"เสรี" หอบเอกสาร พิสูจน์คุณสมบัติ "พิธา" ให้ กกต. พรุ่งนี้

"เสรี" หอบเอกสาร พิสูจน์คุณสมบัติ "พิธา" ให้ กกต. พรุ่งนี้

"เสรี" เตรียมนำกมธ.การเมือง พบ กกต. พรุ่งนี้ พร้อมหอบเอกสาร-การตรวจสอบ คุณสมบัติถือหุ้นสื่อ "พิธา" ให้พิจารณา ยกเคสโอนที่ปราณบุรีให้ตัวเองเมื่อ60เทียบ จ่อหาช่องตรวจสอบคุณสมบัติพิธา ก่อนโหวตนายกฯ

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน)  กมธ. จะเข้าพบนายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พร้อมคณะกกต.และสำนักงานเลขาธิการ กกต. ตามที่ได้นัดหมายไว้ก่อนหน้านี้ เพื่อพูดคุยและรับฟังประเด็นของปัญหาอุปสรรคของการจัดการเลือกตั้งส.ส. เมื่อ 14 พฤษภาคม ที่ผ่านมา รวมถึงสอบถามถึงการดำเนินการของ กกต. ในการไต่สวนกรณีของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล กรณีที่รู้ตัวว่าขาดคุณแต่ยังยินยอมให้พรรคส่งลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งส่อขัดกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง มาตรา 151 หรือไม่

 

นายเสรี กล่าวด้วยว่าในการทำงานของ กมธ. นั้นได้ตรวจสอบกรณีที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของนายพิธา ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวโยงกับการถือหุ้นไอทีวี ที่แม้ว่าล่าสุดนายพิธาจะโอนหุ้นดังกล่าวให้ทายาทไปแล้ว แต่จากการตรวจสอบของกมธ.ที่ได้รับเอกสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เช่นกรณีครอบครองที่ดิน พบว่านายพิธา ฐานะผู้จัดการมรดก ได้ดำเนินการโอนที่ดิน อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคิริขันธ์ ให้กับตนเองฐานะทายาทแล้ว ตั้งแต่ปี2560  ดังนั้นแสดงว่านายพิธาฐานะผู้จัดการมรดกได้จัดการแบ่งมรดกให้ทายาทแล้วตั้งแต่ปี2560 ซึ่งอาจจะรวมถึงเรื่องหุ้นไอทีวีด้วยเช่นกัน และคงไม่ถือครอง โดยไม่ดำเนินการใดๆ มาถึง 17 ปี

“กรณีที่นายพิธา โอนหุ้นไอทีวีให้ทายาทไปเร็วๆนี้ ไม่สามารถปฏิเสธพฤติกรรมของตนเองได้ เพราะเมื่อนำกรณีการโอนที่ดินปราณบุรีให้ตนเองในปี2560 แสดงว่าการจัดการมรดกอื่นๆ ต้องจัดการไปแล้วเช่นกัน อีกทั้งในประเด็นเรื่องหุ้นไอทีวีนั้น นายพิธาได้ใส่ชื่อของตนเองมาตั้งแต่ช่วงปี 2549- 2550 เช่นกัน นอกจากนั้นยังมีประเด็นคำพิพากษาของศาลฏีกาที่ตัดสินว่ามรดกตกทอดถึงทายาททันทีที่เจ้าของทรัพย์มรดกกนั้นตาย ทำให้กรรมสิทธิในทรัพย์ ซึ่งหมายถึงมรดกนั้นตกสู่ทายาททันที” นายเสรี กล่าว

 

 

นายเสรี กล่าวด้วยว่าในการพบกับ กกต.​นั้นตนจะนำเอกสารที่ได้ รวมถึงผลการตรวจสอบ มอบให้กับ กกต. ไปพิจารณาด้วยเช่นกัน

 

 

ทั้งนี้นายเสรี ยังตอบคำถามถึงกรณีที่นายพิธา มั่นใจว่า เสียง ส.ว.จะสนับสนุนให้ได้เป็นนายกฯ ตามเกณฑ์ 376 เสียง ว่า “หากเสียงถึง 376 ก็ได้เป็น ไม่ได้ห้าม แต่ผมทราบว่ามี ส.ว.ที่เอาคุณพิธา มีไม่เกิน 5 คนเท่านั้น ส่วนคนที่เคยบอกว่าจะสนับสนุน เช่น นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ นายตวง อันทะไชย พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนนท์  ไม่เคยบอกชื่อว่าเป็นคุณพิธา บอกแค่ว่าหากสภารวมเสียงข้างมากมาเสนอเท่านั้น”

นายเสรี ยังกล่าวถึงความเป็นไปได้ต่อการตรวจสอบคุณสมบัติของนายพิธาที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่าขาดคุณสมบัติดำรงตำแหน่งนายกฯ ว่า ส.ว.มีสิทธิที่จะตรวจสอบแคนดิเดตนายกฯ ได้ เพราะตามมาตรา 272 ที่กำหนดให้ส.ว.ร่วมเลือกนายกฯ ทั้งนี้บทบัญญัติได้โยงมาตรา 159 พ่วงกับต้องมึคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม มาตรา 160  ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่และอำนาจของ ส.ว. ตามมาตรา 82เข้าชื่อ  1 ใน 10 ของสมาชิกวุฒิสภา 250 คนหรือ 25 เสียง เข้าชื่อยื่นต่อประธานวุฒิสภาให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้

 

"การดำเนินการดังกล่าวต้องทำก่อนการโหวตนายกฯ โดยขณะนี้ ส.ว. อยู่ระหว่างหารือเพื่อหาข้อสรุปอีกครั้ง อย่างไรก็ดีในประเด็นคุณสมบัติของนายพิธานั้น ยังมีอีกช่องทาง คือ กกต. สามารถดำเนินการได้ เพราะมีอำนาจ หากไม่ทำจะเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้" นายเสรี กล่าว.