สรุปฉากทัศน์ ‘จับขั้วตั้งรัฐบาล’ ระวัง ‘เสียงข้างน้อย’ ฉวยโอกาส

สรุปฉากทัศน์ ‘จับขั้วตั้งรัฐบาล’ ระวัง ‘เสียงข้างน้อย’ ฉวยโอกาส

"...ถ้าเพื่อไทยจับมือกับ พล.อ.ประยุทธ์ อาจมีปัญหา แต่หากจับกับ พล.อ.ประวิตร ก็ไม่แน่ เพราะ พล.อ. ประวิตร แสดงออกชัดเจนในเวลานี้ว่า เขาไม่เกี่ยวกับการรัฐประหาร จากการพูดในสภาฯ และชี้นิ้วไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ ว่า นี่คือคนรัฐประหาร และ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยอมรับ..." 

เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา รศ.ดร.เจษฎ์ โทณวณิก นักวิชาการด้านกฎหมาย อดีตที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ปัจจุบันเป็นคณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ให้สัมภาษณ์พิเศษ "วิเคราะห์ศึกการเลือกตั้ง 2566" ผ่านรายการ “Deep Talk” ออกอากาศทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ และยูทูบ “กรุงเทพธุรกิจ” วันที่ 11 พ.ค.2566 

โดยวิเคราะห์แนวโน้ม สูตรการจับขั้วจัดตั้งรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งว่า เท่าที่เป็นไปได้มีอยู่ 2 ลักษณะ แต่ไม่ทราบว่าจะออกสูตรไหน คือ 1.การจับขั้วตามเดิม เช่น ขั้วรัฐบาลเดิม หรือขั้วฝ่ายค้านเดิม 2.การจับข้ามขั้ว คือ ขั้วรัฐบาลเดิมจับกับขั้วฝ่ายค้านเดิม 

โดยนอกจากการสูตรการจัดตั้งรัฐบาล 2 ลักษณะดังกล่าวแล้ว ยังแบ่งได้ 3 รูปแบบคือ 1.เสรีนิยมจับกับเสรีนิยม 2.อนุรักษ์นิยมจับกับอนุรักษ์นิยม 3.เสรีนิยมจับกับอนุรักษ์นิยม

อ.เจษฎ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า สำหรับสูตรจับกันเองระหว่างฝ่ายเสรีนิยม คงไม่พ้นบรรดาพรรคฝ่ายค้านเดิม เช่น เพื่อไทย ก้าวไกล เสรีรวมไทย เป็นต้น แต่ขณะนี้มีความโยกคลอนพอสมควร เนื่องจากเพื่อไทยกริ่งเกรงว่า ก้าวไกลจะได้คะแนนมากกว่า 

หลายปัจจัยทำให้เพื่อไทยอาจคิดได้ว่า จะไม่แลนด์สไลด์ แต่ก้าวไกลก็อาจแลนด์สไลด์ได้ โดยในสูตรนี้คะแนนเพื่อไทยและก้าวไกล เหวี่ยงกันเองไปมาระหว่างกัน และมีน้อยมากที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมจะมาเลือกฝ่ายเสรีนิยม ดังนั้นคะแนนของเพื่อไทยและก้าวไกล จะแย่งกันเอง

ส่วนปัจจัยไหนทำให้เพื่อไทยต้องกริ่งเกรงก้าวไกลนั้น อ.เจษฎ์ ระบุว่า ยกตัวอย่างที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล หรือใครต่อใคร มั่นใจว่าก้าวไกลจะได้ 160 เสียง ส่วนเพื่อไทยแตะ 200 เสียง คะแนนของ 2 พรรคนี้รวมกัน 360 เสียง จะเป็นไปได้ยาก ถ้าการคาดการณ์ที่ว่า 2 พรรคนี้รวมกัน คงเกินครึ่งไม่มากนัก ราวไม่เกิน 260 เสียง ดังนั้นหากก้าวไกลได้ 160 เสียงจริง จะเอาคะแนนมาจากไหน ก็ต้องเอาจากเพื่อไทย

“คะแนนเสียงเดิมที ทุกคนคิดว่าคนเพิ่งเคยเลือกตั้งครั้งแรก หรือ New Voter คงเลือกก้าวไกล แต่จากผลสำรวจ หรือหลายคนวิจัย หรือศึกษามา ไม่ได้แปลว่า New Voter จะเลือกก้าวไกลกันหมด เขาก็เลือกพรรคอื่นเหมือนกัน สมมติให้ก้าวไกล 4 ล้านเสียง บรรดาคนอายุ 18-25 ปีทุกคนให้ก้าวไกลไปอีก รวมกันอีก 4 ล้านเสียง เป็น 8 ล้านเสียง บรรดาผู้ใหญ่ที่เหลือ เลือกก้าวไกลอีก 2 ล้านเสียง รวมกัน 10 ล้านเสียง ถ้าก้าวไกลเอาไป 10 ล้านเสียง ถ้าเพื่อไทยยังได้ 15 ล้านเสียง เท่ากับ 25 ล้านเสียง แต่เฉลี่ยหากคนมาใช้สิทธิเดิม 35 ล้านเสียง ที่เหลืออีก 10 ล้านเสียงเลือกพรรคอื่น คะแนนเขาจะถล่มทลายขนาดนั้นเลยหรือ เชื่อว่าคนเลือก 2 พรรคนี้ราว 17-18 ล้านเสียง ถ้าก้าวไกล 10 ล้าน เพื่อไทยจะเหลือ 7-8 ล้านเสียง” อ.เจษฎ์ ประเมิน 

เมื่อถามว่า กรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี สื่อสารว่าจะกลับไทยเดือน ก.ค.2566 ช่วงเปิดประชุมสภาฯ ทำให้หลายคนมองว่า โอกาสเพื่อไทยจับมือกับก้าวไกลน้อยลง และจะมีการแข่งกันชัดเจน อ.เจษฎ์ มองว่า ก็อาจไม่น้อยลง เพราะนายทักษิณอาจพยายามดึงคะแนนจากก้าวไกล โดยเฉพาะจากสัดส่วนกลุ่มคนที่ยังไม่ตัดสินใจเลือกใคร ราว 20-30% โดยในจำนวนนี้มีฝ่ายเสรีนิยม ที่ยังไม่ตัดสินใจเลือกพรรคใดกับการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นกลุ่มคนที่นายทักษิณเชื่อว่าจะไม่เหวี่ยงข้ามไปฝ่ายอนุรักษ์นิยม แต่คิดว่าจะเลือกเพื่อไทยหรือก้าวไกลดี 

ดังนั้นหากนายทักษิณจะกลับไทย คนพวกนี้จะคิดว่านายทักษิณมาแทนแคนดิเดตนายกฯ เพื่อไทยอย่าง นายเศรษฐา ทวีสิน หรือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร อาจจะดีกว่า 

ส่วนฝ่ายก้าวไกล อย่างนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ชิดซ้าย ไม่มีทางสู้นายทักษิณได้ หากนายทักษิณกลับมาจริง คนกลุ่มนี้เชื่อว่า จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เสกมนต์คาถาให้กลับไปสมัยพรรคไทยรักไทยรุ่งเรือง ดังนั้นกลยุทธ์การกลับมาของนายทักษิณ เพื่อขอรักษาฐานเสียงของเขา ที่อาจไหลไปก้าวไกล ให้อยู่กับเขาก่อน

ทั้งนี้ อ.เจษฎ์ เชื่อว่าการกลับมาของนายทักษิณ อาจมีแนวร่วมมุมกลับจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมจำนวนมาก ที่เดิมไม่อยากออกมาใช้สิทธิ์ เพราะเบื่อ หรือด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ อาจจะออกมาใช้สิทธิ์เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจคล้ายคลึงกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ยุคที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์ ชิงกับคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ โดยกลุ่มคนอนุรักษ์นิยมที่ไม่ค่อยอยากมาใช้สิทธิ์ ต่างแห่มาใช้สิทธิ์จำนวนมาก บางคนอ้างว่ายอมหลั่งน้ำตาเพื่อมาเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เพราะเกิดการปลุกกระแส "ไม่เลือกเราเขามาแน่" เป็นต้น 

เช่นเดียวกันในการเลือกตั้งครั้งนี้ อาจมีการปลุกวาทกรรมนี้ให้เกิดขึ้นอีก เช่น ไม่อยากเลือก 2 ลุง (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) แต่ถ้าไม่เลือกเราเขามาแน่

ในขณะที่อีกไม่กี่ชั่วโมง จะเกิดการเลือกตั้ง 2566 ทำไมถึงเชื่อว่ายังเหลือคนที่ไม่ตัดสินใจจะเลือกใครถึง 20-30% อ.เจษฎ์ วิเคราะห์ว่า นับเฉพาะการเลือกตั้ง 2566 ครั้งนี้เท่านั้น ในกลุ่มอนุรักษ์นิยมยังมีการคิดเลยว่า หาก 2 ลุงมาเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร หากเลือกพรรคภูมิใจไทย มีเรื่องกัญชา อาจลุกลามบานปลาย ถ้าใช้ในทางการแพทย์ยังพอทำเนา แต่ตอนนี้มันไปไกล 

ครั้นข้ามไปฝ่ายเสรีนิยม ก้าวไกลนี่ปิดประตูเลย ส่วนเพื่อไทยเขามองว่านายเศรษฐาจะไหวหรือไม่ แต่หากนายทักษิณกลับมาคือไม่เอาเลย เหมือนกันกับฝั่งเสรีนิยมพอเหวี่ยงได้ แต่เหวี่ยงข้ามฝั่งคงไม่ แต่เหวี่ยงข้ามฝั่ง 5-10% ได้ก็ดี เหวี่ยงข้ามฝั่งยิ่งน้อยยิ่งมาก ก็มีประโยชน์ ดีกว่าไม่มีเลย เขาก็อยากได้คะแนนตรงนี้มาด้วย มันตัดสินใจยังไม่ได้กัน จะเลือกก้าวไกล หรือเพื่อไทยดี อนุรักษ์นิยมก็มีหลายพรรคไม่รู้เอาพรรคไหนดี

“ได้ยินล่าสุด คนในชนบทมาเล่าให้ฟังว่า มีการบลัฟกันว่า บ้านนอกทันสมัยเลือกก้าวไกล บ้านนอกทั่วไปเลือกเพื่อไทย ผมก็คนบ้านนอก แต่แถวบ้านผมก็ไม่ได้บลัฟกันแบบนี้ แต่คนที่เรียกตัวเองคนชนบทจำนวนหนึ่ง เขาบอกแบบนี้ เพราะฉะนั้นเพื่อไทยกริ่งเกรงตรงนี้ด้วยว่า คนจำนวนหนึ่งอยากทันสมัย ไปบลัฟเพื่อนได้ คุยได้” อ.เจษฎ์ กล่าว

ส่วนการเลือกตั้งครั้งนี้ จะมีการโหวตเลือกเชิงยุทธศาสตร์ เหมือนตอนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เมื่อปี 2565 หรือไม่ อ.เจษฎ์ มองว่า อาจจะไม่ขนาดนั้นเสียทีเดียว เพราะการเลือกตั้ง ส.ส.ผู้เล่นเยอะกว่ามาก อีกเรื่องคือในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ปี 2565 ศักยภาพของผู้เล่นขาดจากกันมาก หากเทียบกัน เช่น นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กับนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร จากพรรคก้าวไกล และผู้สมัครคนอื่น 

ส่วนการตัดคะแนนกัน มันก็ไม่เหมือนกับสนามเล็ก แม้จะเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นขนาดใหญ่ แต่ว่าการตัดคะแนนกัน มันตัดข้ามฝั่งไม่มาก ตัดฝั่งเดียวกันก็ไม่เยอะ ตอนนั้นเขาคิดกันเลยว่าจะเลือกนายชัชชาติกันหมด ไม่ได้กระโดดข้ามจากอีกฝั่ง แต่การเลือกตั้ง 2566 คราวนี้แต่ละคนต่างมีคะแนนเสียงของตัวเอง มันพอฟัดพอเหวี่ยงทั้ง 2 ฝั่ง

เมื่อถามว่าหากพรรคเพื่อไทยจับกับขั้วรัฐบาลเดิม โดยไม่มี พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร เท่าที่ประเมินพอเป็นไปได้หรือไม่ อ.เจษฎ์ กล่าวว่า แบบนี้เรียกว่าสูตรข้ามขั้ว คือเพื่อไทยจับกับพรรคภูมิใจไทย โดยไม่เอา 2 ลุง ดังนั้นต้องรอดูก่อนว่าพรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ ประมาณไหน ถ้าเกิดคะแนนรวมกันแล้วได้ 150 เสียงขึ้น ถ้าไม่เอา 2 ลุงเลยก็ลำบากเหมือนกัน แต่หากรวมเสียงก้าวไกลไปด้วย แล้วก้าวไกลจะอยู่กับพรรคภูมิใจไทยได้หรือไม่ ก็คงยาก

“เชื่อว่าคนไทยจำนวนหนึ่ง หรือคนในโลกจำนวนหนึ่ง มากน้อยแค่ไหนไม่ทราบ เชื่อ 100% ว่า ก้าวไกลมุ่งไปสู่บันได 4-5 ขั้น เริ่มจากแก้ไขหรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หลังจากนั้นปฏิรูปสถาบันฯ แล้วก็ล้มล้างสถาบันฯ คนพวกนี้เขาเชื่อกันอย่างนี้ แล้วคนที่สนับสนุนภูมิใจไทยจะหนุนหรือไม่ ก็ลำบาก แต่ถ้าเพื่อไทย ก้าวไกล ภูมิใจไทยรวมกันได้ 300 เสียง ส่วน 2 ลุงรวมกับพรรคประชาธิปัตย์ และอื่น ๆ ได้ 200 เสียง จะเอาหรือไม่ แต่ปัจจัยคือก้าวไกลกับภูมิใจไทยจะอยู่อย่างไร จะยอมกันหรือไม่” อ.เจษฎ์ กล่าว

ส่วนกรณี 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ดูไม่ลงรอยกัน มองอย่างไร อ.เจษฎ์ กล่าวว่า ตอนนี้เขาแย่งคะแนนกันอยู่ แต่การเมืองไทยไม่มีมิตรแท้ และศัตรูถาวร แล้วแต่ว่าใครจะรู้ว่าท้ายสุดลงเอยอย่างไร ลงเอยที่คะแนนใครมากกว่า ใครจะคุยกันอย่างไร สมมติก้าวไกลแข็งกร้าวจริง ถ้าไม่รวมกับใครทั้งสิ้น ก้าวไกลเตรียมตัวเป็นฝ่ายค้านสูง ต่อให้ได้มากสุด 160 เสียง แต่ทุกพรรคให้ทุกคนโดดเดี่ยวก้าวไกล แม้แต่เพื่อไทยจับกับประชาธิปัตย์อาจจำเป็นต้องทำ เพราะมองว่า มีเด็กซ่าขึ้นมา เด็กซ่าคนนี้ก่อกวนทุกคน ไม่เห็นหัวผู้ใหญ่ หรือแม้แต่เด็กอย่าง น.ส.แพทอธาร ถ้าอย่างนั้นทุกพรรครวมกันเป็น 340 เสียง ขณะที่ก้าวไกลมี 160 เสียง ทำให้ก้าวไกลก็ฝ่ายค้านพรรคเดียว เขาอาจทำแบบนี้ก็ได้

“อย่าลืม การเมืองไทยไม่มีมิตรแท้ ศัตรูถาวร ถ้าตั้งตัวเป็นศัตรูกับทุกคน โดยอยากเป็นศัตรูถาวร หรือถ้าไม่มีมิตรแท้กับใครเลย ถึงแม้ไม่มีมิตรแท้ก็ตาม แต่ตั้งตัวไม่เป็นเพื่อนกับใคร จริง ๆ มันมีโอกาสเป็นไปได้ ถ้าเพื่อไทย โดยเฉพาะทักษิณอยากกลับบ้าน ทักษิณเดินถนนหนทางไปเรื่อย ถ้ารวมกับก้าวไกล คนเขาจะไม่รู้สึกหรือว่า ทักษิณล้มเจ้า อยากอยู่บ้านเมืองไทยสงบหรือไม่ อย่างนี้ต้องคิดหนัก แต่อย่างที่บอก การเมืองไทยถ้าไม่มีมิตรแท้ศัตรูถาวร ก้าวไกลอาจรวมกับเพื่อไทยได้ เขาไม่ได้ทะเลาะกันหรอก อาจแค่แย่งคะแนนกันเท่านั้นเอง” อ.เจษฎ์ กล่าว

ส่วนกรณีก้าวไกลมีจุดยืนพอสมควร ยุทธศาสตร์ของเขาสนหรือไม่ว่า ต้องเป็นรัฐบาล ไม่อย่างนั้นก็เป็นฝ่ายค้านได้ อ.เจษฎ์ กล่าวว่า คิดว่าก้าวไกลอยากเป็นรัฐบาลมาก ๆ ถึงมากที่สุด แต่เขามั่นใจว่าจะได้เป็นรัฐบาล แต่ถ้าเป็นฝ่ายค้านคงไม่ขัด หากเสียงมาน้อย

เมื่อถามย้ำว่าถ้าไม่มีคนจับขั้ว จะเป็นรัฐบาลได้อย่างไร อ.เจษฎ์ เชื่อว่า เขาจะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย หากเขาไม่ได้มากที่สุด ก็ต้องได้จัดตั้ง แบบอังกฤษพรรคที่ได้คะแนนมากสุด จะส่งชื่อไปยังประธานสภาฯ เพื่อทูลเกล้าฯต่อพระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี หากเป็นเช่นนั้น ก้าวไกลบอกว่า เราต้องทำแบบเขา (อังกฤษ) พรรคได้คะแนนมากสุดต้องเป็นนายกฯ อันนั้นอาจเดือดร้อน เพราะไม่รู้ว่าจะได้เป็นนายกฯหรือไม่ เพราะหากก้าวไกลได้ 160 เสียงจริง อย่าลืมว่า มีเสียง ส.ว.อยู่ด้วย อย่างที่บอกว่า พรรคอื่นอาจจับขั้วรวมกัน แล้วให้ก้าวไกลเป็นฝ่ายค้านพรรคเดียว

ประเด็นสำคัญที่ผู้ดำเนินรายการถามคือ สิ่งที่อาจทำให้เพื่อไทยผิดคำพูดหรือไม่ หากจับมือกับ 2 ลุง สวนทางกับนายเศรษฐาที่เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคบอกว่าจะไม่จับ ดังนั้นในการเลือกตั้งครั้งหน้า กองเชียร์เพื่อไทยจะผิดหวังหรือไม่ อ.เจษฎ์ มองว่า ถ้าเพื่อไทยจับมือกับ พล.อ.ประยุทธ์ อาจมีปัญหา แต่หากจับกับ พล.อ.ประวิตร ก็ไม่แน่ เพราะ พล.อ. ประวิตร แสดงออกชัดเจนในเวลานี้ว่า เขาไม่เกี่ยวกับการรัฐประหาร จากการพูดในสภาฯ และชี้นิ้วไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ ว่า นี่คือคนรัฐประหาร และ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยอมรับ 

นอกจากนี้ให้ดูจากความในใจของ พล.อ.ประวิตร ที่โพสต์ไปหลายครั้งก่อนหน้านี้ สื่อถึงการก้าวข้ามความขัดแย้ง อย่างไรก็ดีเชื่อว่าเพื่อไทยคงไม่ได้จับมือกับพลังประชารัฐตั้งแต่ต้น แต่คงต้องดูสิ่งที่ทำต่าง ๆ ก่อนว่า ไม่ได้ขัดแย้งกัน ต้องอธิบายกับกองเชียร์ให้เข้าใจ

“ฐานเสียงทักษิณ เขาเอาทักษิณอย่างเดียว ถ้าเขาบอกเอาเสาไฟฟ้าเป็นนายกฯ ก็มีคนเลือก นับประสาอะไรกับเอาประวิตร มันมีคำอธิบายอยู่แล้ว” อ.เจษฎ์ กล่าว