ไอลอว์ ชี้ปัญหาเลือกตั้ง 66 "กปน."ไม่รู้ระเบียบ แนะ "กกต." ถอดบทเรียน

ไอลอว์  ชี้ปัญหาเลือกตั้ง 66 "กปน."ไม่รู้ระเบียบ  แนะ "กกต." ถอดบทเรียน

"ไอลอว์" แถลงปัญหาการเลือกตั้ง 66 พบส่วนใหญ่ "กปน." ไม่รู้กฎระเบียบ อีกทั้งพบรายชื่อผู้เสียชีวิตมีสิทธิเลือกตั้ง แนะ "กกต." ถอดบทเรียน อบรมให้ความรู้ สร้างการมีส่วนร่วมประชาชนอย่างเต็มที่ เพื่อให้การเลือกตั้งโปร่งใสกว่าเดิม

นายอานนท์ ชวาลาวัณย์ เจ้าหน้าที่เก็บข้อมูล iLaw ( ไอลอว์ ) พร้อมทีมงานและเครือข่ายอาสาจับตาการคะแนนเลือกตั้ง66 แถลงภาพรวมการเลือกตั้งทั่วไป ปี 2566 ว่า ไอลอว์ได้รับรายงานปัญหาทั้งหมด 375 กรณี ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่กรรมการประจำหน่วยไม่ให้ถ่ายรูปผู้ใช้สิทธิ หรือบรรยากาศ โดยบางหน่วยเลือกตั้งถูกเจ้าหน้าที่ขู่ดำเนินคดีหากไม่ลบภาพถ่าย จำนวน 81 กรณี

ทั้งที่ กกต.กลาง เคยออกมายืนยันแล้วว่าสามารถทำได้ , พบเจ้าหน้าที่ไม่ตรวจสอบอัตลักษณ์ผู้มาใช้สิทธิ โดยการให้เปิดหน้ากากอนามัย เพื่อตรวจสอบว่าตรงกับบัตรประลาชนหรือไม่ 41 กรณี
 

นอกจากนี้ ยังพบการติดรายชื่อผู้สมัครหน้าหน่วยเลือกตั้งไม่ครบถ้วน ทั้งที่ไอลอว์เคยแจ้งเรื่องนี้ไปยัง กกต.แล้วตั้งแต่วันเลือกตั้งล่วงหน้า , พบรายชื่อผู้เสียชีวิตมีสิทธิในการเลือกตั้ง , เจ้าหน้าที่ให้บัตรเลือกตั้งที่ถูกกาด้วยสีอื่นที่ไม่ใช่สีน้ำเงินเป็นบัตรเสีย

อย่างไรก็ตาม แม้ไม่พบการทุจริตที่ชัดเจน เพราะส่วนใหญ่เกิดจากความไม่พร้อมของ กปน. ทำให้เกิดการปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานต่างกัน จนทำให้เกิดความกังวลเรื่องผลคะแนนการเลือกตั้งในภาพรวม

ด้าน นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอลอว์ กล่าวถึงข้อเสนอแนะที่มีต่อ กกต. ว่า แบ่งเป็นระยะเร่งด่วนเฉพาะหน้า คือ  ควรเร่งรับรองผลการเลือกตั้งในพื้นที่ที่ไม่มีข้อสงสัยการทุจริต ในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ แม้ตามระเบียนจะมีเวลาให้ 60 วัน เพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาลใหม่สามารถเดินหน้าได้ โดยไม่เกิดการเจรจาต่อรอง , ให้ กกต สั่งนับคะแนนใหม่ในพื้นที่ที่ผลคะแนนไม่ตรงกับผู้ใช้สิทธิ หรือ มีข้อควรหา เพื่อให้เกิดวัฒนธรรมความโปร่งใส , และควรเร่งตรวจสอบเขตเลือกตั้งที่ยังมีข้อสงสัย หรือ มีข้อร้องเรียน จากนั้นให้ชี้แจงต่อสาธารณะโดยเร็วที่สุด

ขณะที่ข้อเสนอสำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไป กกต.ควรเปิดข้อเผยข้อมูลที่จำเป็น เช่น สถานที่ตั้งหน่วยเลือกตั้ง จำนวนผู้ใช้สิทธิ ค่าใช้จ่ายในการหาเสียงอย่างเป็นระบบและกิจจะลักษณะ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบอย่างกว้างขวาง , ควรให้ความรู้และจัดอบรมให้กรรมการประจำหน่วย ให้เข้าใจระบบและภาพรวมการเลือกตั้ง เคารพประชาชนที่ร่วมสังเกตการณ์การนับคะแนน เช่น เปิดโอกาสให้ถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอได้อย่างเต็มที่ เพื่อลดภาระเจ้าหน้าที่

สุดท้าย คือ ถอดบทเรียนจากระบบรายงานผลในปี 2566 เพื่อนำไปพัฒนาให้ดีขึ้น โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการออกแบบกฎหมาย ระเบียบ และพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรายงานผลคะแนนที่รวดเร็ว ถูกต้อง และโปร่งใสกว่าเดิม