ว่าด้วยสถิติการนับคะแนนเลือกตั้ง

ว่าด้วยสถิติการนับคะแนนเลือกตั้ง

จาก “บล็อกเชนโพล” ของมหาวิทยาลัยศรีปทุม (SPU) ร่วมกับ D-vote (11 เม.ย. 2566) พบว่าปัญหาที่ประชาชนคาดหวังให้รัฐบาลหน้าเร่งแก้ไขหลังจบการเลือกตั้งมากที่สุด 3 อันดับแรก ล้วนเป็นปัญหาเศรษฐกิจ! คือปัญหาค่าครองชีพ 44.74%

ปัญหาความยากจน-หนี้สิน 33.44% และปัญหาเศรษฐกิจอ่อนแอ 28.23% โดยรองลงมาคือ ปัญหาอาชญากรรม ความเหลื่อมล้ำ และคอรัปชั่น ตามลำดับ

นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วนหรือด้วยการจ่ายเงิน หรือที่ถูกเรียกสั้น ๆ  ว่า “นโยบายประชานิยม” ที่ไม่ว่าใครจะมองคำนี้ในแง่บวกหรือลบอย่างไร โค้งสุดท้ายเลือกตั้งนี้เกือบทุกพรรค ต่างก็ทยอยออกมานำเสนอให้กับประชาชน เพื่อให้เกิดความนิยมจนตัดสินใจลงคะแนนเสียงให้ในวันที่ 14 พ.ค. นี้ วันที่เสียงของเราทุกคนจะทรงพลังที่สุดในรอบ 4 ปี

ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย บัตรสวัสดิการฯ 700-1,000 บาท บำนาญประชาชนอายุ 60-65 ปีขึ้นไป 3,000 บาท เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 60-80 ปีตั้งแต่ 3,000-5,000 บาท ไปจนถึงกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท

เกือบทุกโพลสำรวจผลมาตรงกันว่า ณ ขณะนี้พรรคการเมืองที่ประชาชนนิยมมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ เพื่อไทย ก้าวไกล และรวมไทยสร้างชาติ ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม “เนชั่นโพล” (18 เม.ย. 2566) ได้ทำการสำรวจว่าประชาชน 15.26% ยังสามารถเปลี่ยนใจเลือกคน/พรรคอื่นได้ก่อนจะถึงวันเลือกตั้ง

และอีก 35.86% ระบุว่ายังไม่แน่ใจว่าจะเปลี่ยนใจหรือไม่ ซึ่งรวมกันแล้วประเมิณได้ว่า มีประชาชนถึงครึ่งนึงเลยทีเดียว ที่กำลังลังเลที่จะกาอยู่ระหว่าง 1-2 พรรคหรือมากกว่า สำหรับบัตรลงคะแนนใบนึงหรือทั้งคู่

และผลโพลส่วนใหญ่ชี้ตรงกันว่าอาจไม่มีพรรคใดทำแลนด์สไลด์ได้ ทำให้คะแนนเสียงรวมของแต่ละฝั่งที่กำลังสู้กันอยู่ก้ำกึ่งมาก ๆ

แต่วันนี้สิ่งที่ผมกลับกังวลว่าก่อนที่ฝั่งใดจะชนะจนจัดตั้งรัฐบาลได้ ก่อนที่นโยบายใดจะถูกนำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจจนได้ผลจริงหรือไม่สมกับที่สมาชิกและแฟนคลับของแต่ละพรรคตั้งใจคิดตั้งหาเสียงกันนั้น คือบันไดขั้นแรกเลยว่า คะแนนเสียงของเราทุกคนจะถูกนับอย่างถูกต้อง จนนำไปสู่ผู้แทนที่เราเลือกจริง รัฐบาลที่คนส่วนใหญ่เลือกกันจริง ๆ หรือไม่

 ยิ่งคะแนนเสียงก้ำกึ่งกันแบบนี้ หากมีข้อผิดพลาดของการนับคะแนนเพียงเล็กน้อย ก็อาจทำให้ได้รัฐบาลที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้เลือก

จากการที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เผยถึงวิธีนับและส่งคะแนนสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ว่ามีทั้งหมด 8 ขั้นตอนด้วยกัน ตั้งแต่การปิดการออกเสียงลงคะแนน การตรวจสอบจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ใช้ไป การนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง การตรวจสอบจำนวนอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง การติดประกาศผลหน้าหน่วยเลือกตั้ง การส่งคะแนนจากหน่วยเลือกตั้งให้กรรมการประจำเขต การส่งผลคะแนนของเขตให้กรรมการประจำจังหวัด ไปจนถึงกรรมการประจำจังหวัดส่งผลคะแนนให้ กกต. ประกาศผลเลือกตั้ง

ในขณะที่ระบบรายงานผลเลือกตั้งครั้งนี้มีเพียงระบบที่เรียกว่า ECT Report หรือการใช้โปรแกรมลักษณะ Excel ที่ให้แต่ละเขตระดมคีย์ข้อมูล โดยประชาชนจะทราบผลรวมทีเดียวประมาณ 22:00 น. (ซึ่งอาจนานกว่า หรือถึงกับข้ามวันก็เป็นไปได้?) แต่จะไม่มีการใช้แอปพลิเคชันหรือเทคโนโลยีใด ๆ  ในกระบวนการดังกล่าวที่ทำให้ประชาชนสามารถรับทราบผลผ่านสื่อในระหว่างการนับคะแนนได้เลย

ลองประเมินการระดมคีย์ข้อมูลคะแนนเลือกตั้งผ่าน Excel จากหน่วยเลือกตั้งเกือบ 1 แสนหน่วย, จากบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ, จาก 67 พรรค 67 หมายเลขสำหรับ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และจาก 70 พรรค 70 หมายเลขสำหรับ ส.ส.แบบแบ่งเขต (ซึ่งแต่ละพรรคก็เบอร์ต่างกันในแต่ละเขต) จะต้องบริหารจัดการอย่างไร ต้องใช้พนักงานคีย์ข้อมูลที่มีคุณสมบัติอย่างไร ถึงจะมั่นใจได้ว่าการคีย์เลขต่าง ๆ ไม่มีข้อผิดพลาด ไม่มีปัญหาบัตรเขย่ง?

โดยสถิติแล้ว หากเกิดข้อผิดพลาดในการนับและคีย์คะแนน แม้ไม่ได้ตั้งใจ คะแนนก็จะเฉลี่ยตกไปยังพรรคต่าง ๆ ทั้ง 67 พรรค ก็จะเกิดปรากฎการณ์ที่จะมีพรรคที่ได้ปาร์ตี้ลิสต์เข้าสภามา 1 คน จากข้อผิดพลาดนี้ จะกี่พรรคลองคำนวณกันดู

อันนี้ยังไม่รวมการแบ่งเขตแบ่งแขวงรูปแบบใหม่ บัตรเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตใช้บัตรโหลไม่มีชื่อพรรค ซึ่งวันนี้ประชาชนหลายคนยังจำเบอร์เขตเบอร์พรรคที่ต้องการเลือกไม่ได้ ฯลฯ

ด้วยสถิตินี้ ผมจึงเข้าร่วมกับพันธมิตรกว่า 50 องค์กรนำโดยสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย), สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์, สมาคมฟินเทคประเทศไทย, สมาคมเมตาเวิร์สไทย ฯลฯ ร่วมทำโครงการ “The Watcher: เฝ้าคูหาจับตานับคะแนน”

ตั้งเป้าส่งและบริหารจัดการอาสาสมัคร 100,000 คน เฝ้าหน้าหน่วยเลือกตั้งครบทุกหน่วย ทุกเขตทั่วประเทศ เพื่อใช้แอปพลิเคชันที่พัฒนาขึ้น กดนับและส่งคะแนนแบบเรียลไทม์ให้ทุกคนได้ทราบผล ตั้งแต่นาทีปิดหีบและเริ่มนับบัตรใบแรกจนถึงใบสุดท้าย หากเกิดความผิดปกติก็สามารถตรวจสอบได้ทันท่วงทีให้มากที่สุด และยังมีระบบถ่ายรูปใบประกาศผลหน้าหน่วยเลือกตั้งที่จะถูกถ่ายส่งมาให้คีย์คะแนนเพื่อตรวจสอบความถูกต้องทุกใบ คู่ขนานไปกับผลอย่างเป็นทางการ

ซึ่งโครงการนี้เราพยายามบริหารจัดการให้ประหยัดงบประมาณที่สุดโดยคำนวณแล้วใช้ประมาณ 12 ล้านบาท ซึ่งวันนี้ได้มา 1 ล้านแรกแล้วครับ ซึ่งไม่ว่าจะได้เท่าไรทางโครงการฯ ก็จะทำเต็มที่เพื่อให้การนับคะแนนครั้งนี้ มีสัดส่วนความถูกต้องตามเสียงจริงของทุกคนมากที่สุด ท่านที่สนใจร่วมสนับสนุนสามารถเข้ามาทางออนไลน์ได้ที่ “D-vote.com/TheWatcher” นะครับ