สภาฯ “3 วันหนี 4 วันล่ม” เกมชิงอำนาจ ผลาญงบ

สภาฯ “3 วันหนี 4 วันล่ม”  เกมชิงอำนาจ ผลาญงบ

เกม "ล่มประชุม" ที่นับรวมกัน ตั้งแต่ปีแรกของสภาฯ จนถึงปลายสมัย เกิดขึ้นแล้ว35ครั้ง โดยมีทั้ง ฝั่งรัฐบาล และ ฝ่ายค้าน ใช้เกมนี้สกัดอำนาจแต่ละฝั่ง ล่าสุดพบ ส.ว.มาผสมโรง จนทำให้เกิดคำถามล่มแต่ละครั้งผลาญงบไปเท่าไร

 

          เหตุการณ์ “สภาฯ" และ “รัฐสภา” ล่ม ในสภาชุดปัจจุบัน มีสถิติที่บันทึกไว้ได้ รวมแล้ว 35 ครั้ง ถือว่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมือง นับตั้งแต่มี “ฝ่ายนิติบัญญัติ” สมกับฉายาแห่งปี 65  “3 วันหนี 4 วันล่ม” ที่สื่อสะท้อนสภาพปัญหาปัญหา

 

          แบ่งเป็น การประชุมสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 27 ครั้ง และ การประชุมร่วมรัฐสภา จำนวน 8 ครั้ง

 

          โดยการประชุมล่มที่เห็นชัดเจน เพราะเกิดขึ้นถี่ในช่วงปลายสมัยของสภาฯ ที่พบว่า “ส.ส.” ต้องทุ่มเวลาลงพื้นที่ ขอคะแนนเสียงจากประชาชน

 

          ทว่า ปรากฎการณ์ของ “สภาฯล่ม” ยังมีนัยทางการเมืองแฝง เพราะเกมล่มองค์ประชุม เป็นกลยุทธ์ที่ทั้ง “ฝ่ายค้าน” และ “ฝ่ายรัฐบาล” ใช้เมื่อต้องการแก้เกมที่ฝ่ายตนเอง “เพลี่ยงพล้ำ" และสกัดการทำแต้ม-สร้างผลงานของอีกฝั่ง

สภาฯ “3 วันหนี 4 วันล่ม”  เกมชิงอำนาจ ผลาญงบ

          อาทิ การประชุมวันที่ 27 พ.ย.และ 28 พ.ย.2562 ที่มติสภาฯ เห็นชอบกับญัตติที่ให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศ และคำสั่งของ “คสช.” ด้วยเสียงก้ำกึ่ง 236 ต่อ 231 เสียง ทำให้ “ฝั่งรัฐบาล” ขอให้นับคะแนนใหม่ ซึ่งสร้างความไม่พอใจ จน “ฝ่ายค้าน” ต้องวอล์กเอาท์จากห้องประชุม

 

          หรือการพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ.... ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.... และเรื่องล่าสุดคือเกมล่มประชุมก่อนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ที่ “เพื่อไทย” เสนอให้แก้ไขมาตรา 159 ว่าด้วยการเพิ่มตัวเลือก “นายกฯ” ในที่ประชุมสภาฯ จากเดิมกำหนดให้ใช้ บัญชี “แคนดิเดตนายกฯ” ของพรรคการเมือง และยกเลิกมาตรา 272 ว่าด้วยอำนาจ ส.ว.ร่วมเลือกนายกฯ

 

          ครั้งหลังสุด “ส.ว.”ร่วมรู้เห็นเป็นใจในเกมล่มประชุม เพื่อสกัดเกมชิงอำนาจการเมืองของ “ฝ่ายค้าน"

          จากสถิติของ “สภาฯล่ม” พบว่า “ฝ่ายค้าน” และ “ฝ่ายรัฐบาล” สลับกันใช้เกมล่มประชุม และบางครั้งต่างรู้เห็นเป็นใจให้การประชุมยุติ เพราะต้องการลงพื้นที่พบปะหัวคะแนนและฐานเสียงของตนเอง

 

          เกม “ล่มประชุม” ของฝ่ายรัฐบาลที่เห็นชัดคือ สกัดการตรวจสอบ “การบริหารราชการแผ่นดิน” ของรัฐบาล เพื่อไม่ให้ “ฝ่ายค้าน” มีโอกาสใช้หน้าที่ ที่หวังผลอื้อประโยชน์ทางการเมือง อย่างวันที่ 11 ส.ค.2565 ซึ่งเป็นวันเกิดของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ส.ส.รัฐบาล ตบเท้าไปอวยพร ทำให้รัฐบาลต้องใช้เกมล่มประชุม สกัดการตรวจสอบของฝ่ายค้านที่เสนอญัตติให้ที่ประชุมพิจารณากรณีการดำรงตำแหน่งของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ครบ 8 ปีแล้วหรือไม่

สภาฯ “3 วันหนี 4 วันล่ม”  เกมชิงอำนาจ ผลาญงบ

          ต้องยอมรับว่า เกมล่มประชุมที่ฝ่ายค้านใช้เป็นกลยุทธ์ แสดงพลังสกัด ยับยั้งร่างกฎหมายของรัฐบาล เพื่อหวังทำลายภาพพจน์ของและสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาล ในฐานะผู้กุมเสียงข้างมากในสภา ให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเห็นว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ไร้น้ำยา หรือกรณีที่ฝ่ายรัฐบาลสกัดการโชว์ผลงาน จนเกิดผลเสียหายต่อสถาบันนิติบัญญัติ

 

          “ชวน หลีกภัย” ประธานรัฐสภา ย้ำในเรื่องนี้หลายครั้งและ กระตุกต่อมให้ “ส.ส.-ส.ว.” มีสำนึกในการทำหน้าที่ และชี้ให้เห็นว่า "การหนีปัญหา” ผ่านการไม่แสดงตนเป็นองค์ประชุมนั้น ก่อให้เกิดความเสียหายด้าน "งบประมาณ”

สภาฯ “3 วันหนี 4 วันล่ม”  เกมชิงอำนาจ ผลาญงบ

          ในเรื่องนี้ มีส.ว.เห็นด้วย โดย ส.ว.อนุสิษฐ คุณากร กล่าวกลางที่ประชุมรัฐสภาว่า “ประชุมล่มแต่ละครั้ง ทำให้สูญเสียงบประมาณกว่า 10 ล้านบาท” แจกแจงเป็นค่าเฉลี่ยของเงินเดือน ค่าเดินทาง ค่าอาหาร-เครื่องดื่ม เงินตอบแทนผู้ปฏิบัติงาน-ผู้ช่วยของส.ส. รวมถึงค่าจ้างของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในการประชุม

สภาฯ “3 วันหนี 4 วันล่ม”  เกมชิงอำนาจ ผลาญงบ

          หากรวมการประชุมล่มทั้ง 35 ครั้ง จะคิดเป็นเงิน 350 ล้านบาท ที่งบประมาณแผ่นดินต้องสูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์

 

          แม้ “ฝั่งส.ส.” จะตอบโต้ “ส.ว.อนุสิษฐ” ว่า การประชุมแต่ละครั้งใช้เงินไม่ถึง 10 ล้าน เพราะนับแค่ค่าอาหาร 1,000 บาทต่อคน ต่อการประชุมแต่ครั้ง รวมเป็นเงิน 5 แสนบาท ในการประชุมสภาฯ หรือ 7.5 แสนบาทในการประชุมรัฐสภา หรือหากจะนับรวมค่าเดินทาง ไม่ใช่ ส.ส.-ส.ว.ทุกคนจะเบิก

 

          ปฏิเสธไม่ได้ว่า การล่มประชุมสภาฯ ทั้งโดยตั้งใจ หรือเป็นอุบัติเหตุ ย่อมเกิดผลเสียต่อสถาบันนิติบัญญัติ โดยเฉพาะการไม่ได้รับความเชื่อถือจากประชาชน ที่คาดหวังให้ “เวทีสภาฯ-รัฐสภา” เป็นทางออกและแก้ไขปัญหาให้.