ปิดฉาก "ศูนย์ธำรงวินัย" ทหาร ขัด พ.ร.บ.อุ้มหาย ทรมาน

ปิดฉาก "ศูนย์ธำรงวินัย" ทหาร ขัด พ.ร.บ.อุ้มหาย ทรมาน

หลัง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้ โดยเฉพาะในหมวด 3 ที่กำหนดมาตรการ "การควบคุมตัว" จึงเป็นที่มาการยกเลิก"ศูนย์ธำรงวินัย"

เป้าหมาย "บิ๊กแดง" พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. และผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์​ 904 (ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 ) คนก่อนในการจัดตั้ง "ศูนย์ธำรงวินัย" หวังเพิ่มความเข้มงวดกวดขันระเบียบวินัยและการวางตัวของกำลังพลในกองทัพทุกระดับชั้น ไม่ให้ใช้เครื่องแบบหาประโยชน์  รวมถึงการวางตัว การแต่งกายให้ถูกระเบียบวินัย

จึงมีนโยบายการจัดตั้ง "ศูนย์ธำรงวินัย" ทุกมณฑลทหารบก และ กองทัพบกส่วนกลาง เช่น กองทัพภาค1  ที่ กองพลทหารม้าที่ 2รักษาพระองค์ (พล.ม.2รอ.) ซึ่งจะมีศูนย์ที่มีพื้นที่ในการธำรงวินัย นอกเหนือจากการถูก
ลงทัณฑ์ 5 สถาน ตาม พ.ร.บ.วินัยทหาร พ.ศ.2476  ระบุว่า

 1.ภาคทัณฑ์ คือ ผู้กระทำผิดมีความผิดอันควรต้องรับทัณฑ์สถานหนึ่งสถานใดใน 5 สถาน แต่มีเหตุอันควรปราณี จึงเป็นแต่แสดงความผิดของผู้นั้นให้ปรากฏ หรือให้ทำทัณฑ์บนไว้ 

2. ทัณฑกรรม คือ ให้กระทำการสุขา การโยธา ฯลฯ เพิ่มจากหน้าที่ประจำซึ่งตนจะต้องปฏิบัติอยู่แล้ว หรือปรับให้อยู่เวรยามนอกจากหน้าที่ประจำ 

3. กัก คือ กักตัวไว้ในบริเวณใดบริเวณหนึ่งตามแต่จะกำหนดให้ 

4. ขัง คือ ขังในที่ควบคุมแต่เฉพาะคนเดียวหรือรวมกันหลายคนแล้วแต่คำสั่ง 

และ 5.จำขัง คือ ขังโดยส่งไปฝากให้อยู่ในความควบคุมของเรือนจำทหาร

รวมถึงการกระทำผิดวินัยทหาร   9 ประการ ได้แก่ 1. ดื้อ ขัดขืน หลีกเลี่ยง หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาเหนือตน 2. ไม่รักษาระเบียบการเคารพระหว่างผู้ใหญ่ผู้น้อย 3. ไม่รักษามารยาทให้ถูกต้องตามแบบธรรมเนียมของทหาร 4. ก่อให้แตกความสามัคคีในคณะทหาร 5. เกียจคร้าน ละทิ้ง หรือเลินเล่อต่อหน้าที่ราชการ 6. กล่าวคำเท็จ 7. ใช้กิริยาวาจาไม่สมควร หรือประพฤติไม่สมควร 8. ไม่ตักเตือนสั่งสอน หรือลงทัณฑ์ผู้ใต้บังคับบัญชาที่กระทำผิดตามโทษานุโทษ 9. เสพเครื่องดองของเมาจนถึงเสียกิริยา

สำหรับ การธำรงวินัย กำลังพลที่กระทำผิด เป็นการฝึกทางด้านร่างกาย จิตใจ ป้องกันพฤติกรรมซ้ำซาก มีขั้นตอนการดำเนินการ ต้องมีทั้งการฝึกอบรม ครูฝึก การจัดสถานที่ และ การวางระเบียบให้รัดกุม  เป้าหมายเพื่อให้กำลังพลที่ต้องเข้ารับการฝึกกลับไปทำหน้าที่ของตนเองภายใต้กรอบของระเบียบ วินัย ด้วยตระหนักในภาระหน้าที่ที่มีเกียรติ และภายใต้เครื่องแบบทหาร ที่สำคัญคือต้องอยู่ในกรอบกฎหมาย และคำนึงเรื่องความปลอดภัยในชีวิต

แต่ภายหลัง พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 หรือ" ...อุ้มหาย" มีผลใช้บังคับ ประกอบด้วย 5 หมวด 1 บทเฉพาะกาล รวม 43 มาตรา ซึ่งครอบคลุมฐานความผิดที่สำคัญ 3 ฐาน ได้แก่ การกระทำทรมาน การกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการกระทำให้บุคคลสูญหาย รวมถึงบทกำหนดโทษ มาตรการดำเนินคดี มาตรการป้องกัน มาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำความผิดดังกล่าว 

โดยเฉพาะข้อความในหมวด 3  ใน พ.ร.บ.ดังกล่าว คือ หมวดการป้องกันการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย โดยสาระสำคัญ

กำหนดมาตรการ "การควบคุมตัว" ว่า ในการตรวจค้นจับกุมบุคคล เจ้าหน้าที่จะต้องติดกล้องติดตามตัวเจ้าหน้าที่ หรือ body cam ซึ่งจะเป็นการป้องกันไม่ให้มีการซ้อมทรมานหรือการปฏิบัติโดยมิชอบ 

อีกทั้งในกรณีที่เจ้าหน้าที่จับกุมบุคคลใดแล้ว จะต้องแจ้งให้หน่วยงานอื่นคือ ฝ่ายปกครองและอัยการรับทราบทันที พร้อมทำบันทึกการจับกุม สภาพเนื้อตัว ร่างกายของผู้ถูกจับ โดยละเอียด เพื่อให้ครอบครัวหรือทนายความของผู้ถูกจับสามารถตรวจสอบได้ อันเป็นการป้องกันไม่ให้มีการทรมาน อุ้มหาย หรือการกระทำอื่นใดที่มีลักษณะโหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ถูกจับ ให้อำนาจฝ่ายปกครอง กรมสอบสวนคดีพิเศษ และอัยการสอบสวนหรือตรวจสอบได้ 

นอกจากนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถร้องให้ศาลอาญาที่มีเขตอำนาจไต่สวนได้โดยทันทีในกรณีที่มีการทรมาน การกระทำโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือการย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การกระทำให้สูญหาย  

ดังนั้นกรณี พลเอกณรงค์พันธ์  จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. และ ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 คนปัจจุบัน มีคำสั่งยกเลิก "ศูนย์ธำรงวินัย" เพื่อให้สอดรับ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565