“พิธา” โทรชวน “เสรีรวมไทย-ทสท.-ประชาชาติ” ร่วมรัฐบาล ไม่ปิดประตูร่วม ชทพ.

“พิธา” โทรชวน “เสรีรวมไทย-ทสท.-ประชาชาติ” ร่วมรัฐบาล ไม่ปิดประตูร่วม ชทพ.

“โรม” เผยวันนี้ “พิธา” ยกหูโทรชวน “ไทยสร้างไทย-เสรีรวมไทย-ประชาชาติ-เป็นธรรม” ร่วมจัดตั้งรัฐบาล ไม่ปิดประตูร่วม “ชาติไทยพัฒนา” แต่ขอคุยฝ่ายค้านเดิมก่อน เหตุเคมีตรงกัน เตือนอย่าแทงสวนมติประชาชน ใช้วิธีเดียวกับซากเดนเผด็จการ ทำลายวัฒนธรรมประชาธิปไตย

เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2566 นายรังสิมันต์ โรม ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นการหารือของกรรมการบริหารพรรค ก.ก. เมื่อวันที่15 พ.ค. ที่ผ่านมา ในประเด็นจัดตั้งรัฐบาล ว่า กรอบในเรื่องของการจับขั้ว มีการเอานโยบายมาคุยกันในกรรมการบริหาร รวมไปถึงแนวทางที่เราจะเดินกัน เบื้องต้นสอดคล้องกับ ที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ก.ก. แถลงไปคือเบื้องต้นเราเน้นคุยกับพรรคเพื่อไทยเป็นหลักก่อน โดยวันนี้นายพิธา จะประสาน โทรคุยกับหัวหน้าพรรคการเมืองต่าง ๆ ตามที่เคยแถลงข่าวไป เพื่อเชื้อเชิญในเรื่องของการมาร่วมรัฐบาล มีพรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ และพรรคเป็นธรรม เพื่อมาร่วมจัดตั้งเป็นรัฐบาบาลด้วยกัน  ส่วนเรื่องว่าจะรวมได้ 376 เสียงหรือเปล่า อาจจะยังไม่เป็นประเด็น เพราะ ก.ก.เชื่อว่าเสียงเท่านี้น่าจะพอ ที่จะทำให้เราเดินหน้าได้ 

เมื่อถามว่า ขั้วอื่นที่ไม่ใช่ฝ่ายค้านเดิม และเป็นพรรคที่ไม่เคยขัดแย้งกับ ก.ก. เช่น พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) อยู่ในวิสัยที่คิดจะดึงมาร่วมหรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า เราเน้นไปที่ฝ่ายค้านเดิมก่อน แต่สำหรับพรรคชาติไทยพัฒนายังไม่ได้คิด ว่าจะเอาหรือไม่เอา แต่เราโฟกัสไปที่ฝ่ายค้านเดิมที่ทำงานร่วมกันมา เคมีเข้ากันได้ โฟกัสตรงนี้ก่อน แต่ถามว่า เราจะปิดโอกาสกับพรรคอื่นอย่างพรรคชาติไทยพัฒนาไหม ก็ยังไม่ได้มีความเห็นอะไรในตอนนี้ ต้องดูอีกทีเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่แค่เรา ต้องคุยกับพรรคเพื่อไทยด้วย เราต้องวางคอ วางแก่นเราให้เสร็จก่อน ส่วนใช้เวลาวางนานเท่าไหร่นั้น อีกสองสามวันคงจะได้เห็นว่า เราจะใช้เวลาเรื่องนี้นานเท่าไหร่ แต่ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ว่า จะมีกำหนดเดตไลน์อย่างไร 

นายรังสิมันต์ กล่าวอีกว่า ตอนนี้ต้องแยกกันระหว่างการจัดตั้งรัฐบาล กับการปิดสวิทช์ ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา272 ออกจากกันก่อน ตนคิดว่าวันนี้คนจำนวนมาก ไปติดหล่มความคิดว่า ต้องได้ 376 เสียง เพื่อเพียงพอจัดตั้งรัฐบาล  แต่ถ้าเห็นว่ากระบวนการที่ให้ ส.ว.มาโหวตในเรื่องที่มันไม่ควร ทุกพรรคควรช่วยกันปิดสวิทช์ มาตรา272  คือคนเอาไปปนกันว่า ถ้าอย่างนี้ทำไมคุณไม่เอาพรรคภูมิใจไทยมา มันก็ไม่ถึง 376 สิ แล้วจะเลือกนายกฯอย่างไร แต่ขั้นตอนเลือกนายกฯ มันเป็นขั้นตอนที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญมันสร้างขึ้นมาเพื่อทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ผ่านการเลือกของ ส.ว. เหมือนกับถ้าเราไปเห็นด้วยหรือเอาด้วยกับแบบนี้สุดท้ายเราก็ไม่ได้ต่างอะไรกับการที่เราเห็นด้วยกับมาตรา 272 หรือเปล่า โดยหลักการถ้าวันนั้นเราแก้มาตรา 272 สำเร็จ วันนี้การเลือกนายกฯ ก็คือ มาตรา 251 คือใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาฯล่าง ในเมื่อเราบอกไม่เห็นด้วยกับมาตรา 272 สิ่งที่เราควรทำ คือช่วยกันปิดสวิทช์ มาตรา 272 แล้ว ใครจะมาจัดตั้งรัฐบาล เป็นเรื่องของพรรคการเมืองที่เคมีตรงกัน นโยบายใกล้เคียงกัน 

นายรังสิมันต์ กล่าวด้วยว่า ไม่ควรจะเอามาตรา 272 มาเป็นอุปสรรค ควรช่วยกันปิดสวิทช์ คือการเคารพต่อเจตจำนงประชาชน ที่เขาได้ใช้สิทธิผ่านการเลือกตั้งเมื่อวันที่14 พ.ค. สมมติว่า ถ้าไม่ปิดกัน สุดท้ายมันก็ไปกันไม่ได้ สมมติพรรคอื่นจะมาบอกว่า พรรค ก.ก.จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ แต่การจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล ไม่ได้ไม่ใช่เพราะประชาชนไม่สนับสนุน ก.ก.เพียงพอ แต่เป็นเพราะว่า ซากเดนเผด็จการของ คสช.อยู่ในนี้ 

“เชื่อว่า พรรคต่าง ๆ ถ้าคุณอยากจะมาบอกว่า เฮ้ย ก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้เดี๋ยวกูจัดตั้งเอง คุณก็ไม่ได้ต่างอะไรจาก พล.อ.ประยุทธ์ หรือเผด็จการ  แบบนี้จะส่งผลสองอย่างคือ

1.มันเป็นการแทงสวนประชาชน จากมติมหาชน ที่ให้พรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้ง

2.คือมันเป็นการทำให้ตัวเองมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยด้วย ถูกหรือไม่ จริง ๆ ต้องบอกว่ามันรวมไปถึงการทำลายวัฒนธรรมทางประชาธิปไตย” นายรังสิมันต์ กล่าว