เทียบหมัดต่อหมัด ก้าวไกล VS เพื่อไทย ท้าชิง ‘ประธานสภา’

เทียบหมัดต่อหมัด ก้าวไกล VS เพื่อไทย ท้าชิง ‘ประธานสภา’

ศึกชิงประธานสภาฯ แข่งเดือด “พรรคร่วม” จ่อ “Free Vote” ให้สภาฯ ตัดสิน ล่าสุด “ก้าวไกล” ไม่ผิดโผ ส่ง “หมออ๋อง” ชิงตำแหน่ง ด้าน “เพื่อไทย” ดัน “พ่อมดดำ” สุชาติ ตันเจริญ ชิงประธานสภาอีกหน

Key Points:

  • ตำแหน่ง “ประธานสภา” หรือ “ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ” ดูจะไม่จบลงง่ายๆ หลังเพื่อไทยแถลงมติร่วมในที่ประชุมว่า ต้องการตำแหน่งประธานสภาด้วยสูตร “14+1”
  • “ก้าวไกล” มีมติส่ง “หมออ๋อง” ส.ส. พิษณุโลก ชิงตำแหน่ง ด้าน “เพื่อไทย” มีกระแสหนาหูว่า “เจ้าพ่อบ้านริมน้ำ” สุชาติ ตันเจริญ ได้รับการเสนอชื่อ
  • ด้วย “คอนเนกชัน” ของสุชาติที่เดินทางบนถนนการเมืองมากกว่า 30 ปี ทำให้มีแต้มต่อมากกว่าปดิพัทธ์ ซึ่งท้ายที่สุดหากทั้งสองพรรคไม่สามารถตกลงกันได้ และต้อง “Free Vote” ในสภาฯ นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของรอยร้าวระหว่างสองพรรคร่วมหรือไม่

 

ศึกชิงประธานสภาว่าที่รัฐบาลก้าวไกล ดูจะไม่จบลงง่ายๆ เมื่อผลการประชุม ส.ส. พรรคเพื่อไทยมีมติอย่างเป็นทางการออกมาว่า เพื่อไทยขอยึดหลักการ “14+1” คือรัฐมนตรี 14 เก้าอี้ และประธานสภา มองว่า ก้าวไกลและเพื่อไทยมีคะแนนเสียงห่างกันเพียง 10 คะแนน พรรคเพื่อไทยจึงขอยึดตามเจตนารมณ์เดิม คือ รัฐมนตรี 14 เก้าอี้ และประธานสภา หลังสูตรแบ่งโควตาก้าวไกลได้ตำแหน่งประมุขฝ่ายบริหารไปแล้ว

ภายหลังการแถลงข่าวสิ้นสุดลง กระแส “ตัวเต็ง” ชิงตำแหน่งประธานสภาก็กลับมาอยู่ในความสนใจอีกครั้ง โดยฝั่งก้าวไกลเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ส่ง “หมออ๋อง” ปดิพัทธ์ สันติภาดา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต จ.พิษณุโลก ชิงประธานสภาคนต่อไป ด้านเพื่อไทยมีชื่อ “เจ้าพ่อบ้านริมน้ำ” สุชาติ ตันเจริญ ติดโผอีกครั้ง หลังจากสมัยที่แล้วได้เก้าอี้รองประธานสภาไปครอง เอาชนะ “เยาวลักษณ์ วงศ์ประภารัตน์” แคนดิเดตจากพรรคก้าวไกลฉิวเฉียดเพียง 2 แต้ม

“กรุงเทพธุรกิจ” เปิดประวัติ ตัวเต็งประธานสภาในว่าที่รัฐบาลพิธา  จากทั้งสองพรรค “ก้าวไกล Vs เพื่อไทย” แบบหมัดต่อหมัด 

เทียบหมัดต่อหมัด ก้าวไกล VS เพื่อไทย ท้าชิง ‘ประธานสภา’

  • “หมออ๋อง” ส.ส. ล้มแชมป์เก่า-ตีแผ่กองทัพ

ปดิพัทธ์ สันติภาดา ปัจจุบันอายุ 41 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรีคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวิทยาลัยศาสนศาสตร์ทรีนีตี้ ประเทศสิงคโปร์ ก่อนลงสนามการเมือง ปดิพัทธ์ทำงานในสายปฏิบัติการ ดำรงตำแหน่งสัตวแพทย์ปฏิบัติการ 2 ปี รวมถึงทำงานด้านการพัฒนาเยาวชนกับสมาคมนักศึกษาคริสเตียนไทย ระหว่างปี 2548-2561

“หมออ๋อง” ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคอนาคตใหม่ปี 2562 เป็นครั้งแรก ในเขต 1 จ.พิษณุโลก โดยท้าชิงกับแชมป์เก่า 3 สมัยอย่าง น.พ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ปดิพัทธ์ชนะการเลือกตั้ง และในการเลือกตั้งปี 2566 เขาก็สามารถรักษาเก้าอี้ ส.ส. ไว้ได้เป็นสมัยที่สอง

นอกจากการ “ล้มแชมป์” ปดิพัทธ์ยังเป็นที่รู้จักจากผลงานการอภิปรายในสภา โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการปฏิรูปกองทัพ ตีแผ่การทุจริตของกองทัพผ่านโครงการกู้บ้านพักทหาร-ปมกราดยิงโคราช ไล่เรียงที่มาที่ไปของเหตุการณ์ที่เกิดจากต้นตอการทุจริต

  • “บ้านริมน้ำ” ตัวเต็งอีกหน “พ่อมดดำ” ม้ามืดประธานสภา?

สุชาติ ตันเจริญ ส.ส. ฉะเชิงเทรา 9 สมัย คุ้นหน้าคุ้นตาเป็นอย่างดีเพราะอยู่ในถนนการเมืองมามากกว่า 30 ปี ปัจจุบัน “เจ้าพ่อบ้านริมน้ำ” ย้ายกลับมาซบเพื่อไทยอีกครั้ง หลัง “พลิกขั้ว” ร่วมงานกับพลังประชารัฐในสมัยที่แล้ว ดำรงตำแหน่งรองประธานสภาคนที่ 1 ในรัฐบาลประยุทธ์

สำหรับประวัติส่วนตัว สุชาติจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยซานโฮเซสเตท สหรัฐอเมริกา และระดับปริญญาโท ด้านการบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยนอเทรอดามนามูร์ สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันอายุ 65 ปี เคยดำรงตำแหน่งสำคัญๆ มาแล้วมากมาย อาทิ รองหัวหน้าพรรคชาติไทย และรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย รวมทั้งยังเป็น 1 ใน ส.ส. กลุ่ม 16 ร่วมกับเนวิน ชิดชอบ, สมพงษ์ อมรวิวัฒน์, สนธยา คุณปลื้ม เป็นต้น

ตลอดชีวิตการทำงานการเมือง สุชาติสังกัดพรรคการเมืองมาแล้วรวม 11 พรรค เป็นที่เคารพนับถือ-รู้จักมักคุ้นกับนักการเมืองทุกขั้ว มี “คอนเนกชัน” มากมาย หากลงชิงตำแหน่งประธานสภาแบบ “Free Vote” ก็มีความเป็นไปได้ว่า สุชาติอาจได้รับคะแนนเสียงจากแต้มต่อเรื่องบารมีทางการเมืองที่สะสมมายาวนาน 

ล่าสุด เสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา ให้ความเห็นกระแสข่าวดังกล่าวว่า ตนมองว่า “สุชาติ” มีความเหมาะสมทั้งประสบการณ์ทำงานและความสามารถ หากเทียบกับ “ปดิพัทธ์” สุชาติเหมาะนั่งประธานสภามากกว่า

แต่ถึงที่สุดแล้วตำแหน่งประมุขฝ่ายนิติบัญญัติจะตกเป็นของใคร ก้าวไกล-เพื่อไทยจะถอยกลับมาตกลงส่งเพียง 1 รายชื่อหรือไม่ หรือสุดท้ายแล้วจะเลือก “Free Vote” ในสภาคงต้องติดตามกันต่อไป ซึ่งหลายฝ่ายก็มีการวิเคราะห์ว่า หากทั้งสองพรรคร่วมไม่สามารถตกลงกันได้ นี่จะไม่ใช่แค่การลงชิงตำแหน่งทางการเมือง แต่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของ “รอยร้าว” ระหว่างก้าวไกล-เพื่อไทย

 

อ้างอิง: PPTVThai PBS