"ความมั่นคง" เปิด 4 เงื่อนไข เจาะน้ำมัน - แก๊ส พื้นที่ทับซ้อน "ไทย - กัมพูชา"

"ความมั่นคง" เปิด 4 เงื่อนไข เจาะน้ำมัน - แก๊ส พื้นที่ทับซ้อน "ไทย - กัมพูชา"

"ฝ่ายความมั่นคง" เปิด 4 เงื่อนไข เจรจาพื้นที่ทับซ้อน ไทย - กัมพูชา สำรวจแหล่งพลังงานใต้ทะเล ย้ำไม่มีเรื่องแบ่งเขตแดน ยึดหลักทั้ง 2 ประเทศได้ประโยชน์ เตรียมนำเข้าสภาฯ เห็นชอบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วานนี้ (3 ม.ค.) ในช่วงท้ายของการประชุมมีการพิจารณาวาระลับ เรื่องการพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้นำวาระเรื่องนี้เข้ามาหารือใน ครม. โดยการประชุมในวาระนี้ใช้เวลาประมาณ 20 นาที และได้มีการเชิญผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องออกนอกที่ประชุม ครม. โดยเมื่อเดือนธ.ค.65 พล.อ.ประวิตร ในฐานะประธาน JTC ไทย-กัมพูชา (ฝ่ายไทย) ได้หารือกับ นายซุย แซม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเหมืองแร่และพลังงานกัมพูชา ในฐานะประธาน JTC ไทย-กัมพูชา (ฝ่ายกัมพูชา) ได้ร่วมกันผลักดันความร่วมมือพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อสำรวจแหล่งพลังงานน้ำมันและแก๊สในพื้นที่บริเวณพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อน ไทย-กัมพูชา (Overlapping Claims Area : OCA) ซึ่งทางกัมพูชายินดีที่จะร่วมมือกับฝ่ายไทยโดยใช้โครงสร้างของคณะกรรมการร่วม (Joint Committee : JC)  ระหว่างไทย-กัมพูชา เพื่อสำรวจแหล่งพลังงานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ รองรับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศต่อไป

ทั้งนี้มีรายงานข่าวจากฝ่ายความมั่นคง ระบุว่า ในการพูดคุยครั้งที่ผ่านมา จะไม่มีการพูดถึงเงื่อนไขเรื่องเขตแดน เพราะถ้าคุยเรื่องเขตแดนจะไปต่อไม่ได้ เพราะเรื่องเขตแดนยังทับซ้อนกัน และยังตกลงกันไม่ได้ แต่เมื่อเกิดปัญหาวิกฤติพลังงานจากผลพวงสงครามรัสเซีย-ยูเครน และอีกหลายปัจจัย ทำให้เราต้องดึงเอาพลังงานที่มีอยู่ในพื้นที่มาใช่ร่วมกัน โดยที่ประชาชนทั้งสองประเทศได้ประโยชน์ร่วมกัน โดยมี 4 เงื่อนไขสำคัญ ได้แก่


1) รัฐบาลเห็นชอบร่วมกัน และต้องประกาศใช้ประชาชนเข้าใจ ไม่ขัดแย้งกันเอง 
2) ต้องให้สภาฯ ให้ความเห็นชอบร่วมกันทั้ง 2 ประเทศ 
3) ไม่ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ 
4) ต้องใช้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น แบ่งกันคนละครึ่ง

“อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เราคุยกันไว้ในเรื่องพลังงาน เปรียบเหมือนมีเงินในกระเป๋า แต่ไม่สามารถเอาออกมาใช้ได้ อันนี้ถือว่าไม่ใช่ความสามารถของรัฐบาล ดังนั้นความสามารถของรัฐบาลก็คือ มีเงินอยู่ในกระเป๋าแล้วเอาออกมาใช้ได้ เพราะฉะนั้นข้อตกลงที่เราคุย จากนี้ไปก็จะมีการประชุมหารือตั้งคณะทำงานร่วมกัน หลังเอามาเข้าประชุมวงเล็กในที่ประชุม ครม. วานนี้ (3 ม.ค.) สำหรับหน่วยงานที่ต้องขับเคลื่อนหลัก เช่น กระทรวงการต่างประเทศ เพราะเป็นเรื่องเส้นเขตแดนเพราะเป็นพื้นที่ทับซ้อน , กระทรวงพลังงาน เพราะเป็นเรื่องวิกฤติพลังงานที่เกิดขึ้น เป็นต้น” แหล่งข่าวฝ่ายความมั่นคง ระบุ

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์