือเป็น “ส.ว.” กลุ่มใหญ่  

แผน 2  “ส.ว.” เซตเกม “พลิกขั้ว”   อ้างสูตร“รัฐบาลปรองดอง”

ขณะที่กลุ่มสนับสนุน “พิธา” คือ กลุ่มที่เคยผิดหวังจาก “ขั้วอำนาจเก่า” ผสมกับ “กลุ่มปิดสวิซต์ ส.ว.”  ที่คาดการณ์มีประมาณไม่เกิน 20 เเสียง

 

ในแง่ของการ “โหวต” ที่ ส.ว. แสดงเจตนาส่วนใหญ่ ไม่เอา “ก้าวไกล-พิธา” จึงทำให้ขั้ว 8 พรรคร่วมรัฐบาลเตรียมแผนสำรอง เบื้องต้นคือ กำหนดวันโหวต นายกฯ ครั้งที่ 2 และ ครั้งที่ 3 โดยครั้งที่2 จะเกิดขึ้นในวันที่ 19 กรกฏาคม และครั้งที่ 3 คือ วันที่ 20 กรกฏาคม 

 

เหตุที่ต้องเว้นระยะห่างจากครั้งแรกกับครั้งที่สอง เพราะมองว่าจำเป็นต้องมีการหารือหลายรอบ และหลายครั้ง ว่าเงื่อนไขเพียงพอที่จะเปลี่ยนตัว “แคนดิเดตนายกฯ” ที่เสนอต่อรัฐสภาหรือไม่ 

ปัจจัยที่จะนำมาพิจารณา คือ “ระยะห่างของเสียงโหวต” เมื่อวัดกับฐาน 376  พร้อมทั้งโอกาสของสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองจากกลุ่มด้อมส้ม ที่จะยอม ลดแรงกดดัน ทั้งต่อตัว “พรรคก้าวไกล” หรือ “พรรคร่วมรัฐบาล” หรือไม่ รวมถึง เงื่อนไขที่ ส.ว.ไม่อาจยอมรับได้นั้น ถูกลดเพดาน หรือถอยไปมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะการแก้ไข มาตรา 112 

เป็นที่คาดหมายว่า ครั้งแรก “พิธา” ไม่ได้ หากปรับเงื่อนไข และไม่เตะโครงสร้างทางอำนาจ รวมถึงประกาศชัดเจน อาจเสนอชื่อ “พิธา” อีกครั้ง เพื่อลองดูว่า จะได้รับความเห็นชอบหรือไม่

แผน 2  “ส.ว.” เซตเกม “พลิกขั้ว”   อ้างสูตร“รัฐบาลปรองดอง”

ทว่า ใน “ฝั่งส.ว.” มีท่าทีที่ชัดเจนจากแกนนำกลุ่มที่นั่งเป็นวอร์รูม “วิปวุฒิสภา”  มองว่า เพื่อความเหมาะสม ไม่ควรเสนอชื่อคนที่ “ถูกปัดตก” กลับมาอีก โดยยึดบรรทัดฐานของการเลือก “กรรมการองค์กรอิสระ” แต่หาก “ฝ่ายการเมือง”​ ยัง ดันทุรัง สิ่งที่ ส.ว. จะทำคือ “ยืนยันต่อความไม่ไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่ง” 

 

ส่วนในการโหวตครั้งที่ 3 ซึ่งนัดในวันถัดไปจากวันโหวตครั้งที่ 2 คาดหมายกันว่า จะหมายถึงการเปลี่ยนตัว “พระเอก” ที่เสนอต่อรัฐสภา ซึ่งต้องจับตาว่าจะ “พลิกขั้ว” ทางการเมืองหรือไม่ 

 

โดยฉากทัศน์ที่ “ส.ว.” ฐานะฝั่งขั้วอำนาจเก่า ที่พยายามเป็น “นักอนุรักษนิยม”  คือ เป็นตัวแปรให้เกิดการพลิกขั้วการเมือง เพราะได้แสดงท่าทียอม “คนจากฝั่งเพื่อไทย” มากกว่าก้าวไกล และเรียกร้องให้ สลัด “ก้าวไกล” ออกจากการได้อำนาจฝ่ายบริหารไปครอบครอง

ดังนั้นผลลัพธ์ที่อาจจะเกิดขึ้นก็คือ โดดเดี่ยว “ก้าวไกล” และดึงอีก 188 เสียง เข้าร่วมเป็นรัฐบาลที่พวก “ส.ว.” เชื่อว่าจะเป็น “รัฐบาลแห่งชาติ-รัฐบาลปรองดอง” ในสูตรที่ดีที่สุด.