"ชัยชนะ"อัดส.ว. ชงแก้รธน. ปลดล็อคนายกฯ 8 ปี เอาใจผู้มีอำนาจ ทำลายประชาธิปไตย

"ชัยชนะ"อัดส.ว. ชงแก้รธน. ปลดล็อคนายกฯ 8 ปี เอาใจผู้มีอำนาจ ทำลายประชาธิปไตย

รองเลขาพรรคประชาธิปัตย์ อัดส.ว. เสนอแก้รธน. ปลดล็อควาระนายกฯ 8 ปี หวังเอาใจผู้มีอำนาจ -ทำลายประชาธิปไตย จี้เลิกความคิด

นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราชและรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) บางราย เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ เพื่อเป็นการปลดล็อควาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ว่า ข้อเสนอดังกล่าว ไม่ได้ผิดแผกไปจากความคาดหมายของบรรดาผู้ติดตามการเมือง เพราะเกี่ยวพันกับกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยกรณีการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าให้นับระยะเวลาเริ่มจากวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ คือวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2560 ซึ่งจะสิ้นสุดการดำรงตำแหน่งในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2568 และมีการคาดการณ์กันว่า หากจะต้องการอยู่ในอำนาจนานกว่านั้น จะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอันเป็นอุปสรรคต่อการดำรงตำแหน่ง คือ มาตรา 158 วรรค 4  

แต่ตนก็คาดไม่ถึงว่า สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) บางรายจะกล้าเสนอในช่วงระยะเวลาที่ใกล้จะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง มากกว่าที่จะเสนอภายหลังจากที่มีสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่หลังจากการเลือกตั้งไปแล้ว

 ดังนั้น ตนคงมองเป็นอื่นไม่ได้ว่า กรณีนี้ คงเป็นการเอาใจผู้ที่มีอำนาจแต่งตั้ง โดยการโยนหินถามทางหวังให้แฟนคลับที่สนับสนุนแกนหลักผู้มีอำนาจในปัจจุบัน เออออห่อหมกไปด้วย แต่สุดท้าย นอกจากจะไม่มีการตอบรับแล้ว แทบทุกฝ่ายยังขอร้องให้ บรรดา ส.ว. หยุดข้อเสนอดังกล่าวเสีย เพราะนอกจากจะมองได้ว่า เป็นการเอื้อประโยชน์ให้คนไม่กี่คนแล้ว ยังขัดกับเจตนารมณ์ของคนไทยทั้งประเทศที่ได้ลงประชามติรับรองหลักการเรื่องการจำกัดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มาตั้งแต่รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 และมีผลบังคับใช้ในปัจจุบันอีกด้วย

ดังนั้น ตนขอร้องให้ ส.ว. ยุติข้อเสนอดังกล่าว และควรกลับไปทำหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายบัญญัติเอาไว้ เพื่อดำรงความเป็นสภาสูงที่ใช้วุฒิภาวะในการพิจารณากลั่นกรองกฎหมายเพื่อประโยชน์ของประชาชน ในวาระที่เหลือถึงราวเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2567 อีกด้วย

“หลักการเรื่องการจำกัดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีนั้น นอกจากจะป้องกันในเรื่องของการผูกขาดอำนาจแล้ว ก็มีความเชื่อว่า ระยะเวลา 8 ปี ก็ถือว่าเพียงพอในการทำงานเพื่อริเริ่มนโยบายและสร้างผลงานให้กับประเทศชาติบ้านเมือง  ซึ่งเป็นหลักการที่ได้รับรองจากประชาชนในการทำประชามติทั้ง 2 ครั้ง รวมทั้ง ที่ผ่านมา ในการยื่นตีความเรื่องดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญ ผมเห็นว่า มีแต่ฝ่ายผู้ร้องที่ไปยื่นตีความมีอาการร้อนรน อยากจะให้ พล.อ.ประยุทธ์ ผู้ถูกร้อง หมดวาระในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ส่วนฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ และผู้สนับสนุนต่างแสดงออกว่า พร้อมเคารพคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และปฏิบัติตามกติกาในระบอบประชาธิปไตย และเมื่อผลของคำวินิจฉัยออกมาปรากฏว่า พล.อ.ประยุทธ์ สิ้นสุดการดำรงตำแหน่งในช่วงต้นเดือนเมษายน พ.ศ 2568 หลายฝ่ายก็มีการเตรียมตัวทางการเมืองเอาไว้พอสมควรแล้ว

ดังนั้น การที่ ส.ว. จะจุดพลุเพื่อหวังให้ประชาชนที่สนับสนุนฯ คล้อยตามนั้น เนื่องจากเป็นช่องทางเดียวที่จะสามารถยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องดังกล่าวได้ เพราะบรรดาสมาชิกรัฐสภาแทบทั้งหมดคงจะไม่เอาด้วยแน่ อีกทั้ง ถึงแม้จะแก้ไขเรื่องระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกฯ ง่ายๆ เพียงแค่ยกเลิกมาตรา 158 วรรค 4  ทั้งวรรค แต่ผมเห็นว่า ปัญหาความขัดแย้งจะไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้น  ตนจึงอยากให้ ส.ว. บางรายล้มเลิกความคิดดังกล่าว เพราะนอกจากเป็นข้อเสนอที่ไม่เหมาะสมแล้ว ยังเป็นการละเมิดหลักการประชาธิปไตย รวมทั้ง เป็นการไม่เคารพเสียงของประชาชนและอำนาจการวินิจฉัยของฝ่ายตุลาการด้วย” นายชัยชนะ กล่าว