กกต.ออกกฎเหล็กผู้สังเกตการณ์เลือกตั้ง - “ก้าวไกล” กังขาหวั่นเกิดทุจริต

กกต.ออกกฎเหล็กผู้สังเกตการณ์เลือกตั้ง - “ก้าวไกล” กังขาหวั่นเกิดทุจริต

กกต.ออกกฎเหล็กเข้ม! ผู้สังเกตการณ์เลือกตั้งนับคะแนนวันกาบัตร ห้ามตอบโต้ จนท.ในหน่วย-ห้ามบันทึกภาพ หากฝ่าฝืนสั่งออกนอกสถานที่ได้ “ก้าวไกล” กังขาไฉนให้พรรคควักเงินจ่ายผู้สังเกตการณ์เลือกตั้งเอง “โรม” ชี้เสี่ยงเกิดทุจริต ส่งตัวแทนไปดูได้ไม่ครบทุกหน่วย

เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2566 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยแพร่เอกสารชี้แจงกรณีการส่งตัวแทนของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.เข้าสังเกตการณ์การเลือกตั้ง 2566 ระบุว่า ตามที่ กกต.กำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค. 2566 โดยพรรคที่ส่งผู้สมัครประสงค์จะส่งผู้แทนเพื่อสังเกตการณ์ออกเสียงลงคะแนนหรือการนับคะแนนให้ดำเนินการดังนี้

1.ให้ยื่นหนังสือขอแต่งตั้งผู้แทนของตนต่อ กกต.ภายในวันที่ 28 เม.ย. 2566 โดยให้แต่งตั้งเพื่อประจำที่เลือกตั้ง ที่เลือกตั้งกลาง หรือสถานที่นับคะแนนบัตรเลือกตั้ง ได้แห่งละ 1 คน ตามแบบ ส.ส. 2/10 

2.ผู้แทนพรรคการเมืองต้องอยู่ในที่ซึ่งจัดไว้ ณ ที่เลือกตั้ง ที่เลือกตั้งกลาง หรือสถานที่นับคะแนนบัตรเลือกตั้ง แล้วแต่กรณี ซึ่งสามารถมองเห็นการปฏิบัติงานได้ โดยห้ามไม่ให้กระทำ หรือกล่าวโต้ตอบกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง กรรมการประจำที่เลือกตั้งกลาง กรรมการนับคะแนนบัตรเลือกตั้ง หรือระหว่างกันเอง หรือบันทึกภาพการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการ หรือการออกเสียงลงคะแนนของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง และต้องปฏิบัติตามที่กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง กรรมการประจำที่เลือกตั้งกลาง หรือกรรมการนับคะแนนบัตรเลือกตั้งกำหนด

ทั้งนี้หากมีการฝ่าฝืน ให้กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง กรรมการประจำที่เลือกตั้งกลาง หรือกรรมการนับคะแนนบัตรเลือกตั้งตักเตือน หากยังฝ่าฝืนอีกให้ กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง กรรมการประจำที่เลือกตั้งกลาง หรือกรรมการนับคะแนนบัตรเลือกตั้ง มีอำนาจสั่งให้ผู้แทนพรรคการเมืองออกไปจากที่เลือกตั้ง ที่เลือกตั้งกลาง หรือสถานที่นับคะแนนบัตรเลือกตั้งแล้วแต่กรณี โดยให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามคำสั่ง และให้บันทึกไว้ในรายงานเหตุการณ์ประจำที่เลือกตั้ง

กกต.ออกกฎเหล็กผู้สังเกตการณ์เลือกตั้ง - “ก้าวไกล” กังขาหวั่นเกิดทุจริต

  • “ก้าวไกล” กังขา กกต.ให้พรรคควักเงินจ่ายผู้สังเกตการณ์เลือกตั้งเอง

วันเดียวกัน พรรคก้าวไกล โดยนายรังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกล ตั้งข้อสังเกตถึง กกต. กำลังตีความกฎหมายไม่ให้พรรคการเมืองส่งผู้แทนไปสังเกตการณ์ในหน่วยเลือกตั้ง ว่า จากกรณีที่ กกต. กำหนดให้พรรคการเมือง เป็นผู้รับผิดชอบค่าเบี้ยเลี้ยงสังเกตการณ์เลือกตั้งนั้น เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติและเสี่ยงทำให้เกิดทุจริตเลือกตั้ง พรรคก้าวไกลขอให้ กกต. ทบทวนการตีความกฎหมายแบบนี้ อย่าให้ประชาชนกังขาในความโปร่งใสของ กกต. ไปมากกว่านี้เลย

1. โดยปกติพรรคการเมืองสามารถส่งตัวแทนไปสังเกตการณ์ เพื่อให้มั่นใจว่าระหว่างการเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่ กกต. หรือใครก็ตาม จะไม่มีการทุจริตเกี่ยวกับบัตรเลือกตั้งหรือการนับคะแนน เกิดเหตุการณ์บัตรเขย่งเหมือนที่ผ่านมา

2. แต่การจะทำเช่นนี้ได้ ต้องมีการฝึกอบรม ผู้สังเกตการณ์ต้องเฝ้าระวังการทุจริตตั้งแต่เช้าถึงเย็น ไม่ควรมีใครทำงานฟรี ต้องมีการให้ค่าตอบแทน ค่าอาหาร กระบวนการเหล่านี้ต้องใช้เงินจำนวนมาก

3. นี่ทำให้มีพรรคการเมืองถาม กกต. ว่าการแต่งตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำหน่วยเลือกตั้งเพื่อสังเกตการณ์การออกเสียงลงคะแนนและนับคะแนน ส.ส. แบบแบ่งเขต ค่าใช้จ่ายในการอบรมตัวแทนและค่าเบี้ยเลี้ยงในวันปฏิบัติงาน “เป็นค่าใช้จ่ายของพรรค ของผู้สมัคร หรือของใคร”

4. แต่ กกต. กลับตอบคำถามนี้มาว่า “ค่าใช้จ่ายเหล่านี้จะเป็นความรับผิดชอบของพรรคการเมือง”

5. ซึ่งหากคิดค่าตอบแทนให้อาสาสมัคร 400 บาทต่อคนต่อวัน และมีคูหากว่าแสนหน่วยเลือกตั้ง แสดงว่าค่าใช้จ่ายเหล่านี้คิดเป็นเงินใช้จ่ายเลือกตั้งมากกว่า 40 ล้านบาท

6. พรรคการเมืองมีโควตาการใช้เงินทั้งหมดเพียง 44 ล้านบาท นั่นเท่ากับพรรคการเมืองจะเหลือโควตาใช้เงินอีกเพียง 4 ล้านบาทในการทำแคมเปญและการรณรงค์ ซึ่งจำนวนนี้เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย

กกต.ออกกฎเหล็กผู้สังเกตการณ์เลือกตั้ง - “ก้าวไกล” กังขาหวั่นเกิดทุจริต

7. การตีความเช่นนี้ สุ่มเสี่ยงจะก่อให้เกิดการทุจริต และทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่โปร่งใส เพราะพรรคการเมืองอาจไม่สามารถส่งตัวแทนสังเกตการณ์ได้ครบทุกหน่วย

8. ต้องตั้งคำถามว่า พรรคการเมือง ประชาชน จะไว้วางใจ กกต. ได้อย่างไร เพราะการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 การทำงานของ กกต. ได้ฝากบาดแผลไว้กับสังคมไม่น้อย และยังเห็นว่าการตีความครั้งนี้ของ กกต. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เงื่อนไขที่ กกต. กำหนด ทำให้พรรคการเมืองไม่สามารถร่วมตรวจสอบการเลือกตั้งให้เป็นไปอย่างโปร่งใสได้

“พรรคก้าวไกลขอเรียกร้องให้ กกต. ตีความตาม พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 55 คือพรรคการเมืองเป็นคนแจ้งชื่อว่าจะมีผู้ใดไปอยู่ตามหน่วยเลือกตั้ง แต่ค่าใช้จ่ายเหล่านี้สามารถอยู่ในค่าใช้จ่ายของผู้สมัครเขตได้ หรือหาก กกต. ยืนยันว่าควรเป็นค่าใช้จ่ายของพรรคการเมือง ก็ควรมีการขยายเพดานค่าใช้จ่าย ให้พรรคสามารถมีค่าใช้จ่ายเพียงพอกับการรณรงค์หาเสียง วิธีการเช่นนี้จะเป็นธรรมมากกว่า ขอฝากถึง กกต. อย่าปล่อยให้ประชาชนกังขากับการทำงานและความโปร่งใสของ กกต. ไปมากกว่านี้เลย” นายรังสิมันต์ กล่าว