สานฝันประยุทธ์“นายกฯ 10ปี” รทสช. “กลไกอำนาจ - เซฟโซน”

สานฝันประยุทธ์“นายกฯ 10ปี”  รทสช. “กลไกอำนาจ - เซฟโซน”

พรรครวมไทยสร้างชาติจึงเป็นกลไกอำนาจสำคัญของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เป็นทั้งแรงต่อรองทางการเมือง และเป็นเซฟโซนเมื่อถึงเวลาต้องลงจากหลังเสือ

การปรากฎตัวของ ว่าที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ประเดิมเวทีหาเสียงในฐานที่มั่นแรก จ.ชุมพร

เมื่อวันที่ 28 ม.ค.2566 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในมาดนักการเมืองเต็มตัว ดูคึกคักท่ามกลางแฟนคลับและกองเชียร์ 

บรรดาขุนพลข้างกาย ประกอบด้วย พีระพันธุ์ ลาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค รทสช. เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นต้น

ต้องยอมรับว่าพื้นที่ “ภาคใต้” คือฐานเสียงสำคัญของ “ประยุทธ์-รทสช.” ที่ต้องขับเคี่ยวแย่งชิงเก้าอี้ ส.ส. กับพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ภายใต้การนำของ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.พาณิชย์ หัวหน้าพรรค ปชป. ที่กระแสนิยมของพรรคปชป.-หัวหน้าพรรค ลดน้อยถอยลง

ปรากฎการณ์การเลือกตั้งปี 2562 พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในขณะนั้นได้กระแสของ “ประยุทธ์” ทำให้คว้าเก้าอี้ ส.ส. ภาคใต้มาได้ 13 ที่นั่ง ขณะเดียวกันพรรค ปชป. แม้จะคว้ามาได้ 22 ที่นั่ง แต่ก็ถูกมองว่าประสบความล้มเหลว

เนื่องจากในพื้นที่ภาคใต้พรรค ปชป. ไม่เสียเก้าอี้ ส.ส. ให้กับคู่แข่งทางการเมืองเยอะขนาดนี้มาก่อน ทำให้ชื่อของ “ประยุทธ์” เข้าไปจับจองหัวใจคนใต้แทนที่พรรค ปชป. ได้มากพอตัว

จึงไม่แปลกที่การเลือกตั้งปี 2566 ที่กำลังจะเกิดขึ้น พรรค รทสช. จะสานฝัน “ประยุทธ์” เสนอชื่อให้กลับมานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอีกรอบ จะเลือกเปิดพื้นที่ท้าชิงเก้าอี้ ส.ส. ภาคใต้ แข่งกับพรรค ปชป.

ถอดรหัสจากคำปราศรัยของ “ประยุทธ์” มีนัยทางการเมืองผ่านคีย์เวิร์ดที่สื่อสารกับประชาชน โดยเปิดฉากปราศัยด้วย

ผลงานของตัวเอง ที่ให้ความสำคัญกับพื้นที่ภาคใต้ โดยระบุว่า “จังหวัดชุมพร เป็นประตูสู่ภาคใต้ วันนี้ก็มีรถไฟรางคู่มาสู่จังหวัดชุมพร ปีนี้เสร็จแน่นอน และระยะที่สองจากชุมพรไปสงขลา และปาดังเบซาร์”

“ประยุทธ์” เชื่อมการหาเสียงด้วยผลงานรถไฟทางคู่ ซึ่งถือว่าจี้ตรงใจคนใต้ เพราะโครงการดังกล่าวย่นระยะเวลาการเดินทางของคนแดนใต้ได้เยอะมาก พร้อมกับวางพื้นที่ของการพัฒนาในพื้นที่ได้ตรงจุด

ขณะเดียวกัน การยืนยันจะสานต่อโครงการเดิมที่เคยทำเอาไว้ และเป็นผลงานที่ประชาชนค่อนข้างชอบ อาทิ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ – โครงการคนละครึ่ง โดยระบุว่า “นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่จังหวัดชุมพรนี้ก็ได้เหมือนกัน และผมยืนยันว่าจะทำต่อ โครงการคนละครึ่งจะสานต่อถ้าผมได้อยู่ต่อ และทำให้ดีขึ้นกว่าเดิม”

ทว่า “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ก็โดนเคลมจาก “ทีมบิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ชิงประกาศเพิ่มเงินในบัตร 700 บาท ก่อนจะปั่นแคมเปญ “ป้อม 700” ยึดหัวหาด เอาใจคนมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐกว่า 13 ล้านคน

ด้านพรรคเพื่อไทย พยายามดิสเครดิตกล่าวหาว่าเป็น “บัตรคนจน” หากมีผู้ถือบัตรจำนวนมาก เราไม่ควรภาคภูมิใจ เพราะจะทำให้มีข้อมูลว่าประเทศไทยมี “คนจน” จำนวนมากที่ต้องพึ่งพาบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

โดย “ประยุทธ์” ตอบโต้พลังประชารัฐ-เพื่อไทย กลับว่า “ผมคิดว่าการเลือกตั้งและการหาเสียงครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นการเกทับ บลัฟแหลกแจกของอะไรเยอะแยะไปหมด เพราะจะทำให้ปัญหากลับมาที่ประเทศ เราต้องจริงใจและเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ใจ”

คำประกาศไม่ออกแคมเปญหาเสียงเกทับบลัฟแหลก ทำให้เกิดความชัดเจนแล้วว่า “ประยุทธ์” จะไม่สู้นโยบาย “ป้อม 700” แต่จะซัดกลับให้เห็นถึงความสูญเสียกับประเทศ หากออกนโยบายเกทับบลัฟกัน

นอกจากนี้ “ประยุทธ์” ยังประกาศค่อนข้างชัดเจนว่า เวลาของตัวเองเหลือเพียง 2 ปีเท่านั้น เนื่องจากก่อนหน้า “ศาลรัฐธรรมนูญ” มีมติให้นับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2560 บังคับใช้ ซึ่งผ่านมาแล้วเกือบ 4 ปี

“ผมทำงานมาหลายปี ไม่ลืมคำสัญญา ว่าจะพลิกโฉมประเทศไทยให้ดีขึ้นให้ได้โดยเร็ว ภายใน 2 ปี ถ้ามองด้วยความเป็นธรรม ไม่ต้องดูที่ตัวผม จะเห็นว่าหลายอย่างมันเกิดขึ้นแล้ว และผมยืนยันว่าจะเป็นคนทำต่อให้ดีที่สุด ถ้ามีโอกาส”

คีย์เวิร์ดข้างต้นบ่งบอกว่า “ประยุทธ์” มีเวลาเหลืออยู่อีกเพียง 2 ปี แต่เผื่อใจเอาไว้เช่นกัน ด้วยการออกตัวว่า “ถ้ามีโอกาส” ซึ่งก็จะต้องขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้ง หากพรรค รทสช. กวาดเก้าอี้ ส.ส. มาได้เยอะ โอกาสของ “ประยุทธ์” ย่อมมีสูงมากขึ้นไปด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อ “ประยุทธ์” มีไทม์มิ่งของตัวเองเพียง 2 ปี “พรรค รทสช.” จึงถูกตั้งคำถามว่า เมื่อเป็นพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุน “ประยุทธ์” แล้วจะมีทิศทางเดินไปข้างหน้าอย่างไร หากผ่านพ้นยุค “ ป.ประยุทธ์” ไปแล้ว

“แต่ผมไม่ได้บอกว่าพรรคนี้จะอยู่ 2 ปี ถ้าทำดีก็ให้เขาอยู่ไปหลายๆ ปี ไม่ได้ตั้งมาปีเดียวแล้วเลิก ไม่ใช่” สัญญาณจากประยุทธ์ ที่ต้องการบอกให้ชัดว่า เมื่อถึงเวลาต้องพ้นไปตามกติกา พรรค รทสช. ก็จะขับเคลื่อนต่อไป ไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจ  เพียงแต่ละไว้ว่า การถอยออกจากหน้าฉากของตัวเอง ไม่ได้หมายความว่าจะวางมือทางการเมืองไปโดยสิ้นเชิง 

จึงเป็นไปได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงเป็นแบ็คอัพสำคัญ วางเกมและสนับสนุนอยู่ข้างหลัง เพื่อตรึงมวลชน และขุนพลการเมืองเอาไว้ 

ที่ไม่อาจมองข้ามได้ คือเกมแก้รัฐธรรมนูญ ที่มีความเคลื่อนไหวของ ส.ว.ส่งสัญญาณปลดล็อควาระนายกฯ 8 ปี ที่ฝ่ายตรงข้ามเริ่มดักทาง ก็เป็นเรื่องที่น่าคิดว่า ในอนาคตอาจมีการแก้กติกาเพื่อเปิดทางให้ประยุทธ์กลับมาสู่การเมืองได้มากกว่า 10 

พรรครวมไทยสร้างชาติจึงเป็นกลไกอำนาจสำคัญของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เป็นทั้งแรงต่อรองทางการเมือง และเป็นเซฟโซนเมื่อถึงเวลาต้องลงจากหลังเสือ