เล่าให้ด้อมส้มฟัง สัมพันธ์ลึก ‘สหายศรชัย-สหายใหญ่’

เล่าให้ด้อมส้มฟัง  สัมพันธ์ลึก ‘สหายศรชัย-สหายใหญ่’

ความเป็นมิตรสหายระหว่าง "ตุ๊ อดิศร" และ "อ้วน ภูมิธรรม" จากปี 2519 จนมาถึงปี 2566 ยังผูกพันรักใคร่กันเหมือนเดิม ชั่วโมงนี้ต่างฝ่ายต่างมีหัวโขน ต้องเล่นไปตามบทตามสคริปต์

กลเกมการเมืองในพรรคเพื่อไทย อ่านไม่ยาก ตัวละครที่เล่นกันหน้าม่าน ก็ว่าไปตามบทตามสคริปต์ แต่ผู้ชี้ขาดตัวจริงคือ ตัวละครหลังม่าน ทั้งที่อยู่บ้านจันทร์ส่องหล้า และนครดูไบ

ชั่วโมงนี้ อดิศร เพียงเกษ ผู้สวมบทนักเลงภูธร ตกเป็นผู้ร้ายในสายตาด้อมส้ม เพราะทำตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อขบวนการประชาธิปไตย

ตัดมาที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว และ เศรษฐา ทวีสิน กลายเป็นพระเอก ด้อมส้มยกให้เป็นผู้ปกป้องรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตย

อีกด้านหนึ่ง ด้อมส้มวิพากษ์วิจารณ์ทำนองว่า พรรคเพื่อไทยจัดฉากเล่นละครเรื่อง “ประธานสภาข้าใครอย่าแตะ” โดยมี ภูมิธรรม เวชยชัย และอดิศร เพียงเกษ เป็นผู้แสดงนำ

เริ่มจากเที่ยงวันอาทิตย์ที่ 18 มิ.ย.2566 ภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แถลงหลักการว่า เพื่อไทยเห็นชอบให้พรรคอันดับ 1 ได้เก้าอี้ประธานสภา และพรรคอันดับ 2 ได้รองประธานสภา ทั้ง 2 คน

ถัดมาอีก 1 ชั่วโมง อดิศร เพียงเกษ ยืนยันตำแหน่งประธานสภา ควรเป็นของพรรคเพื่อไทย หรืออย่างน้อยต้องใช้มติที่ประชุมสภาฯ ตัดสิน เพราะสภาเป็นของทุกคน

 เย็นวันเดียวกัน ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ผ่านทีวีช่องหนึ่ง พูดในหลักการคล้ายที่ภูมิธรรม แถลงไปเมื่อตอนเที่ยง

อย่างไรก็ตาม อ้วน ภูมิธรรม ได้มาอธิบายขยายความว่า พูดในหลักการเท่านั้น มิได้หมายความว่า จะยกเก้าอี้ประธานสภาให้ก้าวไกล เพราะสองพรรคยังต้องพูดคุยกันอีกครั้ง

เล่าให้ด้อมส้มฟัง  สัมพันธ์ลึก ‘สหายศรชัย-สหายใหญ่’

วันพุธที่ 21 มิ.ย.2566 ที่โรงแรมเอสซีปาร์ค ในที่ประชุมสัมมนา ส.ส.พรรคเพื่อไทย อดิศรได้เปิดการแสดงชุดใหญ่ ย้ำว่า เพื่อไทยต้องได้ประธานสภา

ไม่ทันข้ามวัน คลิปอดิศรแสดงจุดยืนเรื่องประธานสภา ก็มีการเผยแพร่ในโซเชียลอย่างรวดเร็ว ทำเอาด้อมส้มถล่ม ส.ส.หมอแคน และเพื่อไทยเละเทะ แต่ในหมู่เพื่อน ส.ส. โดยเฉพาะซุ้มบ้านใหญ่ หรือนักเลงภูธร ต่างยกให้อดิศรเป็นฮีโร่ พูดได้ตรงใจมากๆ

อย่างไรก็ตาม แกนนำเพื่อไทย รีบชิงประกาศว่า ความเห็นของ ส.ส.ส่วนใหญ่เรื่องประธานสภา ยังไม่ใช่มติพรรค และคงต้องรอการเจรจากับก้าวไกลในลำดับต่อไป

ด้อมส้มบางกลุ่ม ตั้งข้อสังเกตว่า เกมนี้ ภูมิธรรม และอดิศร รู้กัน และเขียนบทไว้ล่วงหน้า ทำทีเหมือนจะทะเลาะกัน แต่จริงๆ แล้ว ต้องการให้เสียง ส.ส.เพื่อไทยไปต่อรองกับก้าวไกล ไม่ใช่แค่ประธานสภา แต่หากหมายถึงเก้าอี้รัฐมนตรีด้วย

เล่าให้ด้อมส้มฟัง  สัมพันธ์ลึก ‘สหายศรชัย-สหายใหญ่’

หากย้อนไปดูปูมหลังของ ภูมิธรรม และ อดิศร ในวัยหนุ่มถือว่า เป็นหัวหอกขบวนการคนหนุ่มสาวยุคประชาธิปไตยเบ่งบานปี 2516-2519 ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาและรัฐประหาร 2519

หลังพายุขวาจัดถล่มการเมืองไทย อดิศร และภูมิธรรม ก็มีโอกาสไปใช้ชีวิตร่วมกันที่สำนัก R3 ซึ่งตั้งอยู่ในแขวงอุดมไซ สปป.ลาว ใกล้ชายแดนจีน

ทองปักษ์ เพียงเกษ อดีต ส.ส.ขอนแก่น พรรคแนวร่วมสังคมนิยม ได้พาครอบครัวหนีภัยเผด็จการขวาจัดข้ามโขง ไปพักพิงอยู่ใน สปป.ลาว ก่อนที่ทางพรรคลาว จะส่งไปอยู่สำนักแนวร่วม A30 ที่อยู่ในการดูแลของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)

 ปี 2520 ครอบครัวเพียงเกษ ย้ายไปอยู่สำนัก R-3 สหายศรชัย หรืออดิศร เพียงเกษ จึงได้พบกับสหายใหญ่ หรือภูมิธรรม เวชยชัย ตอนนั้น สหายศรชัย มีสถานะเป็นแนวร่วม แต่สหายใหญ่ มีสถานะเป็นสมาชิก สยท.(เยาวชนในจัดตั้งของ พคท.)

เล่าให้ด้อมส้มฟัง  สัมพันธ์ลึก ‘สหายศรชัย-สหายใหญ่’

สหายใหญ่ มีหน้าที่ขับรถให้สหายนำระดับสูง ทั้งลุงสม (อุดม สีสุวรรณ) และลุงดิน (ธง แจ่มศรี) สมัยที่ พคท.ยังใช้ภาคเหนือของ สปป.ลาว เคลื่อนไหวชี้นำการปฏิวัติ

 ปี 2524-2525 นักศึกษาปัญญาชน เริ่มออกจากป่าเขากลับคืนสู่เมือง ภูมิธรรมและครอบครัวเพียงเกษ ก็กลับคืนสู่มาตุภูมิเช่นกัน

ช่วงการเลือกตั้งปี 2526 และปี 2529 ปรากฏว่า มี “คนเดือนตุลา” จำนวนหนึ่งเข้าไปทำงานการเมืองกับพรรคประชาธิปัตย์ เพราะเวลานั้น พรรค ปชป.ยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตย ไม่ใช่ ปชป.แบบทุกวันนี้

อ้วน ภูมิธรรม ก็เป็นคนหัวก้าวหน้าคนหนึ่งที่เข้าไปช่วยงานพรรค ปชป. เช่นเดียวกับจาตุรนต์ ฉายแสง ได้รับเลือกเป็น ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรค ปชป.ปี 2529

เล่าให้ด้อมส้มฟัง  สัมพันธ์ลึก ‘สหายศรชัย-สหายใหญ่’

คืนสู่ประเทศไทยได้ไม่นาน อดิศร ลูกชายทองปักษ์ เพียงเกษ ก็กระโดดลงสมัคร ส.ส.ขอนแก่น สังกัดพรรคแรงงานประชาธิปไตย ปี 2526 แต่สอบตก ก่อนจะย้ายมาพรรคสังคมประชาธิปไตย ก็ยังไปไม่ถึงสภา

ปลายปี 2529 มีเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ขอนแก่น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง หัวหน้าพรรคมวลชน เดินทางไปช่วยฝ่ายค้านปราศรัยหาเสียง ได้พบหน้าอดิศร จึงเอ่ยปากชักชวนให้มาอยู่พรรคด้วยกัน

ตอนที่อดิศรเลือกสังกัดพรรคมวลชน ก็ถูกถามว่า ทำไมไม่ไปอยู่พรรค ปชป. เพราะมีคนเดือนตุลาไปอยู่กันเยอะ หมอแคนขอนแก่นบอก ขออยู่พรรคเล็กๆ แบบพรรคมวลชนดีกว่า ไม่ต้องไปต่อแถวผู้อาวุโสที่พรรคเก่าแก่

การเลือกตั้ง ส.ส.ขอนแก่น ปี 2531 อดิศร ลงสมัคร ส.ส.ขอนแก่น ในสีเสื้อพรรคมวลชน ร.ต.อ.เฉลิม ทุ่มเต็มกำลัง จนหมอแคนหนุ่มได้เป็น ส.ส.สมัยแรก

ช่วง ร.ต.อ.เฉลิมและครอบครัวหนีไปเดนมาร์ก อดิศรก็ยังเฝ้าพรรคมวลชนอยู่ กระทั่ง เฉลิมกลับเมืองไทย และนำพรรคลงสนามเลือกตั้ง 2535/1 อดิศร ลงสนามขอนแก่นอีกรอบ คราวนี้สอบตก

เลือกตั้ง 2535/2 อดิศรทิ้ง “พี่เหลิม” ไปซบมหาจำลอง และนำทีมพลังธรรมชนะเลือกตั้ง ส.ส.ขอนแก่น ยกเขต 3 คน ได้บำเหน็จเป็น รมช.ศึกษาฯ ถือว่าโชคดีมาก

 ปี 2538 หมอแคนอดิศร ย้ายไปอยู่พรรคนำไทย และปี 2539 ย้ายอีกรอบไปอยู่พรรคความหวังใหม่ เพราะแทงหวย“พ่อใหญ่จิ๋ว” อดิศรก็ถูกหวย เป็น รมช.วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม

ปี 2548 อดิศรรับบทดาวไฮด์ปาร์ค เดินสายปราศรัยทั่วไทย เข้าตา “ทักษิณ ชินวัตร” จนได้รางวัลตอบแทนเป็น รมช.คมนาคม และรมช.เกษตรและสหกรณ์

หลังรัฐประหาร 2549 หมอแคนอดิศร ต้องเว้นวรรคการทำหน้าที่ ส.ส.ไปนานถึง 17 ปี จึงได้เข้าสภาอีกครั้ง ในฐานะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย

ความเป็นมิตรสหายระหว่างตุ๊ อดิศร และอ้วน ภูมิธรรม จากปี 2519 จนมาถึงปี 2566 ยังผูกพันรักใคร่กันเหมือนเดิม ชั่วโมงนี้ ต่างฝ่ายต่างมีหัวโขน ต้องเล่นไปตามบทตามสคริปต์

หมอแคนอดิศร ไม่ใช่นักการเมืองบ้านใหญ่ แต่สิ่งที่เขาพูด มันโดนใจ ส.ส.อีสานเพื่อไทยโดยส่วนใหญ่ ซึ่งนักวิชาการสายสีส้มมักเรียกพวกเขาว่า “นักเลงภูธร”

เล่าให้ด้อมส้มฟัง  สัมพันธ์ลึก ‘สหายศรชัย-สหายใหญ่’

ในความเป็นจริง สภาพภายในพรรคเพื่อไทย มีคนรุ่นเก่ามากกว่าคนรุ่นใหม่ แม้สมัยนี้ จะมี ส.ส.หน้าใหม่เข้ามามาก แต่คนเหล่านั้นก็เป็นทายาท ส.ส.บ้านใหญ่ หรือคนในเครือข่ายบ้านใหญ่

ความปราชัยของเพื่อไทย ไม่ใช่แค่เรื่องกระแสสีส้มอย่างเดียว หากแต่มีเหตุปัจจัยภายในเรื่องการประเมินสถานการณ์ผิดพลาดของแกนนำพรรค และการไม่ทุ่มทรัพยากรเพื่อการเลือกตั้งอย่างเต็มที่ ทำให้ผู้สมัคร ส.ส.ต่างจังหวัด สอบตก

สหายศรชัย และสหายใหญ่ มีบทเรียนจากการต่อสู้ตามความฝันของคนหนุ่มสาวมาก่อน จึงรู้ว่า ความเป็นจริงกับความฝัน มีเส้นบางๆคั่นอยู่ พวกเขาไม่เคยทิ้งความฝัน แต่ก็ต้องอยู่กับความจริงให้ได้