เสถียรภาพทางการเมือง ปัจจัยบวกดึงนักลงทุน

เสถียรภาพทางการเมือง ปัจจัยบวกดึงนักลงทุน

การจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้า ย่อมส่งผลกระทบต่อการจัดทำงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐ ยังไม่นับผลกระทบต่อความมั่นใจของนักลงทุนที่รอความชัดเจนในนโยบายก่อนตัดสินใจเดินหน้าการลงทุน ซึ่งอาจทำให้ตัดสินใจย้ายการลงทุนไปต่างประเทศได้

ผ่านมาแล้วกว่า 1 เดือน ประเทศไทยยังไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้  ทั้งๆ ที่ 8 พรรคการเมืองประกาศลงนามร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล โดยมีพรรคก้าวไกลเจ้าของคะแนนนิยมจากประชาชนมากเป็นอันดับหนึ่งเป็นแกนนำ ท่ามกลางกระแสข่าวการถือหุ้น ITV ของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคก้าวไกล ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบว่าถึงวันนี้ยังถือว่า บริษัท ITV ยังประกอบธุรกิจสื่ออยู่หรือไม่ และ “พิธา” จะเข้าข่ายลักษณะต้องห้ามไม่ให้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) หรือไม่

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ส่งผลต่อการจัดตั้งรัฐบาล ยิ่งล่าช้าออกไปมากเท่าไหร่ ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง และสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจของประเทศมากเท่านั้น เพราะเสถียรภาพทางการเมือง เป็นปัจจัยบวกที่ส่งต่อการลงทุนของประเทศ 

นักวิชาการ นักลงทุน นักวิเคราะห์ ที่มาร่วมแชร์ประสบการณ์ผ่านเวทีเสวนา “มหาพายุพัดกระหน่ำ เศรษฐกิจโลก เสี่ยงถดถอย” ในงาน “Investment Forum : New Chapter, New Opportunity” ที่ “กรุงเทพธุรกิจ” จัดขึ้นวานนี้ (15 มิ.ย.) เห็นตรงกันว่าปัจจุบันมีความไม่แน่นอนมากมาย ทั้งด้านทางการเมือง (Political Uncertainty) ด้านนโยบาย (Policy Uncertainty) ของรัฐบาลในอนาคต เพราะผ่านมาหนึ่งเดือน ไม่มีความคืบหน้าของการจัดตั้งรัฐบาล การดำเนินการยังเท่ากับวันแรกๆ หลังเลือกตั้ง 
   
การจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้า ย่อมส่งผลกระทบต่อการจัดทำงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐ จากช่วงสถานการณ์ปกติก็มีช่วงรอยต่อของการใช้งบประมาณ 1-2  เดือนที่ไม่มีการลงทุนภายในประเทศหรือเบิกงบล่าช้า ยิ่งไม่ต้องพูดถึงภาคเอกชนที่ทำงานกับภาครัฐรอเบิกเงินที่สำรองจ่ายไปก่อนจะต้องรอตกเบิกเงินงบประมาณยาวนานมากขึ้น ยังไม่นับผลกระทบต่อความมั่นใจของนักลงทุนที่รอความชัดเจนในนโยบายก่อนตัดสินใจเดินหน้าการลงทุน ซึ่งอาจทำให้ตัดสินใจย้ายการลงทุนไปต่างประเทศได้

การจัดตั้งรัฐบาลได้เร็ว ทำให้สามารถเห็นแนวทางการบริหารประเทศที่ชัดเจนขึ้น นักลงทุนก็จะมั่นใจในการลงทุนมากขึ้น เพราะประเทศไทยมีจุดแข็งหลายอย่าง ทั้งการบริโภคภายในประเทศ การท่องเที่ยว และเรียลเซ็กเตอร์ที่มีความแข็งแกร่ง มีตลาดทุนเป็นแหล่งระดมทุนซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม “อาหารและท่องเที่ยว” ซึ่งปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวที่มาบริการรักษาในโรงพยาบาลแล้วพาครอบครัวมาเที่ยวในไทยมากขึ้นรวมถึง “อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ well-being” คาดว่าจะได้รับประโยชน์ไม่ว่าจะเป็น “กลุ่มท่องเที่ยว การค้าในประเทศ คมนาคมขนส่ง แฟชั่น อาหาร เฮลธ์แคร์” จะฟื้นตัวได้
   
อย่างไรก็ตามหากมองย้อนกลับไปในอดีต แม้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองประเทศไทยจะเป็นอย่างไร แต่เศรษฐกิจไทยก็ยังเติบโตได้ แต่ถ้าปัจจัยทางการเมืองมีความมั่นคงก็จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ดียิ่งขึ้น เพราะจะทำให้นักลงทุนทั้งภายในและต่างประเทศมีความมั่นใจและตัดสินใจลงทุนตามแผนที่วางไว้ และช่วยให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อไปได้ต่อเนื่อง ฉะนั้นยิ่งการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าออกไปมากเท่าไหร่ก็หมายถึงความเสียหายทางเศรษฐกิจมากตามไปด้วยเช่นกัน