ศึกชิงเก้าอี้ 'ประธานสภาฯ' เกมเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด

ศึกชิงเก้าอี้ 'ประธานสภาฯ' เกมเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด

เก้าอี้ "ประธานสภาฯ" ถือเป็น “กุญแจ” ดอกแรกที่จะบอกได้ว่า “ขั้วใด” และ “พรรคไหน” จะได้ครองอำนาจการเมืองไทยหลังจากนี้ต่อไปอีกอย่างน้อย 4 ปี

หากไม่ผิดจากที่คาดการณ์ ภายในสัปดาห์นี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะรับรองผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เมื่อวันที่ 14 พ.ค.2566 อย่างน้อยร้อยละ 95 ก่อนจะจัดให้มีการประชุมสภาฯ

โดยวาระแรก คือการเลือกผู้ดำรงตำแหน่ง “ประธานสภาฯ” ที่เวลานี้พรรคก้าวไกลเปิดศึกรอบใหม่กับพรรคเพื่อไทย ชิงเก้าอี้แห่งอำนาจ เพื่อเข้าไปคุมเกมการโหวตเลือกนายกฯ คุมเกมการออกกฎหมายสำคัญ และคุมเกมนิติบัญญัติ เพื่อเป็นหลังพิงให้ “ฝ่ายบริหาร”

ข่าวปล่อย “ก้าวไกล-เพื่อไทย” ตกลงโควตาพร้อมเคาะชื่อ “ประธานสภาฯ” ร่วมกันแล้ว ออกมาจาก “พรรคสีส้ม” จน “พรรคสีแดง” ต้องงัดตำราตั้งรับ บลัฟข่าวปล่อยกลับ โดยบนดินรักษามารยาทบอกว่ายังไม่ได้คุย แต่ใต้ดินซัดแรง “ยังไม่มีใครมาคุย”
 

เกมหน้าฉากทั้ง “ก้าวไกล-เพื่อไทย” ยังอยู่ในที่ตั้ง เพื่อไม่ให้ตัวเองตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ โดยเฉพาะ “ก้าวไกล” ถือไพ่ได้เปรียบขี่คอ “เพื่อไทย” หากพลาดเป้าเก้าอี้ประธานสภาฯ ก็พร้อมที่จะแตกหักทุกเวลา

ด้านเพื่อไทยยึดสูตรคนละครึ่ง เมื่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกลยึดเก้าอี้นายกฯ เพื่อไทยจึงมีความชอบธรรมส่งคนนั่งเก้าอี้ประธานสภาฯ เพราะจำนวนเก้าอี้ ส.ส. ห่างกันเพียง 10 เสียง

ทว่า ข้ออ้างของก้าวไกลที่ต้องการผลักดันกฎหมายในสภา โดยต้องอาศัยอำนาจของประธานสภาฯ โดยเฉพาะการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ยอมถอย ไม่ใส่เงื่อนไขดังกล่าวไปในบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล พอจะฟังขึ้นอยู่บ้าง
 

แต่เนื้อในก้าวไกลหวั่นอยู่ในใจว่า หากเสียเก้าอี้ประธานสภาฯจะส่งผลกระทบต่อการคุมเกมโหวตเก้าอี้นายกฯที่ “พิธา” จับจองเอาไว้ หากเพื่อไทยหวังส้มหล่น “พิธา” ไม่ผ่านด่าน ส.ว.แล้ว คนของเพื่อไทยนั่งเก้าอี้ประธานสภาฯ ย่อมมีโอกาสพลิกเกมได้

ในทางตรงกันข้าม หากคนของก้าวไกลนั่งเก้าอี้ประธานสภาฯ ความหวังที่จะพลิกเกมของเพื่อไทยมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก ฉะนั้นเพื่อไทยจึงต้องตัดสินใจเดินเกมอย่างระมัดระวังมากที่สุด

แม้ “ภูมิธรรม เวชชยชัย” รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” เลขาธิการพรรคเพื่อไทย จะออกมาสนับสนุนให้ก้าวไกลได้เก้าอี้ประธานสภาฯ ในฐานะพรรคอันดับหนึ่ง แต่ให้จับตาสัญญาณหักเหลี่ยมในวันโหวตเลือกประธานสภาฯให้ดี

เพราะถือเป็น “กุญแจ” ดอกแรกที่จะบอกได้ว่า “ขั้วใด” และ “พรรคไหน” จะได้ครองอำนาจการเมืองไทยหลังจากนี้ต่อไปอีกอย่างน้อย 4 ปี