"ก้าวไกล" รอ กกต.แบ่งเขตเลือกตั้ง 66 เชื่อประกาศผลเรียลไทม์ไม่ทันวันกาบัตร

"ก้าวไกล" รอ กกต.แบ่งเขตเลือกตั้ง 66 เชื่อประกาศผลเรียลไทม์ไม่ทันวันกาบัตร

"ก้าวไกล" รอ กกต.แบ่งเขตเลือกตั้ง 66 เชื่อทำไพรมารีโหวตครบทั้ง "ส.ส.เขต-ปาร์ตี้ลิสต์" เสร็จก่อนยุบสภา ด้าน "ณัฐพงษ์" ชี้รายงานผลเรียลไทม์ ทำได้ทันที กกต.จะทำหรือไม่ เชื่อประกาศผลไม่ทันวันกาบัตร

เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2566 นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะกำกับดูแลการเลือกตั้งของพรรค ก.ก. ให้สัมภาษณ์ถึงแผนการรณรงค์หาเสียง เตรียมพร้อมการเลือกตั้ง 2566 ว่า สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ตอนแรกเราวางแผนจะเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครส.ส.กทม. ให้ครบ 33 เขต และเปิดนโยบายสำหรับกทม. ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ แต่จนถึงวันนี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ยังแบ่งเขตเลือกตั้งไม่เรียบร้อย ทำให้ขยับค่อนข้างยาก แต่คาดว่าในวันที่ 12 มีนาคม จะมีการแบ่งเขตเลือกตั้ง กทม. เรียบร้อย เราจึงจะเปิดตัวอย่างชัดเจนได้ ส่วนที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีระบุว่าจะยุบสภาช่วงกลางเดือนมีนาคม พรรคก.ก. ไม่ได้ต้องปรับตัวอะไร เพราะเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งจะได้เลือกตั้งในวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 

นายพิจารณ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้พรรค ก.ก. จึงต้องเร่งกระบวนการตามกฎหมายต่างๆ โดยเมื่อเรารู้การแบ่งเขตเลือกตั้งอย่างชัดเจนแล้ว จากนั้นคือการทำไพรมารีโหวต ทั้งส.ส.เขต และส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยเชื่อว่ากระบวนการทำไพรมารีโหวตทั้งหมดจะเสร็จก่อนวันที่ 15 มีนาคม ส่วนรายชื่อว่าที่ผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ที่ยังไม่ได้จัดลำดับ จะต้องนำไปให้สมาชิกแสดงความคิดเห็น และค่อยนำมาจัดลำดับอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อถามว่า พรรคก.ก. เตรียมแผนที่จะเรียกคะแนนนิยมให้เพิ่มมากขึ้นหรือไม่ นายพิจารณ์ กล่าวว่า มีแน่นอน และนอกเหนือจากการโกยคะแนนนิยมแล้ว การเลือกตั้งในวันที่ 7 พฤษภาคม ยังมีความท้าทายเพราะเป็นช่วงวันหยุดยาว ประชาชนจึงอาจจะไปเที่ยวเมืองนอกหรือต่างจังหวัด จนไม่ได้ใช้สิทธิ รวมถึงการเลือกตั้งล่วงหน้า และการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ที่จะจัดขึ้นด้วย 

\"ก้าวไกล\" รอ กกต.แบ่งเขตเลือกตั้ง 66 เชื่อประกาศผลเรียลไทม์ไม่ทันวันกาบัตร

 

  • "ณัฐพงษ์" เชื่อ กกต.ประกาศผลคืนกาบัตรไม่ทัน

วันเดียวกัน นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงรูปแบบการแสดงผลการนับคะแนนการเลือกตั้งที่ให้ต้องให้สื่อเป็นตัวกลางประกาศข้อมูลอีกต่อหนึ่ง และระเบียบต่างๆ ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะทำให้ประชาชนได้รับข้อมูลอย่างรวดเร็วจริงหรือไม่ ว่า เรื่องระบบรายงานผลคะแนนการเลือกตั้ง ตัวแอพพลิเคชั่นเป็นเรื่องรอง เพราะสามารถจัดทำขึ้นภายใน 2 สัปดาห์ก่อนเลือกตั้งได้ แต่ระเบียบที่ออกมาล่าสุดได้ตัดส่วนการรายงานผลแบบเรียลไทม์ออก เพราะหัวใจสำคัญที่จะทำให้การรายงานผลเรียลไทม์เกิดขึ้นได้คือ เจ้าหน้าที่ที่อยู่หน้าหน่วยเลือกตั้ง หรือคณะกรรมการประจำหน่วย 

นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า เหตุผลที่ตนได้รับฟังมาจากตัวแทนของกกต. ที่เข้ามาชี้แจงในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาฯ ส่วนใหญ่จะให้เหตุผลว่าไม่ได้ตั้งงบประมาณไว้ จึงพัฒนาแอพพลิเคชั่นไม่ทัน และมีข้อกังวลเรื่องความน่าเชื่อถือของแอพฯ จึงรอให้คะแนนชัวร์ก่อนรายงานผลคะแนนสู่สาธารณะครั้งเดียว โดยตนคิดว่านี่ไม่ใช่เหตุผล เพราะผลคะแนนจะติดประกาศไว้ที่หน้าหน่วยเลือกตั้งอยู่แล้ว เราแค่แปลงจากรูปแบบติดที่บอร์ดเป็นแบบออนไลน์เรียลไทม์ โดยใช้เครื่องมือที่มีอยู่แล้วเช่น กูเกิ้ลสเปรดชีท โดยไม่ต้องไปซื้อ เซิฟเวอร์ราคาแพงหลายสิบล้านบาทมาใช้ หมายความว่ากกต. สามารถทำได้เลยแต่อยู่ที่จะทำหรือไม่

เมื่อถามถึงกรณีที่กกต. มั่นใจว่าจะรู้คะแนนในคืนวันเลือกตั้ง นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า "ผมดูจากทรงแล้ว คิดว่าน่าจะยาก ถ้าทุกอย่างไม่ได้รีพอร์ทเข้าระบบ และต้องรอแต่ละหน่วยเลือกตั้งจะแปะผลคะแนนที่บอร์ด กว่าหน่วยจะส่งไปที่เขต กว่าเขตจะส่งไปที่จังหวัด กว่าจังหวัดจะส่งไปที่ส่วนกลาง จึงไม่มีทางที่จะรายงานผลคะแนนทันในคืนวันเลือกตั้ง"

เมื่อถามว่า พรรค ก.ก. จะจับตาการทำหน้าที่ของกกต. เพื่อให้เกิดการนับคะแนนอย่างโปร่งใสอย่างไรบ้าง นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ขณะนี้เรากำลังทำสองส่วน ส่วนแรกคือ การประสานกับภาคประชาสังคมหรือผู้พัฒนาแอพฯ ต่างๆ และจะมีเวทีเพื่อพูดคุยกับกกต. อีกครั้ง ว่าเรามีทั้งของและมีทั้งแอพฯ ขอแค่แก้ระเบียบให้เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งมาช่วยการรายงานผล ก็พอ เราเตรียมทุกอย่างไว้ให้ฟรี โดยที่กกต. ไม่ต้องตั้งงบประมาณอะไรเลย เป็นระบบที่เสถียรและเชื่อถือได้ ตอนนี้ขาดแค่กำลังพลอย่างเดียว และส่วนที่สองคือการเตรียมหน่วยสังเกตการณ์และจัดกำลังพลไปประจำตามหน่วยต่างๆ เพื่อให้การนับคะแนนเลือกตั้งเป็นไปอย่างโปร่งใสและตรงไปตรงมา