อินไซด์ ครม. “วิษณุ” หนุนผ่าน “สายสีส้ม” ก่อน “ประยุทธ์” สั่งเบรก ถอนวาระ

อินไซด์ ครม. “วิษณุ” หนุนผ่าน “สายสีส้ม” ก่อน “ประยุทธ์” สั่งเบรก ถอนวาระ

อธิรัฐ เครียด ลุกลี้ลุกลน ปม สายสีส้ม โทรศัพท์ถี่ยิบ รมต. หลายคนประสานเสียงค้าน สอดรับ ความเห็นกฤษฎีกา-คลัง รอคดีจบก่อน “สินิตย์” เลือกวอล์คเอาต์ “วิษณุ” แจง ถ้ารอไปเรื่อย ยิ่งเสียหาย ยุบสภา อนุมัติไม่ได้ ควรเห็นชอบ แต่ยังไม่เซ็นสัญญาจนกว่าศาลตัดสิน ก่อน นายกฯ ตัดบท ถอนวาระ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเช้าก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้เรียกเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ขึ้นไปพบที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบฯ ซึ่งคาดว่า เป็นการหารือเรื่องโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐรมช.คมนาคม ในฐานะรักษาราชการแทน รมว.คมนาคม จะเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม ครม. ขณะที่ในการประชุม ครม.ครั้งนี้ใช้เวลายาวนานที่สุดในรัฐบาลชุดนี้ ประมาณ 6 ชั่วโมง โดยเริ่มประชุมตอนเวลา 10.00 น. และเลิกประชุมเวลา 16.00 น. ซึ่งมีวาระเข้าที่ประชุมจำนวนมาก ทั้งนี้มีรัฐมนตรีลาประชุมจำนวน 4 คน ได้แก่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรมนายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์  

รายงานข่าวแจ้งว่า ตั้งแต่เริ่มการประชุม ครม. นายอธิรัฐ มีสีหน้าเคร่งเครียด ลุกลี้ลุกลน และลุกออกจากเก้าอี้ออกไปพูดคุยโทรศัพท์บ่อยครั้ง แต่บรรยากาศเริ่มมาตึงเครียดในช่วงบ่าย หลังเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า จะมีการบรรจุวาระรถไฟฟ้าสายสีส้มเข้าสู่การพิจารณาในวาระจร โดยเฉพาะในช่วงเวลา 14.00 น. ที่มีการแจกเอกสารเพื่อเตรียมเข้าสู่วาระการพิจารณา ระหว่างนี้มีรัฐมนตรีบางคนทยอยเดินทางกลับ โดยเวลา 14.15 น. นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้เดินทางออกทางด้านหลังตึกสันติไมตรี พร้อมบอกกับผู้สื่อข่าวว่า “ผมไปก่อนแล้ว” ผู้สื่อข่าวจึงถามว่า ถือเป็นการวอล์คเอาต์ได้หรือไม่ นายสินิตย์ ยอมรับว่าได้และใช่เลย แต่พรรคประชาธิปัตย์ยังมีรัฐมนตรีนั่งอยู่ในห้อง ขณะที่เวลา 14.20 น.นายสุชาติ ชมกลิ่นรมว.แรงงาน ได้ออกมาพักเบรก พร้อมกับยืนยันว่า ตนจะอยู่ในห้องประชุม เพราะนายกฯอยู่ต้องอยู่กับนายกฯ จากนั้นเวลา 14.30 น.นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ได้เดินทางกลับ แต่ปฏิเสธว่าไม่ได้หนี และระบุว่า จะให้ตนทำอย่างไร เพราะมีประชุมพรรคในเวลา 15.00 น. 

 

กระทั่งเวลา 14.57 น. ที่ประชุม ครม.ได้เริ่มพิจารณารถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยเลขาธิการ ครม.ได้เชิญนายภคพงษ์ ศิริกันทราศ ผู้ว่าฯ รฟม. ผู้บริหาร รฟม. และตัวแทนอัยการสูงสุด มาชี้แจงความเป็นมาของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม จากนั้นเลขาธิการ ครม. ได้อ่านความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าเรื่องอยู่ระหว่างการดำเนินคดี ควรรอให้มีความชัดเจน เช่นเดียวกับกระทรวงการคลังที่ระบุว่า เรื่องนี้มีประเด็นฟ้องร้องอยู่ จึงจำเป็นต้องพิจารณาให้รอบคอบ ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะถามความเห็นของ ครม. ซึ่งนายวราวุธ ศิลปอาชารมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทักท้วงว่า อัยการสูงสุดได้ให้ความเห็นว่าควรรอคำพิพากษา ต่อให้เข้ามาเป็นเรื่องเพื่อทราบก็ไม่รู้ว่าจะให้ทราบเรื่องอะไร เช่นเดียวกับนายสาธิตปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ที่กล่าวเสริมว่า ควรรอฟังคำพิพากษาของศาลปกครองก่อน และไม่เห็นด้วยที่นำเสนอเรื่องนี้เข้ามา นอกจากนี้ ยังมีรัฐมนตรีอีกหลายคนแสดงความไม่เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว อาทิ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน นายธนกร วังบุญคงชนะ รมต.ประจำสำนักนายกฯ นายนริศ ขำนุรักษ์ รมช.มหาดไทย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม

 

ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี อธิบายว่า เรื่องนี้มีอยู่ 4 ประเด็นที่ต้องพิจารณาซึ่งก่อนหน้านี้ได้เรียก รฟม.มาชี้แจงให้ฟังแล้ว ได้แก่ 1.มีการล็อคสเปคหรือไม่ เรื่องนี้ศาลปกครองตัดสินแล้วว่าไม่มีการล็อคสเปค แต่บีทีเอสเป็นผู้ที่ไม่ยื่นประมูลเอง และศาลอาญาตัดสินแล้วไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้ใคร 

 

2.เงินส่วนต่างของ BEM กับ BTS จะให้ รฟม.ชี้แจง 

 

3.มีคดีค้างที่ศาล และ ป.ป.ช.หรือไม่ ที่ค้างอยู่ในศาลปกครองสูงสุดคือ คดียกเลิกการประมูลปี63 มิชอบ ส่วนที่ ป.ป.ช.ไม่มีคดีค้าง 

และ4.ทำไมไม่รอผลการพิจารณาของศาลปกครองก่อน ซึ่งศาลปกครองกลางมีคำตัดสินมาแล้วว่าไม่คุ้มครอง และหากรอเวลาไปเรื่อยๆ ยิ่งเกิดความเสียหาย และถูกฟ้องเรื่อยๆ รวมถึงหากยุบสภาไปแล้วจะอนุมัติไม่ได้ 

ทั้งนี้ นายวิษณุ ยังแสดงความเห็นส่วนตัวว่า “ครม.ควรเห็นชอบ แต่เนื่องจากมีคดีค้างอยู่ในศาลควรให้มีคำพิพากษาของศาลก่อน แต่ยังไม่ควรมีการอนุมัติให้ลงนามในสัญญาจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา” ซึ่งมีรัฐมนตรีหลายคนเห็นด้วยกับความเห็นของนายวิษณุ อาทิ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา

หลังจากแสดงความเห็นอย่างกว้างขวางประมาณหนึ่งชั่วโมง พล.อ.ประยุทธ์ จึงตัดบทว่า “ผมตัดสินใจให้ถอนเรื่องไปก่อน รอให้ศาลพิจารณาได้ข้อยุติก่อน ส่วนเรื่องของอนาคตค่อยว่ากันขอโทษด้วยที่ต้องถอนเรื่องนี้ออกไป เข้าใจทุกฝ่าย ถ้าโครงการนี้ดีและไม่มีข้อครหา รัฐบาลหน้าก็มาดำเนินการต่อ ถ้าอยากอนุมัติเร็วๆ ก็ต้องรัฐบาลให้ได้เร็วๆ” 

จากนั้นนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ได้แนะนำว่า หากจะถอนต้องให้นายอธิรัฐ เป็นผู้ขอถอนวาระดังกล่าวออก เพราะเป็นผู้เสนอ นายอธิรัฐจึงได้ขอถอนวาระออกจากที่ประชุม จากนั้นที่ประชุม ครม.ได้พิจารณาวาระต่อ

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้นายอธิรัฐแม้จะเป็นผู้เสนอเรื่องเข้ามา และนายอนุทิน เป็นคนเซ็นให้ผ่านเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ในฐานะรองนายกฯกำกับดูแลกระทรวงคมนาคม แต่ทั้งสองกลับไม่ได้แสดงความคิดเห็นอะไรเลย

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การประชุม ครม.วันที่14 มี.ค.66 ที่คาดว่า จะเป็นการประชุมนัดสุดท้ายก่อนการยุบสภา โดยเมื่อเป็นรัฐบาลรักษาการจะไม่สามารถอนุมัติงบประมาณ งบประมาณผูกพันและนโยบายสำคัญได้อีก ดังนั้น กระทรวงต่างๆจึงส่งเรื่องเข้ามาพิจารณารวมทั้งวาระพิจารณา วาระเพื่อทราบและวาระพิจารณาจร รวมแล้วมากกว่า 100 วาระ ใช้เวลาในการประชุมร่วม 7 ชั่วโมง และมีการอนุมัติโครงการที่ต้องใช้เงินงบประมาณ การลดภาษี  การให้สินเชื่อ และการชดเชยวงเงินให้กับสถาบันการเงิน รวมวงเงินกว่า 173,850  ล้านบาท 

นอกจากนี้ ในระหว่างการพิจารณาวาระ นำเสนอการกำหนดประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาล ประจำปี 2565 โดยมีอยู่ช่วงหนึ่งนายวิษณุ ได้สอบถามประธานบอร์ดกองสลากกินแบ่งรัฐบาลที่มาชี้แจงว่า การกำหนดประเภทใหม่นี้ยังเป็นสลากกินแบ่งรัฐบาลใช่หรือไม่ ยืนยันกับครม.ได้หรือไม่ เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเมื่อสิบปีที่แล้ว ประธานบอร์ดกองสลากฯจึงยืนยันว่า ไม่ซ้ำรอยแน่นอน เพราะครั้งนี้เป็นสลากกินแบ่งรัฐบาล ไม่ผิดหลัก ไม่เหมือนกับครั้งก่อนที่เป็นสลากกินรวบ ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์กำชับว่า ช่วยดูแลอย่าให้มีการทุจริต และอย่าให้ขายเกินราคา