ศาล ปค.สั่งทุเลาชั่วคราว แขวนคำสั่งถอดถอน “สืบพงษ์” พ้นอธิการบดี ม.รามฯ

ศาล ปค.สั่งทุเลาชั่วคราว แขวนคำสั่งถอดถอน “สืบพงษ์” พ้นอธิการบดี ม.รามฯ

ศาลปกครองกลาง มีสั่งทุเลาแขวนคำสั่งถอดถอน “สืบพงษ์” พ้นเก้าอี้อธิการบดี ม.รามคำแหง ไว้เป็นการชั่วคราว ชี้น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย หลังโดนร้องเรียนหลายเรื่อง แต่ต้องเปิดโอกาสให้ชี้แจงโต้แย้ง แสดงพยานหลักฐานก่อน

เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง คดีหมายเลขดำที่ บ.362/2565 ระหว่างนายสืบพงษ์ ปราบใหญ่ ผู้ฟ้องคดี กับสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ศ.สมบูรณ์ สุขสำราญ อุปนายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ทำหน้าที่แทนนายกสภาฯ และนายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-3

คดีนี้นายสืบพงษ์ฟ้องว่า เดิมดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง มีมติในการประชุมครั้งที่ 21/2565 เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2565 และ ศ.สมบูรณ์ มีคำสั่งสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ 119/2565 และ 120/2565 ลงวันที่ 9 พ.ย. 2565 ถอดถอนออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง และแต่งตั้ง ผศ.บุญชาล ทองประยูร เป็นผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ดังนั้นจึงยื่นฟ้องคดีต่อศาล ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนมติและคำสั่งดังกล่าว รวมทั้งขอให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีการพิพากษา โดยสั่งทุเลาการบังคับตามมติและคำสั่งดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าคดีจะถึงที่สุด

ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้ว เห็นว่า เมื่อมติของสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ในการประชุมครั้งที่ 21/2565 เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2565 ที่ถอดถอนนายสืบพงษ์ออกจากตำแหน่งอธิการบดี เป็นคำสั่งทางปกครอง มีผลให้ต้องพ้นจากตำแหน่งอธิการบดีเป็นการถาวรและเด็ดขาด ดังนั้นการที่สภามหาวิทยาลัยรามคำแหงจะพิจารณาเพื่อมีมติถอดถอนนายสืบพงษ์ออกจากตำแหน่งดังกล่าว จึงต้องให้โอกาสนายสืบพงษ์ได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ และมีโอกาสได้โต้แย้ง และแสดงพยานหลักฐานของตน ตามมาตรา 30 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 เสียก่อน

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในข้อกล่าวหาว่า นายสืบพงษ์ ยื่นหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายฎีการ้องทุกข์โดยบิดเบือนข้อเท็จจริง สภามหาวิทยาลัยรามคำแหง มิได้ให้โอกาสนายสืบพงษ์ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ และมีโอกาสได้โต้แย้งแสดงพยานหลักฐาน ทั้งที่ข้อกล่าวหาดังกล่าวอาจมีผลทำให้นายสืบพงษ์ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งอธิการบดี กรณีจึงย่อมมีผลให้มติของสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ในการประชุมครั้งที่ 21/2565 เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2565 ที่ถอดถอนนายสืบพงษ์ และตั้ง ผศ.บุญชาล เป็นผู้รักษาราชการอธิการบดี น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ศาลปกครองกลาง ระบุอีกว่า หากให้มติพิพาทมีผลบังคับใช้ต่อไป จะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลังแก่สภามหาวิทยาลัยรามคำแหง เนื่องจากนายสืบพงษ์จะเสียโอกาสในการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งอธิการบดี ในระหว่างการพิจารณาคดีนี้ของศาล นอกจากนั้นการทุเลาการบังคับตามคำพิพาทไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของมหาวิทยาลัยรามคำแหง หรือแก่บริการสาธารณะ เนื่องจากการที่นายสืบพงษ์ปฏิบัติหน้าที่อธิการบดี จำต้องบริหารกิจการของมหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยอยู่ภายใต้กำกับดูแลของสภามหาวิทยาลัยอีกชั้นหนึ่ง

ศาลปกครองกลางจึงมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติของสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ในการประชุมครั้งที่ 21/2565 เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2565 รวมถึงคำสั่งสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ 119/2565 และ 120/2565 ลงวันที่ 9 พ.ย. 2565 ที่ถอดถอนนายสืบพงษ์ออกจากตำแหน่ง และแต่งตั้ง ผศ.บุญชาล เป็นผู้รักษาราชการอธิการบดี ไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

อ่านรายละเอียดฉบับเต็ม : https://drive.google.com/file/d/13I9KSkokIbl0f-x7oG2uHGVeyz4rUPAG/view