"วิปรัฐบาล" โวย "สมาชิก" แห่ลาประชุม ทำสภาล่ม อัดรู้ล่วงหน้าถกร่างรธน.

"วิปรัฐบาล" โวย "สมาชิก" แห่ลาประชุม ทำสภาล่ม อัดรู้ล่วงหน้าถกร่างรธน.

"รองประธานวิปรัฐบาล" โวย "สมาชิก" แห่ลาประชุม ทำสภาล่ม-สร้างความเสื่อมเสีย แฉรู้ล่วงหน้านัดถกร่างรัฐธรรมนูญ

ที่รัฐสภานายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) แถลงข่าวเกี่ยวกับการประชุมร่วมกันของรัฐสภาทั้ง 2 วัน ที่องค์ประชุมไม่ครบนั้น เป็นเรื่องที่น่าเสียดายเนื่องจากวันนี้ทุกฝ่ายคาดหวังว่าจะให้ญัตติในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาซึ่งเป็นญัตติสุดท้ายคือ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... ที่นายชลน่าน ศรีแก้ว และคณะ เป็นผู้เสนอ ได้รับการพิจารณา ในฐานะวิปรัฐบาลได้พยายามชี้แจงต่อที่ประชุมว่า การประชุมเมื่อวานนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. .... ซึ่งจะผ่านความเห็นชอบหรือไม่นั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

แต่ก็ถือว่ารัฐสภาได้ทำหน้าที่ในการพิจารณาไปแล้ว โดยร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... จะผ่านหรือไม่ผ่านความเห็นชอบก็เป็นสิทธิขององค์ประชุมแต่ละฝ่าย และทุกฝ่ายต่างทราบดีอยู่แล้วว่าการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 นั้นจะกระทำได้ยากเพราะนอกจากจะต้องอาศัยเสียงกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาแล้ว ยังต้องอาศัยเสียง 1 ใน 3 ของวุฒิสภาที่ต้องให้ความเห็นชอบด้วย

และในกรณีที่มีสมาชิกรัฐสภาได้ลาการประชุมเป็นจำนวนมากทั้งที่ทราบว่าวันนี้จะมีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมนั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ทำให้ภาพรวมของรัฐสภาเกิดความเสียหาย

ทั้งนี้ ในส่วนของการทำงานด้านนิติบัญญัตินั้น เมื่อทุกฝ่ายต้องการผลสำเร็จที่ให้ญัตติต่าง ๆ ผ่านสภา สถานการณ์ทางการเมืองและอคติของแต่ละฝ่ายจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ แต่ความร่วมมือกันที่จะทำให้ครบองค์ประชุมและความรับผิดชอบต่อการที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ในวันประชุมนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ

อย่างไรก็ตาม ถือเป็นเรื่องปกติของสภาในสมัยนี้ที่ไม่ครบองค์ประชุมแต่เราก็ยังคาดหวังที่ในวันนี้ประธานรัฐสภาได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า เรายังมีเวลาที่จะนัดประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาเรื่องที่ยังค้างอยู่ 1 เรื่อง และเป็นกฎหมายปฏิรูปที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรีคือ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ....

จึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือ และจากการหารือในเบื้องต้นกับฝ่ายวุฒิสภา ฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน โดยฝ่ายวุฒิสภาและฝ่ายรัฐบาลมีความเห็นด้วยที่จะนำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... มาพิจารณาต่อในเวลาที่เหลืออยู่ ส่วนทางฝ่ายค้าน ได้รับปากว่าพร้อมที่จะเป็นองค์ประชุมแม้ว่าจะไม่เห็นด้วยก็ตาม

จึงต้องขอขอบคุณทุกฝ่ายและหวังว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะได้รับการพิจารณาอีกครั้ง นอกจากนี้ ได้กล่าวถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันพรุ่งนี้ (9 ก.พ. 66)

ซึ่งจะมีวาระสำคัญที่วิปทั้งสองฝ่ายได้ประชุมร่วมกันและมีความเห็นด้วยแล้ว คือหลังจากที่มีการปรึกษาหารือและพิจารณากระทู้ถามเสร็จเรียบร้อยแล้วจะพิจารณาเรื่องรับทราบ แต่มีเรื่องที่คณะ กมธ. พิจารณาเสร็จแล้วคือร่าง พ.ร.บ.ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ (ฉบับที่) พ.ศ. ...  ซึ่งได้มีการขอแก้ไขโดยเสนอให้ยกบัณฑิตศึกษาของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ไปเป็นมหาวิทยาลัยเอกชน โดยกระบวนการดังกล่าวนี้เป็นกระบวนการที่ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารีฯ ทรงดำเนินการในการขับเคลื่อนให้มีสถาบันทางวิชาการที่เป็นเลิศทางด้านเคมี และสุขภาพ

โดยเฉพาะเรื่องของโรคมะเร็งที่ควรมีสถาบันเป็นพิเศษ ซึ่งทุกฝ่ายต่างเห็นด้วย โดยตนได้รับเลือกให้เป็นประธานคณะ กมธ. พิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ และคณะ กมธ. ได้พิจารณาเสร็จแล้ว และเสนอมายังประธานสภาผู้แทนราษฎร และได้รับการบรรจุในระเบียบวาระการประชุมแล้ว

ซึ่งกฎหมายฉบับนี้มีทั้งสิ้น 20 มาตรา ไม่มีผู้สงวนความเห็น และไม่มีผู้แปรญัตติ จึงหวังว่าในวันพรุ่งนี้จะได้รับการพิจารณาและได้รับความเห็นชอบจากสภา เพื่อส่งไปยังวุฒิสภาเพื่อพิจารณาต่อไป และคาดว่ากฎหมายฉบับนี้จะเป็นกฎหมายฉบับสุดท้ายของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาในสมัยประชุมนี้

จึงขอความร่วมมือจากสมาชิกฯ ด้วย อีกทั้งยังมีกฎหมายที่ค้างอยู่คือ ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งสมาชิกฯ ได้อภิปรายเรียบร้อยแล้ว เหลือเฉพาะการลงมติในชั้นรับหลักการเท่านั้น คงจะใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง สำหรับกฎหมาย 2 ฉบับนี้ และหลังจากนั้น ทุกพรรคต่างมีความเห็นพ้องต้องกันว่า จะนำร่าง พ.ร.บ.การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นปัญหาที่กระทบต่อพี่น้องชาวประมงอย่างกว้างขวางมาพิจารณา ซึ่งมีการเสนอมาทั้งหมด 7 ฉบับ

วิปจึงมีมติให้พิจารณาทั้ง 7 ฉบับ ร่วมกัน และมีมติรับหลักการ โดยตั้งคณะ กมธ. พิจารณา จึงหวังว่ากฎหมายต่าง ๆ เหล่านี้จะได้พิจารณาในวันพฤหัสบดีที่ 9 ก.พ. 66 ทั้งนี้ เมื่อกฎหมายต่าง ๆ ล้วนมีความสำคัญ ดังนั้น เมื่อเรายังดำรงสถานะสมาชิกผู้แทนราษฎรจึงขอความร่วมมือให้สมาชิกฯ มาทำหน้าที่ด้วย