"แกนนำทุกพรรค" พร้อมพาผู้สมัครจับเบอร์ส.ส.กทม.-ขึ้นรถแห่หาเสียง

"แกนนำทุกพรรค" พร้อมพาผู้สมัครจับเบอร์ส.ส.กทม.-ขึ้นรถแห่หาเสียง

จับเบอร์ผู้สมัคร ส.ส. กทม. คึกคัก “แกนนำพรรคการเมือง” ร่วมส่งผู้สมัครจับเบอร์ตั้งแต่เช้าตรู่ ก่อนขึ้นรถแห่สักการะศาลหลักเมือง-วัดพระแก้ว-วัดชนะสงคราม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดรับสมัคร ส.ส. เขต ทั่วประเทศในวันที่ 3 เม.ย. ทำให้ทุกพรรคการเมือง มีกำหนดการสมัครส่งว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. กทม. ลงทะเบียนสมัครและจับเบอร์ที่สนามกีฬาไทยญี่ปุ่น โดยเริ่มตั้งแต่เวลา 06.00 น. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย นำผู้สมัคร ส.ส. กทม. เดินทางจากพรรคเพื่อไทย โดยนั่ง EV ไปยังจุดสมัคร

เวลา 06.00 น. นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ นำผู้สมัครจากพรรคภูมิใจไทย นั่งรถเมล์ไฟฟ้า ไปที่ยังจุดสมัคร เวลา 06.15 น. นายสกลธี ภัททิยกุล นำผู้สมัครจากพลังประชารัฐ นั่งรถกอล์ฟ ไปที่ยังจุดสมัคร เวลา 06.20 น. คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย นำผู้สมัครพรรคไทยสร้างไทย เดินทางถึงที่สมัคร

เวลา 06.30 น. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล นำผู้สมัครพรรคก้าวไกล นั่งรถเมล์เดินทางถึงที่สมัคร เวลา 06.30 น. นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า นำผู้สมัครพรรคชาติพัฒนากล้าเดินทางถึงที่สมัคร 

 

เวลา 07.00 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นำผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์เดินทางถึงที่สมัคร เวลา  07.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำผู้สมัครพรรครวมไทยสร้างชาติเดินทางถึงที่สมัคร และเวลา 07.30 น. นายนิกร จำนง ประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา นำผู้สมัครพรรคชาติไทยพัฒนาเดินทางถึงที่สมัคร

ทั้งนี้คาดการณ์ว่าการรับสมัคร ส.ส. กทม. จะเสร็จสิ้นภายในเวลา 10.00 น. โดยหลังจากนั้นแกนนำพรรคการเมืองจะขึ้นรถแห่ไปยังสถานที่ต่าง อาทิ พรรคเพื่อไทยไปศาลหลักเมือง พรรครวมไทยสร้างชาติไปวัดพระแก้ว-ศาลหลักเมือง พรรคประชาธิปัตย์ ไปศาลหลักเมือง-วัดพระแก้ว พรรคพลังประชารัฐ ไปศาลหลักเมือง พรรคภูมิใจไทย ไปวัดชนะสงคราม  พรรคชาติพัฒนากล้า ไปไหว้พระพรหมเอราวัณ

 

อย่างไรก็ดีก่อนหน้านี้ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยแพร่ประกาศ ในวันที่ 1 เมษายน 2566 ชี้แจงแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดขบวนแห่ในวันสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 3 - 7 เมษายน 2566 ซึ่งเป็นวันรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และในวันที่ 4 - 7 เมษายน 2566 ซึ่งเป็นวันรับสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ และแจ้งรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองมีมติจะเสนอสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี

โดยผู้สมัครรับเลือกตั้ง ในการเลือกตั้ง 2566 นั้น  พรรคการเมืองและบุคคลที่เกี่ยวข้องในการจัดขบวนแห่หรือกองเชียร์ที่แสดงการสนับสนุนเข้ามาในสถานที่สมัครรับเลือกตั้ง เพื่อให้กำลังใจแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมืองในวันดังกล่าว เมื่อกระบวนการสมัครเสร็จสิ้นลงแล้ว ไม่ควรมีการจัดขบวนหรือกองเชียร์ออกจากสถานที่รับสมัครไปตามถนน ตำบล หรือหมู่บ้านในลักษณะดังกล่าวอีก 

เนื่องจากเคยมีคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 และคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยไว้ในทำนองเดียวกันว่า การจัดขบวนแห่และรถยนต์ติดแผ่นป้ายของผู้สมัครรับเลือกตั้งภายหลังการสมัครรับเลือกตั้งเสร็จสิ้นแล้วไปตามชุมชน โดยมีการแสดงดนตรีหรือการรื่นเริงใด ๆ ถือเป็นการจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง อันเป็นการหาเสียงด้วยการจัดให้มีการรื่นเริงซึ่งชัดต่อกฎหมายเลือกตั้ง.