หลังม่านฝุ่นตลบชิงปาร์ตี้ลิสต์ คลื่นใต้น้ำรอบใหม่ “ก้าวไกล”

หลังม่านฝุ่นตลบชิงปาร์ตี้ลิสต์ คลื่นใต้น้ำรอบใหม่ “ก้าวไกล”

"...ปรากฎการณ์ยื้อแย่งเก้าอี้ ส.ส.บัญชีรายชื่อครั้งนี้ เป็นเพราะแกนนำก้าวไกลประเมินแล้วว่า การเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง น่าจะมี “โควตาปลอดภัย” ของปาร์ตี้ลิสต์แค่ไม่เกินลำดับที่ 15-18 หากเกินกว่านี้ เตรียม “สอบตก” ได้เลย..."

ปี่กลองการเมืองกำลังโหมระรัวรับศึกเลือกตั้ง 2566 ที่ กกต.กำหนดวันชี้ชะตาอนาคตประเทศไว้ที่ 14 พ.ค. 2566

หลายพรรคการเมืองเฟ้นหา “ขุนพล” ระดมทุกสรรพกำลัง “กระแส-กระสุน” ตุนไว้สู้ในสมรภูมิที่นับถอยหลังอีกไม่ถึง 2 เดือนอย่างเต็มที่

ไม่เว้นแม้แต่พรรคน้องใหม่อย่าง “ก้าวไกล” ที่เชื้อเชิญ “พ่อของฟ้า” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ พร้อมด้วย “ปิยบุตร แสงกนกกุล-พรรณิการ์ วานิช” มาเป็นผู้ช่วยหาเสียงของพรรค คัมแบ็กขึ้นเวทีช่วยผู้สมัคร ส.ส.ปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งในครั้งนี้

หลังจบประเด็น “เกาเหลา” ระหว่าง “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล กับ “ป๊อก ปิยบุตร” โดยมี “เอก ธนาธร” เป็น “กาวใจ” เคลียร์ทุกเรื่องราวดราม่าครั้งนี้ให้

พรรคเหมือนกำลังจะฝ่ากระแสลมพุ่งไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ทว่าในข้อเท็จจริง “หลังม่าน” ยังคงมีรอยร้าวปริแตกที่ยากจะประสานอยู่

โดยเฉพาะประเด็นการคัดตัว ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ที่เป็นประเด็นมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 และเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ “ปิยบุตร” แตกหักกับ “พิธา” และแกนนำพรรคก้าวไกลบางส่วน

กรณีนี้กลับมาปะทุอีกครั้ง พลันที่พรรคก้าวไกลเปิดตัว 100 ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ผ่านการคัดสรรจากพรรค ลงนามโดย “เดอะต๋อม” ชัยธวัช ตุลาธน

ปรากฎว่า “ธีรัจชัย พันธุมาศ” อดีต ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ตัวกลั่น หัวหอกใน กมธ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร และหนึ่งใน “ขุนพล” อภิปรายประเด็นต่าง ๆ ในสภา ต้อง “เสียสละ” ที่นั่ง “ปาร์ตี้ลิสต์” ไปลง ส.ส.เขต 8 กทม.

ไม่เว้นแต่ “พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์” รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล อดีตสายตรง “ปิยบุตร” ต้องสละเก้าอี้ไม่ลงเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ครั้งหน้าเช่นเดียวกัน และยังมี ส.ส.บัญชีรายชื่อ บางคนประกาศไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า จะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งต่อ เช่น “เจี๊ยบ อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล” เป็นต้น

ทำเอา “ปิยบุตร” เป็นเดือดเป็นร้อน ต้องโพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ ทวงถามความเป็นธรรมถึง “พรรคก้าวไกล” ไฉนทอดทิ้งคนมีผลงาน ไม่ยอมให้เอาลง ส.ส.บัญชีรายชื่อต่อ ทั้งที่บางคนอ้างถึงอุดมการณ์พรรคว่า ไม่อยากให้เก้าอี้ ส.ส.มีการผูกขาด แต่คนที่อ้างดังกล่าว กลับลง ส.ส.บัญชีรายชื่อต่อเสียเอง

เรียกว่า “จูบปาก” กันได้ไม่ถึง 1 เดือน สงคราม “คลื่นใต้น้ำ” ก็หวนกลับมาใน “องคาพยพสีส้ม” อีกครั้ง

ไม่เว้นแต่ “คนวงใน” เครือข่ายอำนาจอย่าง “อำนาจ สถาวรฤทธิ์” อดีตที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ฝ่ายการเมือง ยังยื่นใบลาออกจากตำแหน่งในพรรค ทั้งที่เขาเข้ามาช่วยตั้งแต่ยัง “ตั้งไข่” พรรคอนาคตใหม่เมื่อปี 2561 ด้วยซ้ำ พร้อมทิ้งบอมบ์ว่า เมื่อมีความอึดอัดใจ ด้วยตำแหน่งต่าง ๆ ที่มีไม่สามารถทำได้ตามภาระที่พรรคมอบหมาย เมื่อเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องอยู่ ก็ขอลาออก

“อำนาจ” ระบุด้วยว่า การคัดสรรตัว ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ แต่เดิมมีกฎเกณฑ์อยู่ แต่ปัจจุบันมีการ “ละเมิด” กฎเกณฑ์นั้นไปเสียแล้ว พร้อมถามดัง ๆ ไปยังคณะกรรมการสรรหาฯว่า ใช้หลักเกณฑ์อะไรในการจัดปาร์ตี้ลิสต์

“อำนาจ” ยังตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าดูจากรายชื่อว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ครั้งนี้ แม้ยังไม่เรียงลำดับ แต่คนที่เข้ามาส่วนใหญ่เป็น “นักเทคโนแครต” จึงไม่แน่ใจว่าหลังจากนี้จะมีการสร้างพรรคแบบไหน เป็นพรรคแบบเดิม หรือพรรคนักเทคโนแครต

เบื้องหลังเรื่องนี้ว่ากันว่า อดีต ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์บางคน ที่มีความสนิทชิดเชื้อกับ “โปลิตบูโร” ภายในพรรค เข้าไปยุ่มย่ามการจัดปาร์ตี้ลิสต์ โดยขอให้นำ “คนใกล้ชิด-อดีตผู้ช่วย ส.ส.” มาลง “ปาร์ตี้ลิสต์” แทน โดยอ้างเรื่องอุดมการณ์พรรคที่ว่า ไม่ควรผูกขาดเก้าอี้ ส.ส.ดังกล่าว

นอกจากนี้ ยังมีการดึง “นักวิชาการ” หลายเครือข่ายมาเข้าร่วม เรื่องนี้เห็นข้อเท็จจริงได้จาก “ขุนพลเศรษฐกิจ” ของก้าวไกลที่เพิ่งเปิดตัวไป 7 คน เกือบทั้งหมดเป็นนักวิชาการ ผ่านมือการคัดสรรจาก “แกนนำก้าวไกล” คนหนึ่ง

ขณะที่บรรดา ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 100 ชื่อข้างต้น พบว่า “อดีตผู้ช่วย-มือขวา” ของ “ส.ส.” ติดโผ รวมถึงบรรดา “นักวิชาการ” เข้ามาจำนวนมาก เรียกว่าราว 70% เป็น “หน้าใหม่” ทั้งสิ้น หน้าเดิมนับนิ้วยังแทบไม่ครบ

ปรากฎการณ์ยื้อแย่งเก้าอี้ ส.ส.บัญชีรายชื่อครั้งนี้ เป็นเพราะแกนนำก้าวไกลประเมินแล้วว่า การเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง น่าจะมี “โควตาปลอดภัย” ของปาร์ตี้ลิสต์แค่ไม่เกินลำดับที่ 15-18 หากเกินกว่านี้ เตรียม “สอบตก” ได้เลย

นั่นจึงทำให้การเขย่าเก้าอี้ปาร์ตี้ลิสต์ครั้งนี้มีความสำคัญเป็นอย่างมาก และกลายเป็นชนวนเหตุให้ภายในพรรคขัดแย้งกันอยู่ตอนนี้

ประเด็นนี้จึงเป็น “เผือกร้อน” โยนไปที่ “ธนาธร” และกลุ่ม “โปลิตบูโร” ในพรรคอีกครั้งว่า จะจัดสรรตัวผู้สมัคร ส.ส. หรือเรียงลำดับความสำคัญ “ผู้มากบารมี” ภายในพรรคกันอย่างไร เพื่อป้องกันไม่ให้ “พรรคแตก” เหมือนที่เคยผ่านมา โดยเฉพาะบทเรียน “งูเห่า” ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอด 4 ปีที่ผ่านมา

มิฉะนั้นอาจโดนวิพากษ์วิจารณ์ว่า ชูนโยบาย-อุดมการณ์เพื่อคนรุ่นใหม่ แต่สุดท้ายทำพรรคการเมืองแบบเก่า ไม่ต่างอะไรกับ “พรรคใหญ่” ที่ตัวเองไปวิจารณ์เขาแม้แต่น้อย