"จุลพันธ์" ชี้ "ส.ว." ตั้งธง ตีตกญัตติประชามติ ยกร่าง "รธน.ใหม่"

"จุลพันธ์" ชี้ "ส.ว." ตั้งธง ตีตกญัตติประชามติ ยกร่าง "รธน.ใหม่"

"จุลพันธ์" ไม่ประหลาดใจ รายงานส.ว. ตีตกญัตติประชามติ ยกร่าง รธน.ใหม่ โดยส.ส.ร. ชี้ ตั้งธงไว้ตั้งแต่ต้น เตรียมเดินหน้าเลือกตั้ง ขอเสียงปชช.ตัดสินอนาคตแก้รธน.

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ฐานะผู้เสนอญัตติต่อสภาฯ ให้ส่งเรื่องไปยังครม. เพื่อออกเสียงประชามติต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน กล่าาวถึงกรณีที่วุฒิสภาเตรียมนัดประชุมเพื่อลงมติว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับญัตติฯ ดังกล่าวหรือไม่  ในวันที่  21 กุมภาพันธ์  ว่า ตนเพิ่งรับทราบว่าจะมีการลงมติในวันดังกล่าว อย่างไรก็ดีจากกรณีที่มีรายงานของกมธ. ที่มีนายสมชาย แสวงการ ส.ว. เป็นประธานซึ่งศึกษาประเด็น ให้ความเห็นคัดค้านการเห็นชอบนั้น เป็นประเด็นที่ถูกตั้งธงไว้อยู่แล้ว ตนไม่รู้สึกประหลาดใจ

 

 

เมื่อถามถึงบรรยากาศที่เข้าชี้แจงในกมธ.ดังกล่าวของส.ว.ในช่วงการศึกษาก่อนทำรายงานเป็นอย่างไร นายจุลพันธ์  กล่าวว่าตอนที่ไปชี้แจง มีความชัดเจนในความรู้สึกส่วนตัว คือ มีการเผชิญหน้าระหว่าง ส.ว. และ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งตนมองว่าประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญทำให้เกิดการประจัญหน้ากัน และกระทบกระทั่งกัน และยิ่งใกล้เลือกตั้งทำให้เห็นภาพการกระทบกันที่รุนแรง แต่การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มองว่าเป็นช่องทางที่จะลดสถานการณ์ตึงเครียดในสังคมได้ เพื่อให้ประชาชนมีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญ

“การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ผ่านมามีเพียงฉบับเดียวที่ผ่านความเห็นชอบ คือ เรื่องของจำนวน ส.ส. เพราะผู้มีอำนาจอนุมัติ อีกทั้งเป็นสิ่งที่พรรคร่วมรัฐบาลเรียกร้อง แต่การออกแบบที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ใช่การแก้ไขเพื่อประชาชน หรือทำให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตย” นายจุลพันธ์ กล่าว

เมื่อถามว่ากรณีที่ส.ว.โหวตตกญัตติดังกล่าวจะเดินหน้าอย่างไรต่อ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า หากส.ว.โหวตค้าน ถือว่ากลไกจบแล้ว เพราะตามกฎหมายประชามติระบุว่าต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา หากให้สภาฯ เป็นผู้เสนอญัตติต้นเรื่อง เมื่อได้รับความเห็นชอบ อย่าางเป็นเอกฉันท์ แต่ต้องส่งให้ส.ว.ลงมติด้วย หากส.ว.ไม่เห็นชอบญัตติต้องตกไป อย่างไรก็ดีจากนี้เราต้องเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง ใช้เสียงประชาชนเป็นตัวตัดสินอนาคต.