มติ ป.ป.ช.เอกฉันท์เปิด 2 รายการคดีนาฬิกาเพื่อน เว้นความเห็น จนท.เหตุมีคนนอก

มติ ป.ป.ช.เอกฉันท์เปิด 2 รายการคดีนาฬิกาเพื่อน เว้นความเห็น จนท.เหตุมีคนนอก

มติ ป.ป.ช.เอกฉันท์เปิดเผยข้อมูลแค่ 2 รายการ คดีนาฬิกาเพื่อน "ประวิตร" ให้แก่ "วีระ" ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เว้นความเห็นของ พนักงานเจ้าหน้าที่ เหตุมีผู้ทรงคุณวุฒิ-บุคคลภายนอกด้วย จำเป็นต้องรับรองคุ้มครอง

เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2566 นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ขอชี้แจง กรณีสื่อมวลชนนำเสนอข่าวเกี่ยวกับมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการเปิดเผยข้อมูลกรณีศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กรณีจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินอันเป็นเท็จ ประเด็นแหวนแม่ และนาฬิกาเพื่อน ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ตีตกไปก่อนหน้านี้ ให้แก่นายวีระ สมความคิด ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด 

นายนิวัติไชย กล่าวว่า ในเรื่องนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับทราบคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2566 และมีการหารืออย่างไม่เป็นทางการ โดยไม่ได้มีมติแต่อย่างใด และได้มอบหมายให้สำนักคดี สำนักกฎหมายและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องนำคำพิพากษาไปศึกษา วิเคราะห์ และนำเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาอีกครั้ง

ต่อมา ในวันนี้ (3 พ.ค. 2566) คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีการประชุมพิจารณาเกี่ยวกับ การเปิดเผยเอกสารตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด และมีมติเป็นเอกฉันท์ (6 เสียง) ว่า ให้เปิดเผยเอกสารรายการที่ 1. รายงานและสำนวนการตรวจสอบ การไต่สวน และการไต่สวนเบื้องต้น รวมทั้งบรรดาเอกสารที่เกี่ยวข้อง รายการการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานเอกสารทั้งหมด และเอกสารรายการที่ 3 รายงานการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้

สำหรับรายการเอกสารรายการที่ 2 ความเห็นของพนักงานเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ทุกคนที่รับผิดชอบเรื่องนี้ มีมติเป็นเอกฉันท์ (6 เสียง) ว่าการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. พนักงานไต่สวน พนักงานเจ้าหน้าที่ รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ปรึกษา ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการมาช่วยปฏิบัติงานภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. อันเป็นการคุ้มครองข้อมูลข่าวสารที่พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มาตรา 15 ให้ความคุ้มครอง สอดคล้องกับมาตรา 36 วรรคท้ายของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ประกอบกับศาลปกครองสูงสุดเคยมีคำพิพากษาให้การรับรองคุ้มครอง การเปิดเผยข้อมูลในลักษณะดังกล่าวมาแล้ว 

ดังนั้น จึงมีมติมอบหมายให้สำนักคดี นำคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่เคยมีคำพิพากษาคุ้มครองการเปิดเผยข้อมูล  พร้อมประเด็นปัญหาไปหารือเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว รวมถึงปัญหาข้อขัดข้องกับตุลาการศาลปกครองสูงสุดต่อไป

ทั้งนี้ นายวีระ สมความคิด สามารถยื่นขอรับเอกสารที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้เปิดเผยทั้ง 2 รายการตามข้อ 1 และข้อ 3 ได้ตั้งแต่วันที่ 8 พ.ค. 2566 เป็นต้นไป