สงครามป้ายหาเสียง โชว์นโยบาย ประชันผู้นำ

สงครามป้ายหาเสียง  โชว์นโยบาย ประชันผู้นำ

จับตาสงคราม “ป้ายหาเสียง” โดยทุกพรรคจะโฟกัสไปที่ดีไซน์ การสื่อสาร และนโยบาย ให้เป็นที่จดจำ เพราะหากสื่อสารได้ตรงใจประชาชน ย่อมมีโอกาสเก็บแต้มการเมืองได้เยอะกว่าพรรคการเมือง

เข้าสู่โหมดเลือกตั้งเต็มตัว ภายหลังกฎหมายลูก 2 ฉบับมีผลบังคับใช้ บรรดาพรรคการเมืองทยอยเปิดนโยบาย เปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เพื่อเตรียมตัวสู้ศึกเลือกตั้งปี 2566 โดยทุกพรรควางเดิมพันไว้สูงลิบ เพื่อผลักดันตัวเองให้เข้าสู่อำนาจรัฐ

ยิ่งการต่อสู้ภาคสนามในแต่ละพื้นที่ต่างขับเคี่ยวแย่งชิงมวลชนกันทั้งใต้ดินบนดิน จับตาศึกแรกที่ “นักเลือกตั้ง” จะฟาดฟันกันคือทำสงคราม “ป้ายหาเสียง” ทั้งดีไซน์ ความโดดเด่น การสื่อสารนโยบายพรรค ที่สำคัญศึกชิงเสาไฟฟ้าเอาไว้ติดป้ายหาเสียงกำลังเกิดขึ้น

“กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวมรูปแบบ แนวคิด ดีไซน์ และคีย์เวิร์ด ที่แต่ละพรรคการเมืองต้องการสื่อสารกับ “ประชาชน” เพื่อดึงคะแนนมายังพรรคของตัวเองให้ได้มากที่สุด

เริ่มกันที่พรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นพรรคการเมืองแรกๆ ที่ติดป้ายหาเสียง โดยใช้รูปของ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และว่าที่แคนดิเดตนายกฯของพรรค เพื่อเรียกแต้มทางการเมืองตั้งแต่เนิ่นๆ โดยกระจายทุกพื้นที่

โดยเปลี่ยนมาใช้สีแดงเป็นสีหลัก ซึ่งเป็นสีประจำพรรค บ่งบอกถึงความมีพลังของพรรค ควบคู่ไปกับรูปของ “อุ๊งอิ๊ง” ซึ่งจะเป็นคนดึงแต้มการเมืองมายังพรรค เนื่องจากยี่ห้อ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี คอยเป็นแบ็คอัพให้

คีย์เวิร์ดหลัก ที่สื่อสารกับประชาชน “คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน” พร้อมทั้งมุ่งเน้นไปที่นโยบายสำคัญ โดยเฉพาะค่าแรง 600 บาทต่อวัน เงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาทต่อเดือนภายในปี 2570 นอกจากนี้ สัญญาจะยกระดับ 30 บาท บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทั่วไทย จองคิวได้เร็ว ซึ่งเป็นการต่อยอดนโยบายยุคทักษิณที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้ว

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ป้ายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย จะมีแค่ภาพของ “อุ๊งอิ๊ง” แต่หลังจากนี้จะปรับรูปแบบมาใส่รูป ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ในแต่ละพื้นที่คู่กับ “อุ๊งอิ๊ง”ด้วย

สงครามป้ายหาเสียง  โชว์นโยบาย ประชันผู้นำ

พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) การติดป้ายหาเสียงของพรรคของ ป.ป้อม เริ่มมีให้เห็นกันบ้างแล้ว หลังจากเปิดตัวนโยบายไฮไลต์ของพรรค อย่างบัตรประชารัฐ 700 บาท เพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในครัวเรือน เพิ่มสิทธิประโยชน์ และสวัสดิการต่างๆ ส่งผลให้ บรรดาผู้สมัคร ส.ส.หลายพื้นที่ ได้จังหวะขึ้นป้ายหาเสียงเป็นรูปตัวเองพร้อมกับนโยบายดังกล่าว

ที่สำคัญคือ ยังต้องมีรูปแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค รวมอยู่ด้วย โดยคอนเซ็ปต์สำคัญที่พลังประชารัฐใช้เป็นแคมเปญหาเสียงครั้งนี้ คือ "ก้าวข้ามความขัดแย้ง" ดังที่แกนนำพรรคนำเสนออยู่บ่อยๆ คือ "ก้าวข้ามความขัดแย้ง ขจัดทุกปัญหา พัฒนาทุกพื้นที่"

สงครามป้ายหาเสียง  โชว์นโยบาย ประชันผู้นำ

พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ยังไม่เปิดตัวนโยบาย ทำให้ยังไม่พบการใช้นโยบายมาขึ้นป้ายหาเสียง และเกือบทุกพื้นที่ป้ายหาเสียงของพรรค รทสช.ยังไม่ปรากฏ ยังเว้น จ.ชุมพร ที่มีการปราศรัยใหญ่ของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เมื่อวันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา

โดยป้ายหาเสียง จ.ชุมพร ส่วนใหญ่จะใส่รูป “พล.อ.ประยุทธ์” ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ และรูป “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” ในฐานะหัวหน้าพรรค รวมกับรูปของว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ส่วนคีย์เวิร์ดคือ “สู้ให้ทุกปัญหา พึ่งพาได้ทุกเรื่อง สร้างสังคมเท่าเทียม”

ทั้งนี้ ภายหลังเปิดนโยบายของพรรคช่วงต้นเดือน ก.พ. อาจจะมีการปรับเปลี่ยนป้ายหาเสียง เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายที่ต้องการนำเสนอมากขึ้น

สงครามป้ายหาเสียง  โชว์นโยบาย ประชันผู้นำ

พรรคภูมิใจไทย (ภท.) รอบนี้ชัดเจนชู “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯและรมว.สาธารณะสุข หัวหน้าพรรค เป็นแคนดิเดตนายกฯ ชิงจังหวะได้เปรียบจากกระทรวงเกรดเอ ที่พรรคกำกับดูแล สานต่อหลากหลายนโยบายเศรษฐกิจ ปากท้อง ภายใต้กำกับกระทรวงทั้งสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม และกระทรวงการท่องการท่องเที่ยวและกีฬา ทั้งพักหนี้ 3 ปี หยุดต้น ปลอดดอกคนละไม่เกิน 1 ล้านบาท นโยบาย “เกษตรร่ำรวย” ด้วยการแก้หนี้สินของเกษตรกร

นโยบายสาธารณสุข เครื่องฉายรังสีรักษามะเร็ง ฟรี ทุกจังหวัดศูนย์ฟอกไตฟรีทุกอำเภอ รวมทั้งนโยบายพลังงานสะอาด ลดรายจ่ายฟรีหลังคาโซล่าเซลล์ ลดค่าไฟฟ้า หลังคาเรือนละ 450 บาท มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ผ่อนเดือนละ 100 บาท 60 งวด

โดยเฉพาะนโยบายซื้อใจคนเมืองหลวง สนามที่รอบนี้ ภท.ให้ความสำคัญเป็นพิเศษมากกว่าทุกครั้ง ด้วยการโปรยยาหอมสารพัดนโยบาย “รถ-เรือ-ราง” ทั้งหมดทั้งมวล ภูมิใจไทยชูคอนเซปต์ 3 คำสั้นๆ ว่า “พูด-แล้ว-ทำ”

พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่ยามนี้จะได้เห็นป้าย “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” หัวหน้าพรรค เคียงคู่กับนโยบาย “สร้างเงิน-สร้างคน-สร้างชาติ”  

โดยเฉพาะ 8 นโยบายที่มีการเปิดไปก่อนหน้าทั้ง การประกันรายพืชผลการเกษตร นโยบายเพื่อชาวนา 30,000 บาทต่อ 1 ครัวเรือน นโยบาย ฟรีนมโรงเรียน 365 วัน นโยบายประมง และประมงพาณิชย์ การออกโฉนดที่ดิน 1 ล้านแปลง ภายใน 4 ปี ออกกรรมสิทธิ์ทำกินให้กับพี่น้องเกษตรกร และธนาคารหมู่บ้านและชุมชนแห่งละ 2 ล้านบาททั้งประเทศ รวมในส่วนของเมืองหลวงอันเป็นสนามสำคัญของค่ายสีฟ้า

พร้อมตอกย้ำว่าหลากลายนโยบายเหล่านี้ ปชป.โฆษณาไว้ว่า เป็นนโยบาย “ทำได้ไว-ทำได้จริง”

สงครามป้ายหาเสียง  โชว์นโยบาย ประชันผู้นำ

พรรคก้าวไกล (ก.ก.) จัดทำขึ้นตามแคมเปญการประชุมใหญ่ของพรรคเมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา คือ “กาก้าวไกล ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม” โดยเน้นถึงประเด็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสังคมถึงฐานราก ตามที่พรรคก้าวไกลเคยนำเสนอไปหลายครั้งก่อนหน้านี้

รวมไปถึงการเคลื่อนไหวแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรค รับปากกับกลุ่มมวลชนไปแล้ว และหากยังไม่มีการตอบรับการเปลี่ยนแปลง อาจมีการยกระดับเพิ่มขึ้นมากกว่านี้

ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับป้ายหาเสียงของพรรคก้าวไกล นับเป็นครั้งแรกที่มีการโฆษณาผ่าน “บิลบอร์ดจอแอลอีดี" บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งเป็นสถานที่มีผู้คนสัญจรพลุกพล่านมากที่สุดแห่งหนึ่งใน กทม.

นอกจากนี้ ยังมีการปูพรมติดป้ายประเด็นอื่น ๆ ทั่ว กทม. เช่น “หวยใบเสร็จ ช่วย SME ซื้อของรายย่อย ลุ้นเงินล้าน” และ “รัฐโปร่งใส AI จับโกง คนแฉปลอดภัย ได้เงิน” รวมถึง “สวัสดิการลดเหลื่อมล้ำ เด็กเล็ก 1,200 บาทต่อเดือน ผู้สูงวัย 3,000 บาทต่อเดือน” เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ยังคงไม่มีป้ายชูแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคอย่างเป็นทางการ แต่แกนนำพรรคต่างหารือข้อสรุปกันเบื้องต้นแล้วว่าจะมีแค่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เป็นแคนดิเดตนายกฯ คนเดียว

สงครามป้ายหาเสียง  โชว์นโยบาย ประชันผู้นำ

พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ชมพูสด โทนสีประจำพรรค ซึ่งใช้มาตั้งแต่นำเสนอนโยบายปรองดอง เน้นตัวผู้นำพรรครุ่นใหม่  “วราวุธ ศิลปอาชา” ซึ่งคาดหมายว่าจะถูกเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯของพรรค ในส่วนของนโยบายยังไม่ปรากฏบนป้ายหาเสียงแต่อย่างใด

พรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) แม้เจ้าของตระกูล “ลิปตพัลลภ” ยังกุมอำนาจภายในพรรค แต่ด้านการหาเสียงแล้วยอมหลีกทางให้ “กรณ์ จาติกวณิช” ยืนหนึ่งบนป้ายหาเสียง พร้อมชูนโยบาย “ยกเลิกแบล็กลิสต์ยูโร รื้อระบบสินเชื่อ” มาเป็นนโยบายหลัก

พรรคไทยสร้างไทย ถือว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คทอเน้นพื้นหลังสีน้ำเงิน พร้อมกับชูภาพคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ุ หัวหน้าพรรคเป็นหลัก และสัญลักษณ์ตัวย่อ “ส” ที่สื่อความหมายได้ถึงชื่อคุณหญิงสุดารัตน์ และชื่อพรรค

โดยรูปแบบการจัดวางองค์ประกอบบนป้ายหาเสียงของไทยสร้างไทย จึงต้องมีรูปคุณหญิงสุดารัตน์ คู่กับผู้สมัครในแต่ละพื้นที่ และสอดแทรกนโยบายสำคัญๆ เช่น บำนาญประชาชน 3,000 บาท ที่ถือเป็นนโยบายธงนำของพรรคที่หวังชนะใจผู้อายุ ที่ถือว่ามีจำนวนมากในประเทศ

หลังจากนี้ให้จับตาสงคราม “ป้ายหาเสียง” โดยทุกพรรคจะโฟกัสไปที่ดีไซน์ การสื่อสาร และนโยบาย ให้เป็นที่จดจำ เพราะหากสื่อสารได้ตรงใจประชาชน ย่อมมีโอกาสเก็บแต้มการเมืองได้เยอะกว่าพรรคการเมือง