‘เพื่อไทย-นักวิชาการ’ร่วมผลักดันนโยบายสตรีเพศหญิง-LGBT ควรได้รับสิทธิ

‘เพื่อไทย-นักวิชาการ’ร่วมผลักดันนโยบายสตรีเพศหญิง-LGBT ควรได้รับสิทธิ

‘เพื่อไทย-นักวิชาการ’ร่วมผลักดันนโยบายสตรี เนื่องในวันสตรีสากล 66 เพศหญิง-LGBT ควรได้รับสิทธิ มีศักดิ์ศรี ได้รับสวัสดิการมากขึ้น

พรรคเพื่อไทย จัดเสวนา “แนวทางการสร้างสวัสดิการเพื่อสตรี” เนื่องในวันสตรีสากลประจำปี 2566 โดยมี ส.ส.สมาชิกพรรค นักวิชาการ และผู้ที่สนใจเข้าร่วมเสวนา  โดยนางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์   ส.ส.กทม และโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การต่อสู้ของสตรีมีมาอย่างยาวนาน โดยพรรคเพื่อไทยได้ประกาศนโยบายเกี่ยวสุขภาพของสตรี ทั้งในส่วนของป้องกันและรักษา คือ การฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดฟรี สำหรับผู้หญิงทุกคน ปูพรม ตั้งแต่อายุ 9-17 ปี  ซึ่งวัคซีนนี้มีราคาค่อนข้างสูง รัฐบาลจะต้องสนับสนุน เพื่อให้สุขภาพของสตรีดีขึ้นได้ และลดอัตราการเสียชีวิตของสตรี

เนื่องจากสาเหตุการเสียชีวิตของหญิงไทยเกิดจากมะเร็งปากมดลูกเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม  พร้อมผลักดันนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ยกระดับกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ด้วยเทคโนโลยี ทุกวันนี้พี่น้องประชาชนไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างเป็นธรรม ต้องไปกู้หนี้นอกระบบ ต้องจบชีวิตจากครอบครัว การมีกองทุนให้สตรีสร้างรายได้ คือสิ่งที่พรรคเพื่อไทยตั้งใจทำให้ดียิ่งขึ้น  นโยบายของพรรคเพื่อไทยครอบคลุมถึงตั้งแต่เกิดถึงวันตาย ให้ครอบครัวมีความสามารถในการเลี้ยงดูบุตรที่เพียงพอ นโยบายเราทำได้จริง และทำได้ทันที  เรายังมุ่งมั่นเพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชน

“ทุกวันนี้เหมือนสังคมป่วย ต้องรับเงินจากรัฐ ไม่สามารถสร้างอาชีพให้ดูแลตัวเองได้ พรรคเพื่อไทยจะเพิ่มทักษะให้สตรี สอดคล้องกับนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ศักยภาพ ซอฟต์พาวเวอร์  (One Family One Soft power; OFOS) ที่รัฐบาลต้องมีหน้าที่สนับสนุนให้สตรีได้ค้นหาศักยภาพ และเปิดพื้นที่ทักษะให้เป็นรายได้สู่ครอบครัว”  
 

น.ส.เพ็ญพิสุทธิ์ จินตโสภณ ผู้ซึ่งประสงค์สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การใช้งบประมาณในการรักษาโรคย่อมมีมูลค่ามากกว่าการป้องกัน  วัคซีนมะเร็งปากมดลูกถือเป็นจุดริเริ่มที่ดี เพราะค่าใช้จ่ายในปัจจุบันของโรงพยาบาลเอกชนมีราคาค่อนข้างสูง รวมถึงค่าแรงขั้นต่ำของประเทศไทยที่อยู่ในราคา 353 บาท อาจจะไม่เพียงพอในการการฉีดวัคซีน   ที่ผ่านมาผู้หญิงหากมีลูกจะทำให้จนลง จึงเป็นเหตุผลให้พรรคเพื่อไทยเน้นในเรื่องของความเท่าเทียม จากการลงพื้นที่พบว่า สิ่งที่ยังขาดคือ ศูนย์รับเลี้ยงเด็ก จึงตกเป็นภาระของผู้หญิง เนื่องจากวันลาคลอดจำกัด สุดท้ายจึงตามมาด้วยโรคซึมเศร้า

“พรรคเพื่อไทยเน้นเป็นภาพใหญ่ คือ การลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในวันสตรีสากลที่พรรคเพื่อไทยประกาศชัดว่าจะอยู่เคียงข้างผู้หญิงทุกคน” น.ส.เพ็ญพิสุทธิ์ กล่าว 

ด้านนายจะเด็ด เชาวน์วิไล  ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า การต่อสู้ของผู้หญิงตั้งแต่ชนชั้นแรงงาน เกิดจากความยากลำบาก การแก้ไขต้องเป็นไปด้วยทั้งสองส่วน ซึ่งเห็นด้วยให้พรรคเพื่อไทยขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ พร้อมเสนอให้มีนโยบายสวัสดิการที่ครอบคลุม เช่น สิทธิลาคลอด การมีศูนย์เด็กเล็กก่อนวัยเรียน เงินสวัสดิการเด็กถ้วนหน้า การมีสวัสดิการที่ดี  เพราะคนรุ่นใหม่เห็นด้วยกับสวัสดิการและสังคมที่มีความหวัง 

“พรรคเพื่อไทยต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกับประเด็นสังคม ให้คนมีรายได้ และมีแนวโน้มให้คนเห็นได้ว่าอนาคตจะไปในทิศทางใด เรื่องแบบนี้จะทำให้นโยบายพรรคตอบโจทย์กับเพศสภาพอื่นที่หลากหลาย รวมไปถึงกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่จุดอ่อน ที่ระบุถึงข้อกำหนดว่าให้มีนายจ้างชัดเจน ซึ่งจะไม่ครอบคลุมกลุ่มไรเดอร์ พนักงานนวดบนแพลตฟอร์ม”
 

ณชเล บุญญาภิสมภาร รองประธานมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน และประธานมูลนิธิซิสเตอร์ กล่าวว่า เนื่องในวันสตรีสากล ขอชื่นชมผู้หญิงบนผืนแผ่นดินไทยที่มีความเข้มแข็งมากๆ ภายใต้สถานการณ์กดทับของประเทศนี้ ตนมองว่าสวัสดิการการข้ามเพศ ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา รัฐสนับสนุนผ่านระบบประกันสุขภาพ คนข้ามเพศสามารถนำประกันสุขภาพไปใช้ในการข้ามเพศได้ เช่น การผ่าตัดแปลงเพศ โดยในจดหมายที่ออกโดยแพทย์ จะระบุข้อความ ‘กระบวนการนี้มีความจำเป็นทางการแพทย์กับคนไข้’ เพื่อให้ประกันสุขภาพจ่ายค่ารักษาให้การรักษาครั้งนี้

“กลับมาที่เมืองไทย เรามีคุณหมอที่เก่งมาก แต่คนข้ามเพศกลับต้องเสียค่าบริการเองโดยภาครัฐไม่เคยเข้ามาสนับสนุนช่วยเหลือแม้แต่สตางค์เดียว ดังนั้น สิ่งที่รัฐควรทำความเข้าใจก่อนคือการยอมรับว่าคนข้ามเพศรู้สึกอึดอัด ตลอดเวลากับการมีร่างกายไม่ตรงกับสิ่งที่รู้สึกนึกคิด การข้ามเพศจึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นสำหรับคนข้ามเพศ” 

ณชเล กล่าวว่า การจะมีนโยบายหรือสวัสดิการสำหรับคนข้ามเพศต้องเริ่มจากทำความเข้าใจก่อนว่ากระบวนการข้ามเพศไม่ได้ทำครั้งเดียวจบ เช่น การทำหน้าอก การผ่าตัดแปลงเพศ เมื่อทำแล้วต้องใช้ระยะเวลาในการพักรักษาตัว จำนวนวันก็ขึ้นกับกระบวนการที่ทำ จึงควรเป็นสวัสดิการให้กับคนข้ามเพศได้มีสิทธิในการตัดสินใจทำหรือไม่ ซึ่งในความเป็นจริง ไม่ได้สามารถทำสิ่งนี้ได้ทุกปีและไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าถึงกระบวนการเหล่านี้ได้ นายจ้างจึงไม่ควรคิดว่าลูกจ้างจะหาประโยชน์จากสวัสดิการเหล่านี้  โดยควรทำ Social transformation เปลี่ยนวัฒนธรรมที่ล้าหลังและไม่เข้ากับบริบทของโลกปัจจุบัน เพื่อให้แรงงานเหล่านี้มีสุขภาพที่ดีและเป็นแรงงานสำคัญของประเทศต่อไป

นางสาวชวิศา เฉิน ผู้ก่อตั้งแบรนด์ WENDAYS ผ้าอนามัยออร์แกนิค ผู้ร่วมก่อตั้ง Talk to PEACH อนุกรรมการ สมาคมเพศวิทยาคลินิกและเวชศาสตร์ทางเพศ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ขอบคุณพรรคเพื่อไทยที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสวัสดิการผ้าอนามัยฟรี  หากรัฐสนับสนุนผ้าอนามัยโดยจับมือกับรายใหญ่ อาจเกิดผลกระทบ แต่ถ้าสนับสนุนทั้งรายย่อยและรายใหญ่ จะช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อยเติบโตได้ ซึ่งดีต่อเพศหญิงที่มีประจำเดือน และเชื่อว่าไม่มีผลกระทบทางลบ  


ทั้งนี้ การมีสวัสดิการทั้งของผู้หญิงและกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ในมุมของผู้จ้างงานย่อมได้รับผลกระทบ แต่ก็ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมนั้นๆ ต้องยอมรับว่าไทยมีอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมาก จึงควรพัฒนาผู้ประกอบการที่สร้างคุณค่าหรือใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยได้มากขึ้น 

นายชานันท์ ยอดหงษ์  ผู้รับผิดชอบนโยบายด้านอัตลักษณ์และความหลากหลาย  พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญกับสวัสดิการยกระดับคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชนทุกกลุ่มรวมถึงสวัสดิการสุขภาพของผู้หญิงที่พรรคเพื่อไทยกำลังศึกษาเกี่ยวกับสวัสดิการลาคลอด 180 วัน หลังจากที่ประเทศไทยเคยผลักดันการลาคลอดครบ 90 วันสำเร็จเมื่อ 30 ปีก่อน ตลอดจนสวัสดิการเพื่อคนข้ามเพศ อาทิ การที่กลุ่ม LGBT ลาคลอดเพื่อไปเลี้ยงบุตรบุญธรรม อีกทั้งประเทศไทยยังเป็นประเทศที่มีค่าใช้จ่ายสูงในการข้ามเพศอีกด้วย ซึ่งนโยบายเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ ทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมช่วยกันผลักดัน