ศาล รธน.ชี้รัฐให้เอกชนผลิตไฟฟ้าเกิน 51% ได้ เตือนกำหนดกรอบค่าไฟตามจริง

ศาล รธน.ชี้รัฐให้เอกชนผลิตไฟฟ้าเกิน 51% ได้ เตือนกำหนดกรอบค่าไฟตามจริง

ศาล รธน.มติข้างมากชี้ กระทรวงพลังงาน-ครม. ให้เอกชนมีส่วนร่วมผลิตไฟฟ้าเกิน 51% ได้ ไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ แต่มีข้อแนะนำให้กำหนดกรอบ-เพดานสัดส่วนการผลิตให้สอดคล้องกับความเป็นจริง หากกำหนดสูงเกิน ทำให้เกิดความเสียหาย อาจถูกดำเนินคดีโดยองค์กร-ศาลอื่นได้

เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2566 ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยเรื่องพิจารณาที่ 16/2565 คดีที่นายสุทธิพร ปทุมเทวาภิบาล ผู้ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 51 ว่า กระทรวงพลังงานกำหนดยุทธศาสตร์กระทวงพลังงาน (พ.ศ.2559-2563) และแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ทำให้สัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าของรัฐลดลงต่ำกว่าร้อยละ 51 เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 ประกอบมาตรา 3 วรรคสอง

โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 เสียง วินิจฉัยว่า การกระทำของกระทรวงพลังงานผู้ถูกร้องที่ 1 และคณะรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 2 ที่ให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า เป็นการปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 วรรคสอง ประกอบมาตรา 3 วรรคสอง

นอกจากนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 วินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 และผู้ถูกร้องที่ 2 ที่ให้เอกชนเข้ามาร่วมผลิตไฟฟ้า เป็นการปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 วรรคสามและวรรคสี่ ประกอบมาตรา 3 วรรคสอง

ศาลรัฐธรรมนูญยังมีมติเป็นเอกฉันท์ ให้มีข้อแนะนำว่า รัฐโดย กพช. และ กกพ. ต้องดำเนินการกำหนดกรอบหรือเพดานของสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของเอกชนในระบบผลิตไฟฟ้าของประเทศ และกำหนดปริมาณไฟฟ้าสำรองอันเกี่ยวกับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของเอกชนอันส่งผลต่ออัตราค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากประชาชน ให้สอดคล้องและใกล้เคียงกับความเป็นจริงตามความต้องการใช้ไฟฟ้าของทั้งประเทศในแต่ละช่วงเวลา หากกำหนดกำลังไฟฟ้าสำรองสูงเกินสมควร และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์สาธารณะ อาจถูกดำเนินการโดยองค์กรอื่นหรือศาลอื่นได้

ศาล รธน.ชี้รัฐให้เอกชนผลิตไฟฟ้าเกิน 51% ได้ เตือนกำหนดกรอบค่าไฟตามจริง