ฝึกบินทิพย์ บัตรสนเท่ห์ยุค 5 จี เขย่า "กองบิน 7"

ฝึกบินทิพย์ บัตรสนเท่ห์ยุค 5 จี เขย่า "กองบิน 7"

ทอ.เร่งตรวจสอบ หาข้อเท็จจริง ข้อครหา ฝูงบิน 702 กองบิน 7 หน่วยรบหลักสำคัญของประเทศ ทุจริตเบิกเบี้ยเลี้ยงล่วงเวลา โดยไม่บินจริง

กองบิน 7 จังหวัดสุราษฎร์ธานี นอกจากจะเป็นฐานบินรบหลักที่สำคัญของกองทัพอากาศ(ทอ.) ซึ่งมีภารกิจปกป้องน่านฟ้าของไทยครอบคลุมทั้งภาคใต้ทั้งทะเลฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน และมีหน่วยบินจำนวน 2 ฝูงบิน คือ ฝูงบิน 701 และ ฝูงบิน 702 ซึ่งมีเครื่องบินรบอย่าง  Gripen  , Saab ประจำการแล้ว

ยังเป็น กองบินต้นแบบ ที่ปฎิบัติการโดยใช้ ระบบป้องกันภัยทางอากาศแบบบูรณาการ เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญของกองทัพอากาศ ในการปฏิบัติการโดยใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง ตามวิสัยทัศน์กองทัพอากาศชั้นนำในภูมิภาคและยุทธศาสตร์ 20 ปี

จึงส่งผลให้กองบิน 7 มีความพร้อมในการเตรียมกำลัง และ การปฏิบัติภารกิจสำคัญๆที่กองทัพอากาศได้มอบหมายให้จนสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ร่วมถึงการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติต่างๆ ตลอดจนการสนองตอบนโยบายรัฐบาล

ต้องยอมรับว่า กองบิน 7 มีส่วนสำคัญที่ทำให้การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 ระหว่างวันที่ 18 – 19 พฤศจิกายน 2565 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพผ่านพ้นไปด้วยดี กับการปฏิบัติหน้าที่เหนือน่านฟ้า ด้วยการบินลาดตระเวณทั้งกลางวัน กลางคืน อย่างทรหดดูแลความปลอดภัยของผู้นำต่างประเทศที่เดินทางมาประชุมในช่วงนั้น

แต่ชื่อเสียง "กองบิน 7"ถูกสั่นคลอนหลังถูกเพจดัง ออกมาเปิดเผยข้อมูลถึงความไม่ชอบมาพากล ในการเบิกเบี้ยเลี้ยงล่วงเวลาฝึกบินกลางคืน ในช่วงวันที่ 21-30 พฤศจิกายน 2565 จำนวน 50 นาย นายละ 2,200 บาท 

โดยเพจดังระบุด้วยว่า เงินเข้าครั้งแรกวันที่ 23 ธ.ค. 65 ผ่านระบบธนาคารกรุงไทย 4 นาย และอีกรอบเข้าธนาคารทหารไทยธนชาต 46 นาย ยอดเบิกรวมทั้งหมด 110,000 บาท ซึ่งพบพิรุธตรงที่ไม่ได้ปฏิบัติงานจริง แต่มีรายชื่อเบิก

พร้อมงัดหลักฐานโดยอ้างว่าเป็นข้อความพูดคุยผ่านแชตไลน์ ขรก.ฝูง 702 กองบิน 7 ด้วยการขอความร่วมมือให้โอนเงินที่ได้รับคืนมาที่บัญชี "พันจ่าอากาศเอก" นายหนึ่งเพื่อรวบรวมโอนให้นายทหารการเงินฝูงบิน พร้อมระบุให้แจ้งสลิปการโอนเป็นหลักฐาน

กระแสข่าวดังกล่าวกลายเป็นไวรัลในโลกออนไลน์ชั่วข้ามคืน ส่งผลให้ "กองบิน7" ทำการปิดเฟซบุ๊กชั่วคราว หลังมีคนเข้าไปแสดงความคิดเห็น บ้างก็โจมตี บ้างถามหาข้อเท็จจริง พร้อมตั้งคำถามถึงความไม่โปร่งใสในการเบิกงบทำงานนอกเวลาราชการ

เหตุการณ์เช่นนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ หน่วยสังกัด กองทัพอากาศถูกโจมตี หากเป็นในอดีตจะออกมาเป็นรูปแบบบัตรสนเท่ห์ คือ จดหมายที่เขียนกล่าวโทษผู้อื่น โดยไม่ลงชื่อของผู้เขียนภายในหน่วย แต่ปัจจุบัน ออกมารูปแบบโซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ก กลุ่มไลน์  ผ่านเครือข่ายยุค 5 จี ออกไปนอกหน่วยสู่สังคมจนถูกวิพากวิจารณ์ ทั้งๆที่ยังไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง

ด้าน พล.อ.อ. พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) สั่งการจเรทหารลงพื้นที่ตรวจสอบโดยด่วนเพื่อหาข้อเท็จจริง กรณีข้อความอ้าง เบิกค่าปฏิบัติงานนอกเวลาราชการฝึกบินกลางคืนของฝูงบิน 702 กองบิน 7 โดยไม่ได้บินจริง

"ผบ.ทอ. ได้รับรายงานเรื่องดังกล่าวแล้ว และได้สั่งการให้กรมจเรทหารอากาศลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและรายงานผลให้ทราบโดยด่วน เพื่อจะได้ตอบข้อสงสัยของสังคมต่อไป ซึ่งที่ผ่านมา ผบ.ทอ.ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงาน กำกับดูแลการเบิกจ่ายเงินงบประมาณต่าง ๆ ให้เป็นไปตามระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ กองทัพอากาศยึดมั่นในแนวทางการปฏิบัติราชการด้วยความโปร่งใส และจะดำเนินการโดยเด็ดขาด หากตรวจสอบพบว่ามีการกระทำที่ผิดระเบียบที่เกี่ยวข้อง" พล.อ.ต.ประภาส สอนใจดี โฆษกกองทัพอากาศ ระบุ

อย่างไรก็ตาม กองบิน 7 ได้รับภารกิจดูแลรักษาความปลอดภัยน่านฟ้าในช่วงการประชุมเอเปค เดือน พ.ย.2565 มอบหมายฝูงบิน 702  ออกปฏิบัติหน้าที่คลอบคลุมถึงการลาดตระเวณชายแดนตั้งแต่เวลา 17.00 น.ถึงเวลา 02.00 น.เป็นเวลาจำนวน 7 วัน ซึ่งการเบิกค่าทำงานล่วงเวลาดังกล่าว เป็นการทำภารกิจต่อเนื่องจากเอเปค

โดยการดำเนินการทุกอย่างเป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลัง คือ ทำภารกิจให้เสร็จสิ้นก่อนถึงจะสามารถเบิกค่าทำงานล่วงเวลาย้อนหลังได้ และครอบคลุมไปถึงการซ่อมเครื่อง แม้จะไม่ได้นำเครื่องขึ้นบินก็ตาม หรือบางกรณีติดปัญหาสภาพอากาศขึ้นบินไม่ได้ ก็สามารถเบิกค่าล่วงเวลาได้เช่นกัน ขณะเดียวกันการโอนค่าทำงานล่วงเวลาต้องโอนให้ตัวบุคคลโดยตรง ตามระเบียบสำนักงานงบประมาณ 

สำหรับการโอนเงินกลับ เป็นไปได้หลายแนวทางขึ้นอยู่กับข้อตกลงร่วมกัน เช่น ใช้เงินสำรองกองบินเบิกจ่ายไป เมื่อเบิกมาเรียบร้อยต้องเอาเงินคืน หรือ เป็นข้อตกลงกันจะนำเงินที่ได้ร่วมจัดกิจกรรม เช่น เลี้ยงปีใหม่ หรืองานอื่น สามารถทำได้หมด 

ส่วนประเด็นบินจริงหรือไม่จริง สามารถตรวจสอบได้เช่นกัน เนื่องจากการออกไปทำภารกิจแต่ละครั้ง ต้องทำแผนงานการบิน และมีหัวหน้าหน่วยเป็นผู้อนุมัติ (ผู้การกองบิน7) พร้อมส่งเรื่องมาให้หน่วยเหนือ คือ กองทัพอากาศ นอกจากนี้ยังมี ตารางล็อคการบิน ชั่วโมงการบิน มีบันทึกเทป สามารถเรียกมาดูได้หมด

สิ่งที่กรมจเรทหารอากาศ ต้องเข้าไปตรวจสอบ คือ 1.ต้นตอที่มาที่ไปข่าวดังกล่าว ด้วยการสอบสวนสมาชิกในกลุ่มมีกว่า 100 คน 2.แชตไลน์ที่อ้างว่าเป็น ขรก.ฝูง 702 กองบิน 7 จริงหรือไม่ หรือถูกปลอมขึ้นมา  และหากเป็นของจริง ใครเป็นผู้แคปหน้าจอส่งต่อ  3. แผนการบิน ตางรางการทำงาน 4.เบิกค่าทำงานล่วงหน้าเป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณหรือไม่ 

จากนั้นกรมจเรทหารอากาศ ทำเรื่องนำเสนอผลการสอบสวนมายัง ผบ.ทอ.ต่อไป โดยเรื่องทั้งหมดจะได้รับความกระจ่างให้กับสังคมในเร็ววันนี้ หากพบผู้ที่ทุจริตการเบิกเบี้ยเลี้ยงล่วงเวลา ถูกดำเนินการตามระเบียบวินัยและกฎหมายอาญา แต่หากการดำเนินการถูกต้อง ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่ ทอ.จะเค้นหาตัวคนปั่นกระแส กับเครื่องมือ อุปกรณ์ เทคโนโลยีที่มีอยู่ในยุค 5 จี เรียกได้ว่าล้ำสมัยเช่นเดียวกัน