ทร.แจงยิบปม จัดซื้อเป้าบินไอพ่นแบบอัตโนมัติไม่โปร่งใส

ทร.แจงยิบปม จัดซื้อเป้าบินไอพ่นแบบอัตโนมัติไม่โปร่งใส

โฆษกกองทัพเรือ แจงปม จัดซื้อเป้าบินไอพ่นแบบอัตโนมัติไม่โปร่งใส ย้ำ โครงการงบเกิน 20 ล้าน เป็นอำนาจ ผบ.ทร. ส่วนแก้ไขสัญญาหลายครั้ง เป็นการบริหารงบช่วงโควิด-19

2 พฤษภาคม 2566. พลเรือเอก  ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ ชี้แจงข้อเท็จจริง กรณี สื่อมวลชนนำเสนอข่าวในโครงการจัดซื้อเป้าบินไอพ่นแบบอัตโนมัติ  มูลค่าโครงการ 49.8 ล้านบาท โดยระบุว่า มีความยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน รวมถึงไม่มีการทดสอบการใช้งาน แต่กลับมีการแก้ไขสัญญาหลายครั้ง และยังมีการจ่ายเงินให้บริษัทผู้ขายไปแล้ว 47.3 ล้านบาท หรือคิดเป็น 96% ของราคาทั้งหมด  

รวมถึงมีข้อสงสัยประเด็นที่ว่า เป้าบินแบบไอพ่นอัตโนมัติที่จัดหา  จะใช้สำหรับการฝึกยิงอาวุธต่อสู้อากาศยาน ซึ่งต้องถูกปล่อยจากรางภาคพื้นดินเช่นเดียวกับจรวดที่ต้องมีรางปล่อยขึ้นสู่ท้องฟ้า แต่กรมสรรพาวุธทหารเรือ ได้เสนอของบประมาณจัดซื้อเฉพาะเป้าบินโดยไม่ซื้อรางปล่อย ซึ่งให้เหตุผลว่า บริษัทผู้ขายสามารถปรับปรุงรางเก่าที่มีอยู่เดิมแม้จะเป็นคนละยี่ห้อให้สามารถใช้งานกับเป้าบินของใหม่ได้  เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณ   ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่า การปรับลดไม่ซื้อรางปล่อยอาจมีเจตนาเพื่อให้วงเงินอยู่ในอำนาจของผู้อนุมัติ (เจ้ากรมสรรพาวุธทหารเรือ) คือไม่เกิน 50 ล้านบาท และเอื้อบริษัทที่มาเสนอราคา ซึ่งไม่ได้เป็นตัวแทนของผู้ผลิตในต่างประเทศโดยตรงหรือไม่ 

โฆษกกองทัพเรือ ชี้แจงว่า กองทัพเรือ โดย กรมสรรพาวุธทหารเรือ ได้จัดซื้อเป้าบินพิสัยกลางแบบไอพ่น ซึ่งเป็นไปตามสัญญาเลขที่ 46/งป.2563 มูลค่า 49.8 ล้านบาท สำหรับงบประมาณในการดำเนินการดังกล่าวเป็นการจัดซื้อในกรอบวงเงินที่จำกัด จึงจำเป็นต้องปรับปรุงรางปล่อยเดิมให้สามารถใช้กับเป้าบินใหม่ที่ซื้อในครั้งนี้ ซึ่งถือว่าช่วยทางราชการประหยัดงบประมาณ โดยในสัญญาดังกล่าวได้กำหนดงานปรับปรุงรางปล่อยเดิมไว้เรียบร้อยแล้ว 

สำหรับประเด็นที่กล่าวอ้างว่า กรมสรรพวุธทหารเรือปรับลดวงเงินเพื่อให้อำนาจการสั่งซื้ออยู่ที่เจ้ากรมสรรพาวุธทหารเรือ นั้น ไม่เป็นความจริง เนื่องจากการจัดซื้อรายการนี้เป็นการจัดซื้อโดยวิธีคัดเลือก ซึ่งปฏิบัติตามคำสั่ง กห.(เฉพาะ) ที่ 265/65 ลง 5 ก.ค.65 เรื่อง การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุของกระทรวงกลาโหม ได้อำนาจการสั่งซื้อและสั่งจ้างครั้งหนึ่ง สำหรับส่วนราชการในสังกัดกระทรวงกลาโหม โดยกำหนดว่า การจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีคัดเลือกอำนาจการสั่งซื้อสั่งจ้าง เจ้ากรมสรรพาวุธทหารเรือมีอำนาจไม่เกิน 20 ล้านบาท ดังนั้น การจัดซื้อเป้าบินดังกล่าว จึงอยู่ในอำนาจผู้บัญชาการทหารเรือ มิใช่ เจ้ากรมสรรพาวุธทหารเรือ แต่อย่างใด

กรณีบริษัทที่เสนอราคาไม่ได้เป็นบริษัทผู้แทนจากบริษัทต่างประเทศโดยถูกต้อง นั้น กรมสรรพาวุธทหารเรือ ได้พิจารณาคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอแล้วเป็นไปตามคำวินิจฉัยคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างฯ (ว 521) ที่ได้กำหนดคุณสมบัติผู้ที่จะยื่นข้อเสนอว่า กรณีเป็นตัวแทนจำหน่ายต้องยื่นหนังสือแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายที่ต้องได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนจำหน่ายจากผู้ผลิตหรือตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย ในสัญญานี้คณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างของกรมสรรพาวุธทหารเรือ ได้ตรวจสอบเอกสารและหลักฐานทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นไปตาม ว 521 ครบถ้วนทุกประการ โดยเป็นตัวแทนจำหน่ายที่ต้องได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนจำหน่ายจากตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย

ส่วนเหตุผลในการจัดซื้อในครั้งนี้มีการแก้ไขสัญญาหลายรอบ ขอชี้แจ้งว่า การจัดซื้อฯ ครั้งนี้ลงนามในสัญญาเมื่อ 10 มีนาคม 2563 ซึ่งอยู่ในห้วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวมทั้งตามพระราชบัญญัติว่าด้วยวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2562 ซึ่งกำหนดให้ใช้งบประมาณที่กำหนดภายใน 1 ปี (30 กันยายน 2563) และสามารถกันงบประมาณ ปี 62 ได้อีก 6 เดือน พร้อมขยายต่อได้อีก 6 เดือน จึงมีความจำเป็นต้องแก้ไขสัญญา เพื่อให้การบริหารงบประมาณเป็นไปอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีการแก้ไขจำนวน 2 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1 เมื่อ 26 พฤศจิกายน 2563 เป็นการแก้ไขการฝึกอบรม เนื่องจากทั้งสองฝ่ายไม่ได้สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้ จึงขอปรับจากการเรียน ณ ประเทศผลิต เป็นการเรียนออนไลน์จากบริษัทผู้ผลิต และครั้งที่ 2 เมื่อ 30 ธันวาคม 2563 เป็นการแก้ไขวันส่งมอบ และงวดงาน เนื่องจากยังคงมีสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อให้การบริหารงบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงทำการตัดงวดชำระเงิน โดยแบ่งเงินจาก 85% ที่เหลือ ออกเป็น 4 งวด ปัจจุบันเหลืองวดงานสุดท้าย จำนวน 2.485 ล้านบาท ซึ่งเป็นงาน Setting to work ที่ต้องมีวิศวกรจากประเทศผู้ผลิตมาติดตั้ง

สำหรับประเด็น เหตุใดการจ่ายเงินในการจัดซื้อฯ ครั้งนี้มีการจ่ายเงินงวด FAT (Factory Acceptance Test) และงวดส่งของ (Transfer) ทั้งที่ไม่เคยมีหน่วยไหนทำมาก่อน รวมทั้งสาเหตุที่กรมสรรพาวุธทหารเรือขอให้ ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรือ ประจำแคนเบอร์รา ทำการ FAT แทนคณะกรรมการจากกรมสรรพาวุธทหารเรือ และ การฝึกอบรมไม่ได้มาจากบริษัทผู้ผลิต นั้น  เนื่องจากห้วงการทำ FAT  อยู่ในห้วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และ กรมสรรพาวุธทหารเรือได้จัดเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการอบรมกับบริษัทผู้ผลิตผ่านระบบออนไลน์ เมื่อ 19 – 30 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา  

การดำเนินการปัจจุบัน ทาง บริษัท Air Affair ของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นบริษัทประเทศผู้ผลิต ได้ถูกซื้อกิจการจากบริษัท Qinetic ของอังกฤษ เมื่อช่วงปลายปี 2565 โดยขณะนี้ ทางบริษัท Qinetic กำลังเร่งทำหนังสือเพื่อแต่งตั้งให้บริษัทซีซีจี เป็นตัวแทนในประเทศไทย และจะสามารถส่งวิศวกรมาทำการ Setting to work ได้ภายในเดือน มิ.ย.66 ซึ่งพ้นระยะการส่งมอบของตามสัญญาที่กำหนดไว้ ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2566 โดยจะต้องเสียค่าปรับ ซึ่งทาง บริษัทซีซีจี ยินยอมจะเสียค่าปรับดังกล่าว ทั้งนี้ หากเสียค่าปรับไปแล้วเกิน 10% และส่งของไม่เรียบร้อย กรมสรรพาวุธทหารเรือจะพิจารณายกเลิกสัญญาพร้อมเรียกเงินคืน เพื่อไม่ให้กองทัพเรือและกรมสรรพาวุธทหารเรือได้รับความเสียหายต่อไป

โฆษกกองทัพเรือ ยืนยันว่าการจัดหายุทโธปกรณ์ต่างๆ นั้น กองทัพเรือมีนโยบายในการจัดหาด้วยความโปร่งใส  มีเอกสารหลักฐานการดำเนินงานอย่างชัดเจน มีขั้นตอนที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดย กองทัพเรือ มุ่งมั่นที่จะพัฒนากองทัพให้มีความทันสมัย เข้มแข็ง สามารถปฏิบัติภารกิจในการปกป้องอธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้กับประชาชนและประเทศชาติ โดยคำนึงถึงการใช้งบประมาณให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด โปร่งใส และ ตรวจสอบได้ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ  พลเรือเอก เชิงชาย  ชมเชิงแพทย์  ผู้บัญชาการทหารเรือ ที่ได้มอบไว้ ให้หน่วยต่างๆ ของกองทัพเรือนำไปปฏิบัติอย่างเคร่งครัด