"ส.ว.ประพันธุ์" จี้ "พิธา" โชว์สัญญาโอนหุ้นITV ให้ทายาท

"ส.ว.ประพันธุ์" จี้ "พิธา" โชว์สัญญาโอนหุ้นITV ให้ทายาท

"ประพันธุ์" โพสต์เฟซบุ๊ค ชี้พิรุธ "พิธา" โอนหุ้นITV ให้ทายาท ท้าให้เปิดสัญญาประนอมยอมความ พร้อมประเมิน ส่อเดินตาม "ธนาธร" ปมถือหุ้นสื่่อ

นายประพันธุ์ คูณมี ส.ว. โพสต์ความเห็นผ่านเฟซบุ๊ค ต่อกรณีการถือหุ้นสื่อของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าและแคนดิเดต นายกฯ พรรคก้าวไกล โดยมีสาระสำคัญระบุว่า นายพิธา กำลังเดินตามรอยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำคณะก้าวหน้าอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่  ทั้งนี้มีกุนซือทางกฎหมายที่หวังพลิกคดีช่วยนายพิธาจากคดีหุ้นไอทีวี โดยใช้ประเด็นในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา  1615 ว่าด้วยกรณีที่ทายาทสละมรดก ที่มีผลย้อนหลังถึงเวลาที่เจ้ามรดกตาย ทำให้นายพิธาโอนหุ้นไอทีวีไปให้ทายาทอื่น เพื่อหวังเจือสมกับข้ออ้างที่เคยแจ้งไว้กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า การถือหุ้นไอทีวี ฐานะเป็นผู้จัดการกองมรดก 

 

 

ทั้งนี้นายประพันธุ์ ได้ตั้งคำถามไปยังนายพิธาและกุนซือทางกฎหมาย  ด้วยว่า

 

1. บิดาคุณพิธา ตายตั้งแต่ปี 2549 ถึงวันนี้เป็นเวลา 17 ปี ทำไมนายพิธายังจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกระหว่างทายาทไม่เสร็จสิ้น และต้องไม่ลืม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1750 วรรคแรกด้วยที่บัญญัติว่า " การแบ่งปันทรัพย์มรดกนั้น อาจทำได้โดยทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด หรือโดยการขายทรัพย์มรดกแล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาท" แต่ถ้ามีสัญญา ให้ดูวรรคสอง

 

2. หากมีการจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกระหว่างทายาทเสร็จสิ้นแล้วการสละมรดกถือว่าไม่มีผล เพราะต้องสละมรดกก่อนการแบ่งปันทรัพย์มรดกเสร็จสิ้น ไม่ใช่สละมรดกในวันนี้

 

3. นายพิธาควรเปิดดู ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 1612  ว่าด้วย การสละมรดกนั้น ต้องแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ 

 

"คุณพิธาได้ทำไว้หรือยัง หรือว่าจะทำย้อนหลังเหมือนกรณีการโอนหุ้นของคุณธนาธร และถ้าจะเล่นบทนี้กับศาล คุณพิธาต้องมีเอกสารหลักฐานเป็นหนังสือและเอาหลักฐานนั้นมาแสดงต่อศาล และนำทายาทมาเบิกความต่อศาลด้วยเพื่อยืนยัน กรณีนี้ เสี่ยงเบิกความเท็จ นำสืบและแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จต่อศาลได้น่ะครับ คิดให้ดีและตรึกตรองให้จงหนัก เดี๋ยวจะพาญาติพี่น้องมาเดือดร้อนติดคุกได้" นายประพันธุ์ ระบุ

นายประพันธุ์ ตั้งคำถามด้วยว่า 4. ตลอดเวลาที่ผ่านมา 17 ปี กรณีของหุ้นไอทีวี  ไม่มีทายาทคนใดมาโต้แย้งขอแบ่งจากนายพิธา  ตามหลักฐานที่ปรากฎทางทะเบียนรายชื่อผู้ถือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไม่ปรากฎว่านายพิธาถือในนามผู้จัดการมรดก ดังนั้นหากจะอ้างว่าทรัพย์มรดกยังไม่มีการแบ่งเสร็จสิ้น ต้องดูรายการบัญชีทรัพย์มรดกรายการ อื่นๆด้วยว่า ยังไม่ได้แบ่งด้วยหรือไม่ หรือมีเพียงแค่หุ้นไอทีวีเท่านั้น เพราะจะทำให้ข้ออ้างของนายพิธาไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือครับ

 

"สำหรับประเด็นอื่น  โดยเฉพาะเรื่องคนจงใจฟื้นกิจการไอทีวีมาเล่นงานคุณพิธา ยิ่งไม่มีเหตุผลฟังไม่ขึ้น เพราะ ไอทีวี ต่อสู้เพื่อรักษาสิทธิในใบอนุญาตประกอบการธุรกิจสื่อโทรทัศน์มาตั้งแต่ปี 2550 ตั้งแต่พรรคของนายพิธายังไม่เกิด จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะสร้างเรื่องเล่นงาน และคดีทำนองนี้ ก็มีคำพิพากษาศาลฎีกาและศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานแล้ว สู้อย่างไรก็ได้ครับ แต่ศาลจะเชื่อหรือไม่ นี่คือโจทก์ข้อใหญ่ของนายพิธา" นายประพันธุ์ ระบุ