กกต.สาธิตคูหาลงคะแนนเลือกตั้ง 66 ย้ำห้ามถ่ายรูป-ฉีกบัตร ผิดกฎหมาย

กกต.สาธิตคูหาลงคะแนนเลือกตั้ง 66 ย้ำห้ามถ่ายรูป-ฉีกบัตร ผิดกฎหมาย

กกต.โหมโรงเตรียมพร้อมรับมือศึกเลือกตั้ง 66 สาธิตเปิดคูหาลงคะแนนใช้สิทธิออกเสียง จัดตั้ง กปน. 9 คน มี รปภ.ประจำอย่างน้อย 1 คน ผู้แทนพรรคการเมืองสังเกตการณ์ด้วย ย้ำห้ามถ่ายรูป-ฉีกบัตร ผิดกฎหมาย

เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2566 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดสาธิตการจัดสถานที่ออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. ในการเลือกตั้ง 2566 โดยการเลือกตั้งจะมีขึ้นในวันที่ 14 พ.ค. 2566 เนื่องจากการจัดที่เลือกตั้งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ทั้งเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการลงคะแนนแก่ผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ตลอดจนเป็นการป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) การจัดที่เลือกตั้งเป็นหน้าที่ของ กปน. จึงควรดำเนินการตามความเหมาะสมของแต่ละสถานที่

กกต.สาธิตคูหาลงคะแนนเลือกตั้ง 66 ย้ำห้ามถ่ายรูป-ฉีกบัตร ผิดกฎหมาย

นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ได้นำคณะสื่อมวลชนเข้าชมการสาธิตการจัดสถานที่ออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. โดยการสาธิตดังกล่าว นายสำราญ ตันพานิช ผอ.สถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง เป็นวิทยากรบรรยายถึงกระบวนการจัดสถานที่ออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง พร้อมทั้งสาธิตการออกเสียงลงคะแนนเพื่อความโปร่งใสในกระบวนการจัดการเลือกตั้ง โดยในสถานที่ออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง จะมีองค์ประกอบและวัสดุอุปกรณ์ที่สำคัญ เช่น

  • คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) จำนวน 9 คน
  • เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำที่เลือกตั้ง (รปภ.) จำนวนอย่างน้อยที่เลือกตั้งละ 1 คน
  • ผู้แทนพรรคการเมือง
  • ป้ายปิดประกาศหน้าหน่วยเลือกตั้ง
  • คูหาออกเสียงลงคะแนนอย่างน้อย 3 คูหา วางห่างกัน (อย่างน้อย 0.5 เมตร) และควรวางห่างจากฝาผนัง หรือฝาทึบ ไม่น้อยกว่า 1 เมตร ระหว่างคูหาให้ใช้เชือกกั้นเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้มีการเดินอ้อมหลังผู้อื่น
  • หีบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ (หีบใส่บัตรแบบบัญชีรายชื่อ และหีบใส่บัตรแบบแบ่งเขต)
  • ป้ายไวนิลแนะนำตัวผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และแบบบัญชีรายชื่อ ติดหน้าหน่วยเลือกตั้ง และติดภายในสถานที่ลงคะแนนอกเสียงเลือกตั้งที่เห็นเด่นชัด

กกต.สาธิตคูหาลงคะแนนเลือกตั้ง 66 ย้ำห้ามถ่ายรูป-ฉีกบัตร ผิดกฎหมาย  

ในการนี้ได้เน้นย้ำให้ กปน.เฝ้าระวังผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งที่อาจะกระทำผิดกฎหมายในคูหาเลือกตั้ง จึงได้มีการติดป้ายข้อห้ามกระทำไว้ในคูหา เช่น การห้ามถ่ายรูปบัตรที่กากบาทลงคะแนนไปแล้ว ซึ่งหากมีการกระทำเกิดขึ้นก็จะทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยลับ ถือเป็นความผิดตามกฎหมาย หรือกรณีการฉีกทำลายบัตรเลือกตั้ง ก็เป็นไปความผิดตามกฎหมายเช่นกัน ส่วนข้อกังวลที่ว่าผู้ใช้สิทธิไม่สามารถจำหมายเลขผู้สมัครได้ กรรมการประจำหน่วยจะปิดป้ายไวนิลหมายเลขพร้อมภาพผู้สมัครติดตั้งไว้ในที่เลือกตั้งให้เด่นชัดให้เป็นที่สังเกตก่อนทำการลงคะแนน
    
ทั้งนี้เชื่อมั่นว่าการจัดเลือกตั้งครั้งนี้ จะทำให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความสุจริต โปร่งใส เที่ยงธรรม และชอบด้วยกฎหมาย บนความร่วมมือของทุกฝ่าย

กกต.สาธิตคูหาลงคะแนนเลือกตั้ง 66 ย้ำห้ามถ่ายรูป-ฉีกบัตร ผิดกฎหมาย