“ธาริต” กลับคำรับสารภาพคดีกลั่นแกล้ง “อภิสิทธิ์-สุเทพ” ปมสลายชุมนุมปี 53

“ธาริต” กลับคำรับสารภาพคดีกลั่นแกล้ง “อภิสิทธิ์-สุเทพ” ปมสลายชุมนุมปี 53

“ธาริต” อดีตอธิบดีดีเอสไอ โผล่ฟังคำพิพากษาคดีกลั่นแกล้งแจ้งข้อกล่าวหา “อภิสิทธิ์-สุเทพ” ปมสลายชุมนุม “คนเสื้อแดง” ปี 53 เจ้าตัวยื่นคำร้องขอกลับคำเป็น “รับสารภาพ” ศาลชั้นต้นส่งฎีกาพิจารณา นัดฟังอีกครั้ง 16 มิ.ย.นี้

เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2566 ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดอ่านคำสั่งหรือคำพิพากษาศาลฎีกา ครั้งที่ 7 คดีปฏิบัติหน้าที่มิชอบ หมายเลขดำ อ.310/2556 ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีต ผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ผอ.ศอฉ.) ร่วมกันเป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ อดีตหัวหน้าชุดสอบสวนคดีการเสียชีวิตของประชาชน และเจ้าหน้าที่รัฐ จากเหตุรุนแรงทางการเมือง ปี 2553 พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ และ ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล ในฐานะพนักงานสอบสวน เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนกระทำการ โดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 200 วรรคสอง กรณีแจ้งข้อกล่าวหาแก่นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ในการสั่งสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ ต่อสู้คดี
    
คดีนี้ศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสี่โจทก์ ยื่นอุทธรณ์ ต่อมาศาลอุทธรณ์ พิเคราะห์ แล้วเห็นว่า จำเลยทั้งสี่กระทำผิดตามฟ้องจริง  พิพากษากลับ ให้จำคุกจำเลยทั้งสี่คนละ 3 ปี ลดโทษให้1ใน3 คงจำคุกจำเลยคนละ 2 ปี

“ธาริต” กลับคำรับสารภาพคดีกลั่นแกล้ง “อภิสิทธิ์-สุเทพ” ปมสลายชุมนุมปี 53

จำเลยทั้งสี่ยื่นฎีกา อ้างว่า มีพยานหลักฐานใหม่ในคดี ขอให้ศาลฎีกา พิจารณา พิพากษาใหม่ และนายธาริต จำเลยที่ 1 มอบหมายให้ทนายความยื่นคำร้องขอเลื่อนฟังคำพิพากษาศาลฎีกาออกไปก่อนโดยให้เหตุผลต่างกันหลายครั้ง โดยครั้งหลังสุด ขอเลื่อนโดยให้เหตุผลเนื่องจากต้องผ่านิ่วในไตทั้ง 2 ข้าง ใช้เวลารักษานานราว 4 เดือน รวมทั้ง นางพะเยาว์ อัคฮาด มารดา น.ส.กมล หรือน้องเกด อัคฮาดพยาบาลอาสาที่เสียชีวิตที่วัดปทุมวนารามเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553  และญาติผู้เสียชีวิตราย อื่นๆ ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความที่สามในคดีด้วย ศาลอาญาจึงมีคำสั่งให้ส่งคำร้องทั้งหมดให้ศาลฎีกา พิจารณาเพื่อมีคำสั่งคำร้อง โดยองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาจะพิจารณาผ่านระบบจอภาพผ่านศาลอาญา 
    
โดยนัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลฎีกาวันนี้ ปรากฎว่า นายธาริต เดินทางมาฟังคำพิพากษาด้วยตัวเอง หลังจากที่นัดฟังคำพิพากษาครั้งที่แล้วเมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมาศาลมีคำสั่งให้ออกหมายจับนายธาริต เนื่องจากเห็นว่ามีพฤติการณ์หลบหนี และต่อมาเมื่อวันที่ 17 ก.พ. นายธาริตได้มามอบตัวกับศาล และยื่นหลักทรัพย์มูลค่า 800,000 บาท ขอประกันตัวไป และเดินทางมาฟังคำพิพากษาในวันนี้พี้อมกับจำเลยที่ 2-4 และทนายความ

“ธาริต” กลับคำรับสารภาพคดีกลั่นแกล้ง “อภิสิทธิ์-สุเทพ” ปมสลายชุมนุมปี 53

ก่อนเริ่มอ่านคำพิพากษา ทนายความนายธาริตยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ส่งสำนวนคืนศาลฎีกา เพื่อพิจารณาสั่งให้ ส่งคำร้อง ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปรับปรามการทุจริต มาตรา 4 ซึ่งเป็นบทกฎหมาย ที่ใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 5 วรรคแรก มาตรา 26 ,27 ,29 วรรคแรก ส่งผลให้กฎหมายดังกล่าวเป็นอันใช้บังคับกับคดีไม่ได้ ตามคำร้องฉบับลงวันที่ 23 มี.ค. 2566 
    
นอกจากนี้ นายธาริต จําเลยที่ 1 ขอถอนคำให้การฉบับเดิมและขอให้การใหม่เป็นรับสารภาพตลอด ข้อกล่าวหาของโจทก์ทั้งสอง เพื่อประกอบการใช้ดุลพินิจในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลฎีกา ในการลงโทษจําเลยที่ 1 สถานเบาหรือรอการลงโทษ

ด้านทนายโจทก์ที่ 1-2 แถลงคัดค้านร่วมกันว่า คดีนี้มีการเลื่อนการอ่าน คำพิพากษาหรือคำสั่งศาลฎีกามาแล้วหลายครั้งเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี จำเลยที่ 1 เป็นนักกฎหมายประกอบวิชาชีพกฎหมายโดยใช้วิชากฎหมายมาโดยตลอด ย่อมต้องทราบดีว่าเมื่อ มีการนัดฟังคำพิพากษาแล้ว ไม่มีเหตุที่ต้องขอส่งสำนวนกลับคืนศาลฎีกาโดยอ้างเหตุที่ไม่เป็น สาระสำคัญแก่คดี การที่จำเลยที่ 1 ขอให้ส่งสำนวนคืนศาลฎีกาจึงเป็นการประวิงคดีให้ล่าช้า ประกอบกับจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญจึงไม่มีผลใช้บังคับ 

แต่คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 200 ดังนั้น มาตรา 157 จึงไม่ใช่กฎหมายที่ใช้บังคับแก่คดี อันจะต้องส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ทั้งการที่จำเลยที่ 1 ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาของโจทก์ทั้งสอง เป็นการถอนคำให้การและให้การใหม่ หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา จึงล่วงเลยระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 วรรค 2 แล้ว นอกจากนี้ยังเป็นการให้การไปโดยจำนนต่อหลักฐานและคำพิพากษาของศาล อุทธรณ์ จึงไม่ควรมีเหตุที่จะบรรเทาโทษให้จำเลยที่ 1 เพื่อไม่ให้การดำเนินกระบวนพิจารณาล่าช้า และป้องกันการประวิงคดีโดยการยื่นคำร้องต่าง ๆ ที่ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจพิจารณาสั่ง เข้ามาก่อนการอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลฎีกา ทนายโจทก์ที่ 1-2 จึงขอให้ศาลฎีกาเป็นผู้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนี้เอง 

โดยทนายโจทก์ที่ 2 แถลงเพิ่มเติมว่า เคยรับหน้าที่เป็นทนายความให้กับคู่ความในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ 1166/2558 ของศาลนี้ ซึ่งในคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นได้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาของศาลสูงหลายครั้งในลักษณะทำนองเดียวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคดีนี้ ศาลฎีกาจึงได้มีคำสั่งเรียก คืนสำนวนและของคำพิพากษาทั้งหมดจากศาลชั้นต้นและดำเนินการอ่าน คำพิพากษาเองที่ ศาลฎีกา เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกัน จึงขอให้ศาลฎีกาเป็นผู้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนี้ เช่นเดียวกับในคดีดังกล่าวด้วย 

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า หลักเกณฑ์การส่งคำโต้แย้งของคู่ความต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่ง กฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนั้น ศาลที่มีอำนาจส่งคำโต้แย้งของคู่ความดังกล่าวต้องเป็น ศาลที่จะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งคู่ความโต้แย้งบังคับแก่คดี เมื่อปรากฏว่าคดีนี้อยู่ในระหว่าง การพิจารณาของศาลฎีกา ศาลฎีกาจึงเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาคำร้องดังกล่าว ประกอบกับ จำเลยที่ 1 ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาของโจทก์ทั้งสอง เพื่อให้ศาลฎีกาพิจารณาคำรับสารภาพประกอบการใช้ดุลพินิจพิจารณาพิพากษาคดีในการลงโทษ จำเลยที่ 1 กรณีไม่อาจอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลฎีกาไปในวันนี้ได้ จึงให้ส่งสำนวน พร้อมคำร้อง คำให้การของจำเลยที่ 1 และซองคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลฎีกา ไปยังศาลฎีกาเพื่อพิจารณาโดยเร็ว ให้เลื่อนไปนัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลฎีกาวันที่ 16 มิ.ย.2566 เวลา 9.00 น.