สภาเปิดแล้ว แต่ความเชื่อมั่นยังไม่มา

สภาเปิดแล้ว แต่ความเชื่อมั่นยังไม่มา

การเปลี่ยนนโยบายย่อมมีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เป็นไปตามนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา ซึ่งมีหลายนโยบายเศรษฐกิจที่รัฐบาลใหม่จะต้องเข้ามาพิจารณา ดังนั้นความไม่ชัดเจนของการจัดตั้งรัฐบาลจึงมีผลต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ

การเลือกตั้งทั่วไปมีขึ้นเมื่อวันที่ 14 พ.ค.2566 และมีพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา พ.ศ.2566 ตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค.2566 เป็นต้นไป โดยในวันที่ 4 มิ.ย.2566 ก่อนที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จะเข้ารับหน้าที่จะต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญมาตรา 115 ดังต่อไปนี้ “ข้าพเจ้าขอปฏิญาณว่า ข้าพเจ้าจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

ภารกิจแรกของ ส.ส.ในวันที่ 4 มิ.ย.2566 เพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นตำแหน่งที่จะทำหน้าที่ประธานรัฐสภาด้วย โดยมีหน้าที่และอํานาจดําเนินกิจการของสภาให้เป็นไปตามข้อบังคับ ในขณะที่รองประธานสภามีหน้าที่และอํานาจตามที่ประธานสภามอบหมาย และปฏิบัติหน้าที่แทนประธานสภาเมื่อประธานสภาไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ รวมทั้งประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้ทำหน้าที่แทนจะต้องวางตนเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่

ในช่วงที่ผ่านมามีสิ่งที่น่ากังวล คือ การที่พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยต่างต้องการเสนอชื่อเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผลต่อเสถียรภาพการเจรจาจัดตั้งรัฐบาล จึงทำให้เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เพิ่มขึ้นมาและอาจส่งผลต่อการจัดตั้งรัฐบาล เป็นปัจจัยที่กังวลเพิ่มขึ้นมาจากหลายปัจจัย เช่น ปัจจัยคุณสมบัติของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีกรณีการถือหุ้นบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) และปัจจัยการเปลี่ยนขั้วการจัดตั้งรัฐบาล

บริษัทไทยและบริษัทต่างชาติต่างจับตามองสถานการณ์การเมืองของประเทศไทยอย่างใกล้ชิด หลังจากที่มีการเลือกตั้งมาแล้ว 1 เดือนครึ่ง แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่า พิธา จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 แบบ 100% เพราะช่วงที่ผ่านมาต่างมีปรากฏการณ์เตรียมแผนกรณีพรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ รวมทั้งการมีชื่อของ เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย รวมถึง พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคพลังประชารัฐ จึงสะท้อนถึงความไม่แน่นอนของการเมืองปัจจุบัน

ถึงแม้ว่าการเปลี่ยนรัฐบาลจะไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจ โดยประเทศไทยยังคงยึดหลักเศรษฐกิจเสรี แต่การเปลี่ยนนโยบายย่อมมีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เป็นไปตามนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา ซึ่งมีหลายนโยบายเศรษฐกิจที่รัฐบาลใหม่จะต้องเข้ามาพิจารณา ไม่ว่าจะเป็นนโยบายด้านภาษี เช่น การปรับโครงสร้างภาษี การจัดเก็บภาษีซื้อขายหุ้น รวมถึงนโยบายด้านการลงทุน เช่น การส่งเสริมตั้งโรงงานแบตเตอรี่ ดังนั้นความไม่ชัดเจนของการจัดตั้งรัฐบาลจึงมีผลต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ