ทภ.4 ยก อนุสัญญาระหว่างประเทศ โต้ ใช้กฎหมายปิดปาก ปม แบ่งแยกดินแดน

ทภ.4 ยก อนุสัญญาระหว่างประเทศ โต้ ใช้กฎหมายปิดปาก ปม แบ่งแยกดินแดน

ทภ.4 ยก อนุสัญญาระหว่างประเทศ ไม่เลือกปฏิบัติเชื้อชาติ ศาสนา โต้ ใช้กฎหมายปิดปาก นักศึกษา ปม แบ่งแยกดินแดน ชี้ การใช้สิทธิเสรีภาพ อยู่ภายใต้กฎหมายและบูรณภาพแห่งดินแดน

พลตรี ปราโมทย์  พรหมอินทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 และ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ระบุว่า จากกรณีขบวนการนักศึกษาแห่งชาติได้จัดกิจการเสวนาเรื่องการกำหนดใจตนเอง (Self Determination) กับสันติภาพปาตานี พร้อมได้ทำแบบจำลอง “การลงประชามติเพื่อแบ่งแยกดินแดนเป็นเอกราชโดยไม่ผิดกฎหมาย” โดยมีนักการเมือง, สมาชิกพรรคการเมือง นักวิชาการภาคประชาสังคมและเครือข่ายนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมพร้อมกับได้มีการไลฟ์สดผ่านสื่อโซเชียล สร้างกระแสในสังคมอย่างกว้างขวาง ดังที่ได้ปรากฏเป็นข่าวไปแล้วนั้น

ภายหลัง กอ.รมน.ภาค 4 สน. ได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษกับพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีกับบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้มีการออกมาแสดงความคิดเห็นกล่าวอ้างว่าเป็นเพียงกลุ่มเยาวชนที่แสดงความคิดเห็นทางวิชาการ จึงควรใช้หลักรัฐศาสตร์มาสร้างความเข้าใจเพราะการใช้กฎหมายปิดปาก (SLAPP LAW) ถือเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ จึงขอสร้างความเข้าใจ ดังนี้

พลตรี ปราโมทย์ กล่าวว่า ด้านเหตุผลและความจำเป็นในการบังคับใช้กฎหมาย ด้วยประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทั้งนี้ได้ให้สิทธิและเสรีภาพกับปวงชนชาวไทยทุกเชื้อชาติ ศาสนา ด้วยความเสมอภาคและไม่เลือกปฏิบัติเพื่อให้พี่น้องประชาชนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข ให้การเคารพและยอมรับในความแตกต่างภายใต้มิติของความหลากหลายในสังคมพหุวัฒนธรรม โดยตลอดเวลาที่ผ่านมารัฐได้ให้การส่งเสริมและสนับสนุนเรื่องสิทธิและเสรีภาพในด้านต่างๆให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของพี่น้องประชาชนในทุกภูมิภาคมาโดยต่อเนื่องภายใต้หลักคิดที่ว่า ทุกคนคือพลเมืองของชาติไทยที่จะต้องได้รับการดูแลอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน

อย่างไรก็ตามรัฐก็มีหน้าที่ในการกำหนดขอบเขตในการแสดงออกเรื่องสิทธิและเสรีภาพของพี่น้องประชาชนจะต้องไม่ไปริดรอนหรือละเมิดต่อสิทธิของบุคคลอื่นหรือไปละเมิดต่อหลักกฎหมายและบูรณภาพแห่งดินแดนเพราะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย สำหรับการจัดกิจกรรมออกแบบจำลองการลงประชามติเพื่อแบ่งแยกดินแดนเป็นเอกราชนั้นตรวจสอบพยานหลักฐาน เจตนา เจตนาพิเศษและพฤติกรรมที่ปรากฏตลอดจนความเชื่อมโยงต่างๆอย่างรอบด้านแล้วถือเป็นการกระทำที่เข้าข่ายผิดกฎหมายและอาจละเมิดต่อบูรณภาพแห่งดินแดนที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 1 ที่ระบุว่า”

 ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้”ดังนั้นเจ้าหน้าที่รัฐจึงจำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมายโดยไม่สามารถละเว้นการปฏิบัติได้ ปัจจุบันได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษกับพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายตามลักษณะฐานความผิดต่อไปโดยผลกระทบจากการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ถือเป็นบทเรียนที่สำคัญในการนำไปสร้างความตระหนักรู้เพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่องสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยภายใต้หลักบูรณภาพแห่งดินแดนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือของผู้ไม่หวังดีดังปรากฏให้เห็นมาอย่างต่อเนื่องในสังคมไทย ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยและสร้างสังคมสันติสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่อย่างยั่งยืนต่อไป

ด้านการไม่เลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ รัฐบาลได้กำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ จชต. ให้เป็นไปตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบซึ่งประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีสมาชิกโดยได้ลงสัตยาบรรณและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 27กุมภาพันธ์ 2546 โดยได้ให้ความสำคัญและตระหนักถึงการส่งเสริมและสนับสนุนสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยทุกเชื้อชาติ ศาสนา โดยไม่เลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา ศาสนา กระบวนการยุติธรรม อัตลักษณ์

ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรม เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเพื่อให้คนไทยสามารถอยู่ร่วมกันได้ภายใต้มิติของสังคมพหุวัฒนธรรมที่หลากหลาย นอกจากนี้ยังได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการศึกษาเรียนรู้ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและได้พัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้และสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์เพื่อสร้างความภาคภูมิใจในรากเหง้าความเป็นมาและเชิดชูเกียรติของบรรพบุรุษโดยไม่เคยเข้าไปคุกคาม ขัดขวางหรือเลือกปฏิบัติต่อการจัดกิจกรรมในรูปแบบต่างๆที่ไม่ละเมิดกฎหมายแต่อย่างใด