"นักกฎหมาย" สวน "อธิบดีกรมที่ดิน" ปมพื้นที่ เขากระโดง จ.บุรีรัมย์

"นักกฎหมาย" สวน "อธิบดีกรมที่ดิน" ปมพื้นที่ เขากระโดง จ.บุรีรัมย์

"นักกฎหมาย" สวน "อธิบดีกรมที่ดิน" ปมพื้นที่ เขากระโดง ละเลยหน้าที่เพิกถอนเอกสิทธิ์ ทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ดำเนินคดีอาญาได้ทันที ไม่ต้องรอให้คดีปกครองถึงที่สุด

วันที่ 31 มีนาคม 2566 จากกรณีศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา คดีพิพาทเกี่ยวกับการออกเอกสารสิทธิ์ทับซ้อนที่ดินบริเวณทางแยกเขากระโดง โดยคดีนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ผู้ฟ้องคดี) ฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือที่ รฟ 1/1911 /2564 ลงวันที่ 21 มิถุนายน 2564 ขอให้อธิบดีที่ดิน (ผู้ถูกฟ้องที่ 2)ใช้อำนาจตามมาตรา 61วรรคหนึ่งแห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ดำเนินการตรวจสอบที่ดินบริเวณแยกเขากระโดง ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ 

และดำเนินการเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินทับซ้อนในที่ดินบริเวณที่เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งหมด โดยมีคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน เพื่อทำการสอบข้อเท็จจริงในการออกหนังสือแสดงสิทธิทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีในพื้นที่บริเวณดังกล่าว และขอให้กรมที่ดิน (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ชดใช้ค่าเสียหายปีละ 707,595.034 บาท และค่าขาดประโยชน์รายเดือน เดือนละ 58,966,253 นับถัดจากวันฟ้อง 

ต่อมาวันที่ 29 มีนาคม 2566 ศาลปกครองกลางวินิจฉัยในสาระสำคัญว่า ผู้ถูกฟ้องที่ 1 มีภาระหน้าที่ในการคุ้มครอง ดูแล รักษาที่ดินของรัฐทุกประเภท และผู้ถูกฟ้องที่ 2 ในฐานะผู้บังคับบัญชาย่อมมีหน้าที่ในการควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1ให้สำเร็จลุล่วงตามที่ภารกิจกำหนด โดยผู้ถูกฟ้องละเลยต่อหน้าที่ตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน

ล่าสุด  นายณัฐวุฒิ วงศ์เนียม นักกฎหมายมหาชน ให้ความรู้กับประชาชนว่า ต้องแยกให้ออกระหว่างที่ดินของรัฐ ที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน กับการทำหน้าที่ของ นายชยาวุธ จันทร อธิบดีกรมที่ดิน ตามข้อเท็จจริง ที่ดินตามแผนที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดินสายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ตอนแยกที่ย่อยอ่างศิลา ตำบลเขากระโดง (ปัจจุบันตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์) จังหวัดบุรีรัมย์ กิโลเมตรที่ 375+650 เป็นส่วนหนึ่งของพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตร์สร้างทางรถไฟต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2462 

โดยกรมรถไฟแผ่นดิน สมัยนั้น ใช้ประโยชน์ในที่ดินโดยการก่อสร้างทางรถไฟเข้าไปลำเลียงหินที่บริเวณเขากระโดง ต่อมามีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842-876/2560 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561 และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คดีหมายเลขดำที่ 111/2563 คดีหมายเลขแดงที่ 1112/2563 คำพิพากษาทั้งสามคดีวินิจฉัยไว้โดยชัดแจ้งว่า ที่ดินบริเวณทางแยกเขากระโดง ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นที่ดินกรรมสิทธิ์ของการรถไฟตามพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวง พระพุทธศักราช 2464 

ถือว่าเป็นที่ดินของรัฐ  ไม่ใช่ของเอกชน บริเวณที่ดินเขากระโดง สถานะความเป็นที่ดินการรถไฟสมัยล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 5 ส่วนเอกสารสิทธิ์เป็นโฉนดที่ดินหรือ นส 3 ก.ส่วนพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน ออกมาบังคับใช้วันที่ 30 พ.ย.2497 โดยยกเลิก พรบ.ออกตราจองชั่วคราวซึ่งประกาศเปลี่ยนนามพระราชบัญญัติเมื่อรัตนโกสินทรศก 124 เป็นพระราชบัญญัติโฉนดตราจองพระราชบัญญัติการออกโฉนดที่ดิน รัตนโกสินทรศก 127 และฉบับเพิ่มเติม 

ดังนั้น กรมที่ดินจะออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินของรัฐไม่ได้และเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย การตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อเพิกถอนโฉนดที่ดินหรือเอกสารสิทธิ์อื่น เป็นหน้าที่ของอธิบดีกรมที่ดินโดยตรง ขอนายชยาวุธ  ได้ศึกษาข้อกฎหมายบ้างหรือไม่ คำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้เป็นที่สุดแล้ว เป็นที่ดินของรัฐ แต่ปากไว โชว์เหนือ ว่าไม่ได้ละเลย ดูพฤติกรรมการกระทำแล้วกัน 

เพราะการรถไฟแห่งประเทศไทยมีหนังสือที่ รฟ 1/1911/2564 ลงวันที่ 21 มิถุนายน 2564 ขอให้อธิบดีที่ดินใช้อำนาจตามมาตรา 61วรรคหนึ่งแห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ดำเนินการตรวจสอบที่ดินบริเวณแยกเขากระโดง ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ และดำเนินการเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินทับซ้อนในที่ดินบริเวณที่เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งหมด แต่กลับไม่ทำแล้ว  ส่วน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กลับนิ่งเงียบเป็นเป่าสาก ไม่ออกมาจัดการปมที่ดินเขากระโดง ต่อไปนักการเมืองคนไหน มีอำนาจผูกขาดทางการเมือง จะเอาที่ดินของรัฐไปออกเอกสารสิทธิ์และนำที่ดินไปเป็นสมบัติของตนเองและบริวาร ย่อมกระทำได้

“เคยฟันธงว่า พรรคการเมืองท้องถิ่นบุรีรัมย์ เพราะนโยบายกัญชา เป็นภัยแก่เด็กและเยาวชน ดอกที่สอง นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ศาลรัฐธรรมนูญให้หยุดปฏิบัติหน้าที่รมว.กระทรวงคมนาคม ดอกที่สาม เจอปมเขากระโดงไปอีกหนึ่งดอก แทนที่การรถไฟจะเอาที่ดินไปใช้ประโยชน์แก่แผ่นดิน แต่กลับเอาที่ดินเขากระโดงไปทำสนามแข่งรถ สนามกีฬาส่วนตัว เก็บผลประโยชน์เข้ากระเป๋าตนเอง แม้คดีที่ศาลปกครองมีคำวินิจฉัยยังไม่ถึงที่สุดก็ตาม ผมไม่ได้ชี้ช่องให้นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ แต่ต้องให้ความรู้แก่ประชาชนเป็นประโยชน์สาธารณะ

ในแง่มุมมองคดีปกครอง  เป็นกฎหมายมหาชน ต่างจากคดีอาญา คดีแพ่ง ประชาชนจะบอกว่า “สวนชูวิทย์”ออกมาพูด แต่ที่ดินเขากระโดง เงียบกริบ ยืนยันผมกับนายชูวิทย์ ไม่เคยรู้จักและมีปัญหาส่วนตัวกัน ที่ดินเขากระโดงมีอาถรรพ์แรงและเป็นที่ดินหลวง ผมต้องแสดงความเสียใจกับ นายชนส์สวัสดิ์ อัศวเหม อดีตนายก อบจ. สมุทรปราการ ที่เสียชีวิตจากอาการฮีตสโตรก ขณะซ้อมแข่งรถในสนามช้างอินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์กิต ในพื้นที่เขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ อาถรรพ์แรงจริงๆ" นายณัฐวุฒิ กล่าวและว่า 

ในคดีปกครองมีประเด็นพิพาทหลักว่า อธิบดีกรมที่ดินละเลยต่อหน้าที่หรือไม่ เชื่อมโยงกับการออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยไม่มีประเด็นว่า ที่ดินเขากระโดงเป็นที่ดินของรัฐหรือไม่ เพราะคดีแพ่งถึงที่สุดไปแล้ว พล.อ.อนุพงษ์ ควรขอความเห็น กกต.สั่งดำเนินการกับ นายชยาวุธ เพราะทำให้กรมที่ดินได้รับความเสียหาย  เพราะศาลปกครองสั่งให้อธิบดีกรมที่ดิน ดำเนินการตั้งคณะกรรมการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินที่ออกมาทับที่ดินของรัฐ ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 61ภายใน 15 วันนับแต่วันที่อ่านคำพิพากษา 

ดังนั้นอธิบดีกรมที่ดินจะต้องปฏิบัติตาม แต่การใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาต้องดำเนินการภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีคำพิพากษา โดยคดีปกครองแตกต่างจากคดีแพ่งหรือคดีอาญา ผู้อุทธรณ์จะขยายระยะเวลาอุทธรณ์ไม่ได้ ภารกิจของกรมที่ดิน ในการคุ้มครอง ดูแลที่ดินของรัฐทุกประเภท และนายชยาวุธ  ในฐานะผู้บังคับบัญชามีหน้าที่ในการควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของกรมที่ดินให้สำเร็จลุล่วงตามภารกิจที่กำหนดไว้ ถือว่าเป็นหน้าที่โดยตรงตามมาตรา 61 ตั้งกรรมการสอบสวนเพื่อเพิกถอนเอกสารสิทธิโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่กลับไม่ทำ คำว่า ละเลย หมายถึง มีหน้าที่ กลับไม่ทำส่วนการละเว้น หมายถึง มีหน้าที่โดยทั่วไป แต่ไม่ปฎิบัติหน้าที่ โดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือการรถไฟฯ 

ทั้งนี้การไม่ตั้งกรรมการสอบสวนสิทธิ์เพื่อเพิกถอนเอกสารสิทธิ์โฉนดที่ดินที่ออกโดยทับซ้อนที่ดินการรถไฟ ตรงนี้ ไม่ถือว่าเป็นการกระทำโดยบกพร่อง เพราะการกระทำบกพร่องไม่เป็นความผิด (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกา 3295/2543) แต่เป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความสมเหตุสมผลหรือเป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ มีเจตนาให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือการรถไฟ เป็นความผิดมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญ เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4436/2562 ประชาชนต้องทำความเข้าใจก่อนว่า แนวคำพิพากศาลฎีกา หมายถึง แนวคำวินิจฉัยที่ศาลฎีกาศาลสูงสุดตัดสินข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริงในสังคม
สามารถอ้างอิงได้พร้อมหลักกฎหมายและพยานหลักฐาน 

เพราะฉะนั้น การละเลยต่อหน้าที่ หมายถึง การละเว้นในการปฏิบัติหน้าที่ สรุปภาษาชาวบ้าน คือ มีหน้าที่ แต่ไม่ทำ เพราะข้อเท็จจริงความปรากฏโดยชัดแจ้งแล้ว เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ประชาชนกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนได้ทันที โดยไม่ต้องรอคดีปกครองถึงที่สุด อำนาจชั้นสอบสวน หากพนักงานสอบสวนรับคำกล่าวโทษจะต้องส่งสำนวนให้ ปปช.พิจารณา และคดีอยู่ในอำนาจของศาลอาญาทุจริตฯ ดังนั้น พล.อ.อนุพงษ์  ในฐานะเจ้ากระทรวงและบุคคลที่เกี่ยวข้องอาจโดนหางเลขไปด้วย ขอให้ประชาชนช่วยกันสอดส่องติดตามที่ดินเขากระโดงที่ดินอาถรรพ์ของรัฐให้กลับคืนแผ่นดิน