ฉะเชิงเทรา นับคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. จบแล้ว เพื่อไทย 2 ก้าวไกล 1 ลุงป้อม 1

ฉะเชิงเทรา นับคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. จบแล้ว เพื่อไทย 2 ก้าวไกล 1 ลุงป้อม 1

ผลเลือกตั้ง 2566 ฉะเชิงเทรา นับคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. จบแล้ว เพื่อไทย 2 ก้าวไกล 1 พรรคลุงป้อม 1

เวลา 10.05 น. วันที่ 15 พ.ค. 66 จังหวัดฉะเชิงเทรา การนับคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. จาก กกต. ที่นับคะแนนเลือกตั้งแบบ ส.ส. เขต แล้ว 100 เปอร์เซนต์ มีผู้ใช้สิทธิ์ประมาณ 83.87 เปอร์เซนต์ 

ผลเลือกตั้ง 2566 มีทั้งหมด 4 เขต จำนวน ส.ส. 4 ราย ปรากฎว่า พรรคเพื่อไทย ได้ 2 เขต พรรคก้าวไกล 1 เขต และพรรคพลังประชารัฐ 1 เขต

ส่วนความคืบหน้า การนับคะแนนแบบรายเขตเลือกตั้ง จะอัปเดตให้ทราบต่อไป

ผลการเลือกตั้ง ส.ส.ฉะเชิงเทรา อย่างไม่เป็นทางการ ทั้ง 4 เขต จากนายธนกฤต นาคจารุพงษ์ ผู้อำนวยการ กกต. จังหวัดฉะเชิงเทรา หลังการนับคะแนนครบถ้วนทั้งหมดแล้ว ปรากฏว่าผู้ได้รับการเลือกตั้งให้เป็น ส.ส.ฉะเชิงเทรา

เขตเลือกตั้งที่ 1 คือ นางฐิติมา ฉายแสง อดีต ส.ส. 2 สมัย ผู้สมัครหมายเลข 2 จากพรรคเพื่อไทย ได้ 35,488 คะแนน นำห่างจาก นายมติชน ชูทับทิม ผู้สมัครหมายเลข 7 จากพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ได้ 33,000 คะแนน ทั้งที่ในระยะแรกเป็นผู้มีคะแนนนำมาตลอด แต่ถูกแซงขึ้นไปในช่วงสุดท้ายในที่สุด

ส่วนนายธนะชัย แสวงศิริผล ผู้สมัครหน้าใหม่ จากพรรคก้าวไกล มาเป็นลำดับ 3 ได้คะแนน 26,001 คะแนน / อันดับ 4 นายรัฐสภา นพเกตุ บุตรชายกำนันบัง “นายสมบัติ นพเกตุ” คนดังแห่ง อ.แปลงยาว และยังเป็นบุตรเขยตระกูล “จารุสมบัติ” ผู้สมัครหมายเลข 3 พรรคพลังประชารัฐ ได้ 13,595 คะแนน / อันดับ 5 นายเฉลิง จูจำรัส ผู้สมัครหมายเลข 8 จากพรรคชาติไทยพัฒนา 4,151 คะแนน / อันดับ 6 นายประโยชน์ โสรัจจกิจ ผู้สมัครหมายเลข 4 พรรคประชาธิปัตย์ 1,409 คะแนน

ขณะที่อดีต ส.ส.เก่า 1 สมัยอย่างนายกิตติชัย เรืองสวัสดิ์ ผู้สมัครหมายเลข 5 ที่เคยได้รับเลือกตั้งเมื่อครั้งลงสมัครในนามพรรคอนาคตใหม่ แต่ย้ายมาสังกัดพรรคภูมิใจไทย ได้ 1,223 คะแนน เป็นลำดับที่ 7 / อันดับ 8 นายเชิดชัย บัณฑุเจษฎา พรรคเสรีรวมไทย หมายเลข 1 ได้ 821 คะแนน / อันดับ 9 นายมานิตย์ จินดามงคล ผู้สมัครหมายเลข 12 พรรคคลองไทย 254 คะแนน

อันดับ 10 นายสมศักดิ์ วงศ์จินดา ผู้สมัครหมายเลข 9 พรรคไทยศรีวิไลย์ 234 คะแนน / อันดับ 11 นายวสันติ์ กันเนื่อง ผู้สมัครหมายเลข 13 พรรคพลังปวงชนไทย 171 คะแนน / อันดับ 12 นายสุทธิศักดิ์ ทองคำ ผู้สมัครหมายเลข 11 พรรคไทยภักดี 119 คะแนน / อันดับ 13 นายวินัย ผดุงเจริญ พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย หมายเลข 10 ได้ 70 คะแนน

โดยเขตเลือกตั้งที่ 1 นี้ พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขต อ.เมืองฉะเชิงเทรา และ อ.บ้านโพธิ์บางส่วน เฉพาะ ต.เทพราช เกาะไร่ คลองประเวศ และบางกรูด มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจำนวน 143,562 คน ออกมาใช้สิทธิ์ 122,124 คน คิดเป็นร้อยละ 85.07 มีบัตรดี 116,536 ใบ / บัตรเสีย 3,088 ใบ / บัตรไม่เลือกผู้ใด 2,500 ใบ

สำหรับเขตเลือกตั้งที่ 2 ผู้ได้รับเลือกตั้งคือ นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ผู้สมัครหมายเลข 4 พรรคพลังประชารัฐ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 สมัย ได้ 42,777 คะแนน ขณะที่ นายพงศ์ศรัณย์ อัศวชัยโสภณ ผู้สมัครพรรคเพื่อไทย หมายเลข 3 บุตรชายนายสมชัย อัศวชัยโสภณ อดีต ส.ส.พรรคพลังประชาชนและเพื่อไทย 2 สมัย ได้ 40,785 คะแนน

อันดับ 3 นายนพรัตน์ มุริกะ หมายเลข 2 พรรคก้าวไกล 22,793 คะแนน / อันดับ 4 นายฐาปกรณ์ เกิดพิทักษ์ หมายเลข 7 พรรครวมไทยสร้างชาติ 2,798 คะแนน / อันดับ 5 นายอมรชัย ปิ่นเจริญ หมายเลข 1 พรรคประชาธิปัตย์ 1,715 คะแนน / อันดับ 6 น.ส.รุ้งณภา สิงห์เทศ หมายเลข 5 พรรคภูมิใจไทย 387 คะแนน / อันดับ 7 น.ส.พัชรี มะลูลีม หมายเลข 8 พรรคพลังปวงชนไทย 363 คะแนน / อันดับ 8 นายไพบูลย์ พิศาลยุทนาพงษ์ หมายเลข 6 พรรคเสรีรวมไทย 330 คะแนน / อันดับ 9 น.ส.นุชชา วิไชยยา หมายเลข 9 พรรคคลองไทย 185 คะแนน

  โดยเขตเลือกตั้งที่ 2 นี้อยู่ในเขตพื้นที่ อ.บางน้ำเปรี้ยว บางคล้า ราชสาส์น คลองเขื่อน พนมสารคามบางส่วน เฉพาะ ต.พนมสารคาม และหนองยาว มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 142,721 คน ออกมาใช้สิทธิ์ 119,211 คน คิดเป็นร้อยละ 83.53 บัตรดี 112,133 ใบ / บัตรเสีย 4,644 ใบ / ไม่ประสงค์เลือกผู้ใด 2,434 ใบ

  เขตเลือกตั้งที่ 3 ผู้ได้รับการเลือกตั้งคือ นายศักดิ์ชาย ตันเจริญ บุตรชายของนายสุชาติ ตันเจริญ อดีต ส.ส. เขต 9 สมัย ผู้สมัครหมายเลข 5 พรรคเพื่อไทย ได้ 45,874 คะแนน นำห่าง “เด็ก สจ.เปี๊ยก (นายวรรณา รอดพิทักษ์)” คือ นายธรรมชาติ พรมพิทักษ์ หมายเลข 7 พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ได้ 34,886 คะแนน /

อันดับ 3 นายเอกราช เนตรดี หมายเลข 1 พรรคก้าวไกล 21,955 คะแนน / อันดับ 4 นายสายัณห์ นิราช หมายเลข 4 พรรคพลังประชารัฐ 928 คะแนน / อันดับ 5 นายหัสชัย สิงหนนท์ หมายเลข 2 พรรคเสรีรวมไทย 562 คะแนน / อันดับ 6 นายสายัณห์ เกตุประยูร หมายเลข 6 พรรคประชาธิปัตย์ 507 คะแนน / อันดับ 7 น.ส.ลัดดาวัลย์ น่วมรัศมี หมายเลข 3 พรรคไทยศรีวิไลย์ 413 คะแนน / อันดับ 8 นายสมรส สุขสวัสดิ์ หมายเลข 9 พรรคไทยภักดี 221 คะแนน / อันดับ 9 น.ส.เสาวลักษณ์ น้อยคำเมือง พรรคภูมิใจไทย หมายเลข 8 ได้ 141 คะแนน / อันดับ 10 นายศักดิ์ชัย ณรงค์หนู หมายเลข 10 พรรคคลองไทย 136 คะแนน

  เลือกตั้งที่ 3 ครอบคลุมพื้นที่ อ.สนามชัยเขต ท่าตะเกียบ และพนมสารคาม ยกเว้น ต.หนองยาว ต.พนมสารคาม มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 144,787 คน ออกมาใช้สิทธิ์ 113,283 คน คิดเป็นร้อยละ 78.24 มีบัตรดี 105,623 ใบ / บัตรเสีย 6,069 ใบ / ไม่ประสงค์เลือกผู้ใด 1,591 ใบ

  เขตเลือกตั้งที่ 4 ผู้ได้รับการเลือกตั้ง คือ นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ อดีต ส.ส.เดิม 1 สมัย ผู้สมัครหมายเลข 2 พรรคก้าวไกล ได้ 33,889 คะแนน ชนะคู่แข่งตระกูลดังบ้านใหญ่หลายค่ายทั้ง พล.ต.ท.พิทักษ์ จารุสมบัติ อดีต ส.ส. 1 สมัย หมายเลข 7 พรรคพลังประชารัฐ ที่ตามมาเป็นอันดับ 2 ได้ 26,908 คะแนน / อันดับ 3 จ่าเอกยศสิงห์ เหลี่ยมเลิศ หมายเลข 3 พรรครวมไทยสร้างชาติ 26,022 คะแนน /

อันดับ 4 นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และ ส.ส.พื้นที่เดิมหลายสมัย หมายเลข 5 พรรคเพื่อไทย ได้ 20,639 คะแนน / อันดับ 5 นายศุภกร นพศิริ หมายเลข 1 พรรคประชาธิปัตย์ 786 คะแนน / อันดับ 6 น.ส.สาริศา แสงจันทร์ หมายเลข 6 พรรคภูมิใจไทย 767 คะแนน / อันดับ 7 นายอนุเทพ ชาติเชษฐ์พงษ์ หมายเลข 4 พรรคเสรีรวมไทย 625 คะแนน / อันดับ 8 นายพรชัย หาญชนะ หมายเลข 9 พรรคปวงชนไทย 173 คะแนน / อันดับ 9 นายสุระเด่น สุวรรณะ หมายเลข 8 พรรคไทยศรีวิไลย์ 159 คะแนน

  โดยเขตเลือกตั้งที่ 4 นี้ครอบคลุมพื้นที่ อ.บางปะกง แปลงยาว และบ้านโพธิ์บางส่วน ยกเว้น ต.เทพราช เกาะไร่ คลองประเวศ และบางกรูด มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 140,157 คน ออกมาใช้สิทธิ์ 116,000 คน คิดเป็นร้อยละ 82.76 บัตรดี 109,968 ใบ / บัตรเสีย 4,190 ใบ และไม่ประสงค์เลือกผู้ใด 1,842 ใบ

 

ถอดสัญญาธนาธร ที่เคยให้ไว้กับคนแปดริ้ว

“ธนาธร” ที่เคยให้ไว้กับคนแปดริ้ว หลังชาวบ้านเทคะแนนในระบบบัญชีรายชื่อให้พรรคก้าวไกลได้เป็นที่ 1 อย่างท่วมท้น ในทุกเขตเลือกตั้ง ทะลุ 183,871 คะแนน

วันที่ 15 พ.ค.66 17.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการเลือกตั้ง ส.ส.ผ่านพ้นไปเมื่อวันที่ 14 พ.ค.66 ปรากฎว่าในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา นั้นมีผู้สมัครรับเลือกตั้งจากพรรคเพื่อไทยได้รับเลือกตั้งไปจำนวน 2 ที่นั่งประกอบด้วย นางฐิติมา ฉายแสง ในเขตเลือกตั้งที่ 1 และนายศักดิ์ชาย ตันเจริญ ในเขตที่ 3 ส่วนเขตเลือกตั้งที่ 2 นั้นพรรคพลังประชารัฐได้ 1 ที่นั่ง คือ นายอรรถกร ศิริลัทธยากร และเขต 4 พรรคก้าวไกลได้ 1 ที่นั่ง คือ นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์

แต่สำหรับผลคะแนนเลือกตั้งในแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองนั้น ปรากฎว่า พรรคก้าวไกล ได้คะแนนเสียงจากชาว จ.ฉะเชิงเทรา สูงสุดถึง 183,871 คะแนน ทั้งยังนำหน้าพรรคเพื่อไทยที่ได้ ส.ส.เขตถึง 2 คนแต่มีคะแนนเพียง 128,270 คะแนน ตามด้วยพรรค “ลุงตู่” รวมไทยสร้างชาติ ที่มีคะแนนมาเป็นลำดับ 3 จำนวน 68,872 คะแนน ท่ามกลางการเฝ้าจับจ้องของชาว จ.ฉะเชิงเทรา จากคำกล่าวปราศรัยของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ช่วยหาเสียงของพรรคก้าวไกล ที่เคยให้ไว้ที่ริมเขื่อนข้างหอนาฬิกา ริมแม่น้ำบางปะกง อ.เมืองฉะเชิงเทรา ซึ่งได้ระบุว่า เลือก “กาก้าวไกล ประเทศไทยจะไม่เหมือนเดิม” ทั้งเรื่องของการยกเลิกเกณฑ์ทหาร ที่ระบุว่า ได้มาจากแนวคิดของ ครู-อาจารย์ และนักวิชาการที่ร่วมกันคิดขึ้นมา ตั้งแต่เมื่อครั้งเหตุการณ์ปี 2535 แต่ยังไม่มีใครกล้าทำ และถือเป็นหนึ่งในข้อเสนอ ที่จะให้มีการปฏิรูปทหาร

 นอกจากนี้ยังระบุว่า “หากมีมือมากกว่า 251 มือเมื่อใดในสภา จะทำได้ทันที” ถือเป็นเรื่องที่ง่ายมาก รวมถึงนโยบายการต่อต้านทุนใหญ่ผูกขาดระบบเศรษฐกิจประเทศ ทั้งสุราที่มีมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท และพลังงานที่มีการเจรจาต่อรองให้ประโยชน์แก่กลุ่มทุนมากเกินไป ทำให้มีผลกำไรหลายแสนล้านบาทในรอบ 10 ปี การผลักดันกฎหมายสุราก้าวหน้า ด้วยนโยบายเปิดโอกาสให้ SME เข้าถึงโอกาส เกษตรกรแปรรูปสินค้าโดยใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านสร้างรายได้ให้เกิดผลิตภัณฑ์ของตนเอง การแก้ปัญหาพลังงานและค่าไฟฟ้าแพง ด้วยการเข้าไปแก้ที่ต้นตอ เปลี่ยนวิธีการจัดการใช้ก๊าซธรรมชาติ มาให้ประชาชนใช้ก่อน ขจัดเงินส่วนต่างและลดผลประโยชน์ที่เอื้อกลุ่มทุนให้กลับมาเป็นสวัสดิการรัฐ

 ตามที่ได้เคยปราศรัยไว้ว่า “สามารถทำได้ทันที หากได้เข้าไปมีอำนาจ” นโยบายจัดเก็บภาษีคนรวยหรือภาษีความมั่งคั่ง จากผู้ที่มีทรัพย์สินมากเกินกว่า 300 ล้านบาท ที่จะต้องจ่ายภาษีให้มากขึ้น เพื่อนำมาสร้างสวัสดิการสังคม ยกเลิกการผูกขาดทางเศรษฐกิจ เปิดโอกาสให้คนตัวเล็กได้เข้าถึงโอกาสทางธุรกิจ ด้วยระบบเศรษฐกิจเป็นธรรม สร้างความมั่นคงให้คนได้วางแผนชีวิต และดึงศักยภาพของคนให้ออกมาช่วยกันพัฒนาประเทศ ภายใต้ความทะเยอทะยาน ด้วยการกล้าคิดกล้าฝัน พร้อมผลักดันโครงการรถเมล์ไฟฟ้าในทุกจังหวัด เพื่อลดค่าผ่อน ค่าบำรุงรักษา ค่าซ่อมรถและค่าน้ำมัน รวมถึงปัญหาการแย่งพื้นที่การจอดรถ ด้วยการทำรถเมย์ไฟฟ้าที่สะอาด ไม่ก่อมลพิษลดปัญหาสิ่งแวดล้อม PM 2.5 ภายใต้แนวคิด “การเดินทางเป็นโอกาสของชีวิต” ทั้งยังจะทำให้น้ำประปาดื่มได้ เพื่อยกเป็นมาตรฐานตามประเทศที่พัฒนาแล้วช่วยลดต้นทุนการใช้ชีวิต ต่อเนื่องด้วยการนำเทคโนโลยีด้านต่างๆ เข้ามาใช้ในการผลิต สร้างงานให้บุตรหลานมีงานทำมั่นคง ได้เงินเดือนสูงด้วยมูลค่าเพิ่มทางเทคโนโลยี

โดยเฉพาะการปราศรัยในช่วงท้ายของวันนั้น (9 เม.ย.66) ที่ระบุว่า “พรรคเราไม่ได้ใช้เงินเยอะแยะในการหาเสียง นี่คือการเมืองแบบเราถ้าใช้เงินเยอะแยะ เมื่อเข้าไปมีอำนาจก็ต้องไปถอนทุนคืนจึงไม่ทำการเมืองอย่างนั้น เพราะหากเข้าไปทำการเมืองแบบนั้น ก็ต้องไปประนีประนอม เมื่อประนีประนอมก็จะแก้ปัญหาที่ต้นตอไม่ได้ เข้าไปก็ต้องทุจริตคอรัปชั่น” โดยยังได้ย้ำไว้อีกว่า “หากทำการเมืองอย่างนั้นไม่ตั้งพรรคดีกว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการพิสูจน์ว่าการทำการเมืองแบบนี้จะอยู่รอดได้จริงหรือเปล่า เพราะโดนปรามาสไว้เยอะว่าจะอยู่ได้ครั้งเดียวเท่านั้น 

หากใครติดตามการทำงานในสภาจะเห็นได้ว่าเราโดดเด่นขนาดไหน อยากให้มีพรรคอย่างนี้อยู่ไหม หากเราทำงานการเมืองแบบนี้เป็นจริงได้ จะทำให้คนอื่นทำตาม ถ้าหากล้มเหลวจะไม่มีใครกล้าสร้างพรรคการเมืองแบบนี้อีก การเลือกตั้งครั้งนี้สำคัญมาก เป็นการยืนยันความเป็นจริงว่ามันยืนได้หรือไม่ในสังคมนี้” พร้อมทิ้งท้ายเอาไว้ด้วยว่า “จะมุ่งมั่นตั้งใจทำงาน ขอคะแนนเสียงที่ไม่ใช่อามิสสินจ้างแต่ขอแลกเปลี่ยนด้วยคำสัญญาว่า ถ้ามีอำนาจเข้าไปแล้วจะไม่เอาอำนาจนั้นมาหาผลประโยชน์ให้กับตัวเอง แต่จะเอาอำนาจนั้นไปรับใช้ประชาชน จะไปสร้างประเทศไทยที่ไม่เหมือนเดิม จะนำพาความเจริญก้าวหน้าสู่สังคมไทย นี่คือคำสัญญา นายธนาธร กล่าวทิ้งท้ายเอาไว้เมื่อวันที่มาปราศรัยช่วยหาเสียงเลือกตั้งที่ จ.ฉะเชิงเทรา