แดง-ส้ม ชิง"15.5 ล้านเสียง" เดิมพัน“ทักษิณ-ธนาธร”

แดง-ส้ม ชิง"15.5 ล้านเสียง" เดิมพัน“ทักษิณ-ธนาธร”

ไม่แปลกที่ “ทักษิณ-ธนาธร” จะเปิดศึก เนื่องจากการเลือกตั้งที่จะถึง มีเดิมพันการกลับบ้าน มาเหยียบแผ่นดินไทยของ “ทักษิณ” ฝั่ง “ธนาธร” ก็เดิมพันอนาคตของพรรคก้าวไกล จะสามารถต่อยอดความสำเร็จได้มากน้อยเพียงใดเช่นกัน

เมื่อพรรคเพื่อไทยขยับเป้าตัวเลข ส.ส.จากแลนด์สไลด์เกินครึ่ง 253 ที่นั่ง เป็นซูเปอร์แลนด์สไลด์ 310 ที่นั่ง หวังจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว เพื่อบีบ 250 ส.ว. โหวตเลือกแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากเสียงของประชาชน

แต่ตัวเลข 253 ที่นั่งว่ายากแล้ว ตัวเลข 310 ที่นั่ง แทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะต้องรุกกินแดน ขั้วประชาธิปไตย-ขั้วอนุรักษ์นิยมด้วย จึงจะสมหวัง ทว่าแฟนพันธุ์แท้การเมืองมักไม่ข้ามฝั่ง แม้จะมีความเป็นไปได้อยู่บ้าง แต่โอกาสได้แต้มข้ามขั้วจะมีน้อยมาก

โดย “หมอชลน่าน” นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ประกาศเอาไว้ว่า เป้าหมาย 310 ที่นั่ง แบ่งเป็น ส.ส.เขต 250 ที่นั่ง นั่นหมายความว่าจะต้องกวาด ส.ส. ในพื้นที่ฐานเสียง อาทิ ภาคอีสาน ภาคเหนือ แบบยกภาค แล้วยังต้องรุกพื้นที่ภาคกลาง-ภาคใต้ ให้ได้ด้วย

สำหรับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพื่อไทยตั้งเป้าไว้ 60 ที่นั่ง ซึ่งต้องกวาดคะแนนป็อบปูลาร์โหวตอย่างน้อย 20 ล้านเสียง โดยพรรคตระกูลชินวัตร เคยทำได้มากที่สุดในการเลือกตั้งปี 2548 พรรคไทยรักไทยได้ 18,993,073 คะแนน แต่การเมืองในยุคนั้นพรรคประชาธิปัตย์ เป็นคู่แข่งหลักเพียงพรรคเดียว

ต่างจากการเลือกตั้งในครั้งนี้ “ทักษิณ-เพื่อไทย” มีพรรคจากขั้วเดียวกันมาหารแต้มที่เรียกได้ว่าพื้นที่ฐานเสียงเดียวกัน เทียบดูได้จากการเลือกตั้งปี 2562 พรรคที่เรียกตัวเองว่า “ขั้วประชาธิปไตย” มีคะแนนเสียงรวมกัน 15.5 ล้านเสียง
 

ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย 7,920,630 เสียง (ส่งผู้สมัครไม่ครบ 350 เขต) อดีตพรรคอนาคตใหม่ (พรรคก้าวไกล) 6,265,950 เสียง (ไหลมากจากอดีตพรรคไทยรักษาชาติราวๆ กว่า 2 ล้านเสียง) พรรคเสรีรวมไทย 826,530 เสียง พรรคประชาชาติ 485,436 เสียง พรรคเพื่อชาติ 419,393 เสียง และพรรคพลังปวงชนไทย 81,733 เสียง

เมื่อชำแหละเสียงของพรรคเพื่อไทย บวกรวมกับอดีตพรรคไทยรักษา ซึ่งเป็นพรรคเครือข่ายการถูกคำสั่งยุบพรรค พอเฉลี่ยได้ว่าแต้มการเมืองของพรรคเพื่อไทยจะอยู่ราว 12 ล้านเสียง ซึ่งยังห่างไกล 20 ล้านเสียงที่คาดหวังเอาไว้

แดง-ส้ม ชิง"15.5 ล้านเสียง" เดิมพัน“ทักษิณ-ธนาธร”

อย่างไรก็ตาม เมื่อตั้งโจทย์ว่าแต้มการเมืองมักจะไม่ข้ามขั้ว ทางเดียวของ “ทักษิณ-เพื่อไทย” ที่จะสานฝันซูเปอร์แลนด์สไลด์ต้องแย่งแต้มการเมืองจาก “ขั้วประชาธิปไตย” เป้าหมายหลักโฟกัสไปที่แต้มการเมืองของพรรคก้าวไกล (ก.ก.)

ทว่า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ก่อตั้งอดีตพรรคอนาคตใหม่ รวมถึง “ทีมโปลิตบูโร” ย่อมรู้ดีกว่าหาก “ทักษิณ-เพื่อไทย” ปลุกแลนด์สไลด์ย่อมกระทบกับพรรคก้าวไกลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
 

แนวทางการหาเสียงของ “ก้าวไกล” ในระยะหลังจึงมุ่งเน้นโจมตีพรรคเพื่อไทย เริ่มจาก "ปิยบุตร แสงกนกกุล" ออกมาเปิดแผน “ทักษิณ-เพื่อไทย” เตรียมจับมือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เพื่อยืมเสียง ส.ว. โหวต “ประวิตร” นั่งนายกฯคนที่ 30 ขยายแผลชิงแต้ม “เสื้อแดง”

ต่อมา “ธนาธร” ชำแหละ “กลุ่มบ้านใหญ่” ที่ย้ายเข้าย้ายออกบางพรรค บางโอกาสสนับสนุนรัฐประหาร บางโอกาสกระโดดย้ายฝั่ง พร้อมตอกย้ำภาพเผด็จการจำแลง แม้จะไม่ระบุชัดว่า โจมตีเข้ากล่องดวงใจพรรคใด

แดง-ส้ม ชิง"15.5 ล้านเสียง" เดิมพัน“ทักษิณ-ธนาธร”

แต่งานนี้มีคนร้อนตัว โดย “ทักษิณ” ออกมาซัดกลับทันควันว่า “ผมงงมาก ธนาธร ยังโจมตีเพื่อไทย ที่คนบอกว่า ก้าวไกลเหมือนประชาธิปัตย์ ก็จะชักจะเหมือนขึ้นทุกวัน” เจตนาของ “ทักษิณ” พยายามดิสเครดิต “ธนาธร-ก้าวไกล” คืน พร้อมทิ้งบอมบ์หวังกระชากแต้มจากพรรคก้าวไกล

ศึกชิงระหว่าง “เพื่อไทย” VS “ก้าวไกล” คงต้องประชันกันอีกหลายยก เพราะในสนามเลือกตั้งการแย่งคะแนนในขั้วเดียวกัน เป็นเดิมพันของทั้งสองพรรค

โดยเฉพาะพื้นที่โซนเมือง ประกอบด้วย กทม. และพื้นที่เขต 1 ตามหัวเมืองหลัก อาทิ เชียงใหม่ เชียงราย ขอนแก่น อุดรธานี เป็นต้น กระแสนิยมของพรรคก้าวไกลเริ่มพุ่งสูงขึ้น สวนทางกับพรรคเพื่อไทยที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

จึงไม่แปลกที่ “ทักษิณ-ธนาธร” จะเปิดศึก เนื่องจากการเลือกตั้งที่จะถึง มีเดิมพันการกลับบ้าน มาเหยียบแผ่นดินไทยของ “ทักษิณ” ฝั่ง “ธนาธร” ก็เดิมพันอนาคตของพรรคก้าวไกล จะสามารถต่อยอดความสำเร็จได้มากน้อยเพียงใดเช่นกัน