“พปชร.” มุ่งเพิ่มพลังสตรีไทย ดูแลคุณภาพชีวิต ลดช่องว่าง-เหลื่อมล้ำ

“พปชร.” มุ่งเพิ่มพลังสตรีไทย ดูแลคุณภาพชีวิต ลดช่องว่าง-เหลื่อมล้ำ

“พปชร.” เผย พรรคให้ความสำคัญบทบาทสตรี ลดช่องว่าง เหลื่อมล้ำ เพิ่มพลังสตรีไทย จัดสวัสดิการดูแลคุณภาพชีวิตแม่เลี้ยงเดี่ยว ยกระดับศูนย์เด็กเล็กชุมชน

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐ  (พปชร.) เปิดเผยว่า เนื่องในวันสตรีสากล 8 มีนาคม พรรคพลังประชารัฐ ได้ให้ความสำคัญการลดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำ ทางสังคมให้กับกลุ่มสตรี และเยาวชน ได้รับสิทธิเท่าเทียมในทุกมิติ เท่ากับเพศชาย ที่นำมาสู่การระดมความคิดเห็นของกลุ่มสตรีพรรคพลังประชารัฐ ในกลุ่ม “พลังประชารัฐ เพิ่มพลังสตรีไทย” โดยมีนางฮูวัยดีย๊ะ พิศสุวรรณ ที่ปรึกษาด้านสิทธิสตรี และว่าที่ผู้สมัครพปชร. ประกอบด้วยน.ส.ชญาภา ปรีภาพาก นางนฤมล รัตนาภิบาล นายกานต์ กิตติอำพน น.ส.ณิรินทร์ เงินยวง นายศันสนะ สุริยะโยธิน นายสุวัฒน์ ม่วงศิริ นายระพีพัฒน์ สุเมธโชติเมธา ดร.บุณณดา สุปิยพันธุ์และ ดร.ภญ. สุชาดา เวสารัชตระกูล มาร่วมระดมความคิดเห็นครั้งนี้ เพื่อรวบรวมข้อมูลพิจารณาข้อเสนอของเครือข่ายองค์กรสตรี

“การเพิ่มพื้นที่และโอกาสการทำงานของผู้หญิง ความเท่าเทียมทางเพศทุกช่วงวัย ทุกสาขาอาชีพ และทุกศาสนา  รวมถึงสิทธิและสวัสดิการที่ผู้หญิงควรจะได้รับ มีความสำคัญต่อเป้าหมายการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งพปชร.เรามีคนรุ่นใหม่ และผู้มีประสบการณ์ที่หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว แสวงหาแนวทางในการดูแลคนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย พปชร.เปิดกว้างรับความคิดเห็นจากทุกฝ่ายสู่การผลักดันโยบายด้านสตรีให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเท่าเทียม” นางนฤมล กล่าว  

ทั้งนี้ นอกเหนือจากข้อเสนอของเครือข่ายองค์กรสตรี กลุ่ม “พลังประชารัฐ เพิ่มพลังหญิงไทย” ได้มีการนำเสนอแนวทางเพิ่มเติมให้ครอบคลุมการดูแลสตรี และเยาวชนให้มากยิ่งขึ้น อาทิเช่นการจัดสวัสดิการเพื่อการดูแลคุณภาพชีวิตแม่เลี้ยงเดี่ยว และยกระดับศูนย์รับเลี้ยงเด็กเล็กก่อนวัยเรียนในชุมชน เป็นต้น 

นอกจากนี้ น.ส. ชญาภา เสนอให้มีมาตรการแก้ไขปัญหาความรุนแรงทุกรูปแบบทุกพื้นที่ น.ส.ณิรินทร์ เสนอให้มีการจัดตั้งศูนย์สุขภาพจิตในชุมชนเพื่อคนทุกช่วงวัย ดร.ภญ.สุชาดา เสนอให้มีแนวทางเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสิทธิการรักษาและป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก และมะเร็งเต้านม 

ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวเกิดขึ้นจากการเก็บข้อมูลของว่าที่ผู้สมัคร พปชร. ที่ได้ลงพื้นที่จริง และพบปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน ดังนั้นจำเป็นต้องเร่งการแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วน เพื่อให้สอดรับกับบริบทการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว